พันธกิจ “ยูนิเซฟ” เดินหน้าช่วยเหลือเด็กทั่วโลกฝ่าโควิด

ปี 2564 ถือเป็นปีที่ยูนิเซฟ ต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งเมื่อวิกฤตโควิด-19 ยังไม่หมดจากโลกใบนี้ ฉะนั้น ภายใต้การบริหารงานของผู้อำนวยการประจำประเทศไทยคนใหม่ “คิม คยองซัน” ที่มีประสบการณ์การทำงานกับยูนิเซฟมาตั้งแต่ปี 2001 ในหลายประเทศ โดยงานที่ผ่านมามักเกี่ยวโยงกับการวางแผน ออกแบบ และดำเนินกลยุทธ์ในการสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลต่าง ๆ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม

จึงทำให้เธอจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารภารกิจบนความท้าทายหลายอย่าง

คิม คยองซัน
คิม คยองซัน

“คิม คยองซัน” กล่าวในเบื้องต้นว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานกับยูนิเซฟ เห็นความท้าทายหลายรูปแบบที่เด็ก ๆ ต้องพบเจอ ซึ่งมีอยู่ตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิดแต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งกว่าเดิมขอหยิบยกประเด็นที่ “เฮนเรียตตา โฟร์” ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ กล่าวไว้ในจดหมายเปิดผนึกเมื่อไม่นานมานี้ ในโอกาสที่ยูนิเซฟจะฉลองครบรอบ 75 ปี คือเราได้เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันฟื้นฟูโลกหลังวิกฤตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับ 5 ประเด็นนี้ คือ

หนึ่ง สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และหลีกเลี่ยงการแย่งชิงวัคซีน

สอง ลดช่องว่างทางดิจิทัลเพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

สาม ยกระดับระบบบริการและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่น

สี่ เอาชนะการแบ่งแยกและการเลือกปฏิบัติ เพราะไวรัสโควิดไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ห้า เป็นหนึ่งเดียวกันในการปกป้องโลกและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไร้พรมแดน

ดังนั้น ทิศทางการทำงานของยูนิเซฟ นับตั้งแต่ปี 2564 “คิม คยองซัน” บอกว่า จะยึดสโลแกน “For Every Child” หรือ “เพื่อเด็กทุกคน” ด้วยการสร้างความเท่าเทียมให้เด็ก ๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเกิดที่ใด เพศใด หรือมีสัญชาติ ฐานะอย่างไร ดิฉันมองว่าวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 จะสามารถบรรลุได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีสุขภาพแข็งแรง ได้รับการศึกษา การปกป้องคุ้มครอง และมีโอกาสที่เท่าเทียม

“ที่สำคัญ เราต้องไม่ลืมว่าจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ฉะนั้น การลงทุนในเด็กยังเป็นสิ่งที่ควรทำเนื่องจากประเทศไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ราว 6 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในปี 2050 จะเหลือผู้ใหญ่เพียง 2 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ทรัพยากรมนุษย์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสิทธิของเด็กได้รับการเติมเต็มตั้งแต่เริ่มแรก”

“ดิฉันจึงคิดว่าไทยควรเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนาเด็กปฐมวัย, การปฏิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และการเตรียมความพร้อมให้กับวัยรุ่นและเยาวชน ด้วยทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และปราศจากความรุนแรงมลพิษ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เด็กทุกคนจะสามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น ถ้าทำได้ ทุกคนก็จะได้รับประโยชน์ และไทยก็จะมีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ 4.0 แซงหน้าประเทศอื่น ๆ ได้”

“ทั้งนี้ หน้าที่ของยูนิเซฟคือการสนับสนุนให้รัฐ ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้สามารถเติมเต็มสิทธิเด็กได้โดยร่วมมือกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน นักวิชาการ พ่อแม่รวมถึงตัวเด็กและเยาวชนเอง เช่นเดียวกับคำพูดที่ว่าการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ต้องดูแลไปด้วยกัน”

“คิม คยองซัน” บอกต่อว่า นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด และมาตรการปิดโรงเรียนทำให้ช่องว่างทางดิจิทัลทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังสร้างความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิม

เรื่องนี้เป็นประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยและอีกหลายประเทศจะต้องแก้ไขยูนิเซฟเองก็เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ โดยการจัดทำข้อมูล และรวบรวมหลักฐาน พร้อมกับจัดทำออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ

“อีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวล คือ ปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มวัยรุ่นไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นเพิ่มขึ้น และโรคทางสุขภาพจิตก็เป็นสาเหตุอันดับ 2 ที่รบกวนความปกติสุขในชีวิตของคนหนุ่มสาว วิกฤตโควิดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นเพราะมีเด็ก และเยาวชนถึง 7 ใน 10 คนบอกว่าโควิดส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขา ทำให้เครียดและวิตกกังวล”

“ปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งในไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะสังเกตสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตเด็ก ๆ และให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ ยูนิเซฟจึงเดินหน้าสนับสนุนภาครัฐ และนำเสนอแนวทางในการพัฒนาระบบบริการที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

พร้อม ๆ กับช่วยให้สังคมรับรู้ และเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เพื่อให้ครอบครัว และชุมชนสามารถปกป้องเด็กและเยาวชนจากอันตรายและการฆ่าตัวตายได้ รวมถึงเรื่องเร่งด่วนอย่างการลงโทษเด็กทางร่างกาย และความรุนแรงในครอบครัว”

