ก.แรงงาน ปล่อยกู้ผู้ประกอบการ 1 ล้าน ไร้ดอกเบี้ย หมดเขตยื่น 15 ก.ค.

ธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)

ก.แรงงาน ปล่อยกู้ผู้ประกอบการ 1 ล้าน ไร้ดอกเบี้ย หมดเขตยื่น 15 ก.ค. นี้ ที่ผ่านมาอนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้ว 28 บริษัท เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) อัพเดตข้อมูลโครงการปล่อยกู้ปลอดดอกเบี้ยต่อเนื่องถึง ส.ค. 2564 เพื่อช่วยสถานประกอบกิจการใช้หมุนเวียนในการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง สู้วิกฤตโควิด-19 ระลอก 3 ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้ว 28 บริษัท เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เยียวยาความเดือดร้อนของกำลังแรงงานในประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สามารถกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ปลอดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ย 0%) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน

“กพร.ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึง 31 ส.