“ในประเทศไทยแม้ว่าอัตราการอบรม และสั่งสอนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี โดยใช้ความรุนแรงจะลดลงจากร้อยละ 75 ในปี 2015 เหลือร้อยละ 58 ในปี 2019 แต่อัตราดังกล่าวควรจะเป็นศูนย์ เพราะความรุนแรงส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย และจิตใจของเด็ก

การอบรมเด็กเชิงบวกมีหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง ยูนิเซฟเองนำเสนอตัวอย่างผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานของสังคม โดยเร็ว ๆ นี้จะได้ยินเรื่องแนวทางการเลี้ยงลูกเชิงบวกมากขึ้นจากยูนิเซฟ และองค์กรภาคี”

“คิม คยองซัน” บอกอีกว่า ที่ผ่านมายูนิเซฟ ประเทศไทย สามารถขยายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านการระดมทุนในประเทศ ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่กำลังระดมทุนจากยูนิเซฟ อยากให้ทราบว่าการบริจาคนั้นจะเข้าถึงเด็ก ทั้งในประเทศ และในอีกหลายประเทศที่เปราะบางกว่าประเทศไทย โดยมีผู้สนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยเหลือ

“โดยเฉพาะเอกชน และไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทุน แต่ยังมีส่วนร่วมกันพัฒนานโยบายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานที่มีลูก หรือร่วมกันสร้างแนวปฏิบัติทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่เป็นผลดีต่อเด็กมากขึ้น

เพราะสุดท้าย ยูนิเซฟในทุกที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเอง ล้วนอาศัยเงินบริจาคในการดำเนินงานเพื่อเติมเต็มสิทธิของเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในกลุ่มเปราะบางที่สุด นั่นหมายความว่าเราต้องบรรลุเป้าหมายด้วยการใช้เงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเสมอ”

“ดังนั้น เราต้องเลือกว่าประเด็นใดเร่งด่วนที่สุด และสำคัญที่สุดที่ยูนิเซฟสามารถเข้าไปสนับสนุนภาครัฐและภาคีได้ดีที่สุด หรือเป็นประเด็นที่ต้องการการสนับสนุนจากยูนิเซฟมากที่สุด ซึ่งในประเทศไทย ยูนิเซฟมีการระดมทุนผ่านวิธีการที่หลากหลาย ทั้งแบบ face-to-face โดยผ่านเจ้าหน้าที่ระดมทุนตามจุดต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นแกนสำคัญในปีที่ผ่านมา แม้จะมีความท้าทายต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด แต่ยังมีประชาชนราว 14,000 คน ที่ยินดีสนับสนุนเรา”

“นอกจากนี้ เรายังใช้วิธีระดมทุนรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนผ่านรายการโทรทัศน์ สปอตรณรงค์ทางโทรทัศน์ การระดมทุนกับภาคเอกชน รวมถึงการระดมทุนแบบดิจิทัล ยกตัวอย่าง เช่น รายการเดอะ บลู คาร์เพต โชว์ ฟอร์ ยูนิเซฟ (Blue Carpet Show for UNICEF) ซึ่งเป็นรายการวาไรตี้โชว์ประจำปีออกอากาศทางช่อง 7HD ที่มุ่งนำเสนอปัญหาต่าง ๆ ที่เด็กในไทย และทั่วโลกกำลังเผชิญ พร้อมทั้งระดมทุนจากผู้ชมรายการอีกด้วย”

“คิม คยองซัน” กล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้เรากำลังกำหนดกลยุทธ์ใหม่ ๆ ซึ่งดิฉันเห็นว่าดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญกับงานยูนิเซฟในอีก 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น เราจะทดลองวิธีการใหม่ ๆ ในการให้ข้อมูลที่ตรงกับความสนใจของผู้สนับสนุน และให้เราได้รายงานผลที่ได้รับจากการบริจาคได้โดยตรง

“นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ยูนิเซฟจะร่วมกับสหภาพยุโรป เตรียมเปิดตัวแคมเปญเพื่อยุติปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ พร้อมเผยข้อมูลสถานการณ์เด็กไร้สัญชาติในประเทศไทยที่อัพเดต และครอบคลุมที่สุด เราต้องการชี้ให้เห็นถึงความท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนความดิ้นรน และชีวิตจริงของเด็ก ๆ ไร้สัญชาติในประเทศไทย

งานศึกษาชิ้นนี้จะนำชี้ถึงอุปสรรค พร้อมกับข้อเสนอแนะที่รัฐบาล และคนทั้งสังคมสามารถร่วมมือกันเพื่อให้ปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หมดไป”

“และอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ คือ การรณรงค์เรื่องสุขภาพจิต โดยจะต่อยอดจากแคมเปญ ฟัง x เล่า = ความสุข หรือ The Sound of Happiness ที่เราเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว โดยร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต เป็นวาไรตี้ทอล์ก และพอดแคสต์วาไรตี้ 12 ตอน ซึ่งมีจิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่นจากกรมสุขภาพจิตมาให้คำปรึกษาประเด็นปัญหาวัยรุ่นผ่านแอปพลิเคชั่น JOOX สำหรับแคมเปญใหม่นี้จะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนมากขึ้น ในการส่งเสริมสุขภาพจิตของวัยรุ่นมากขึ้น”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว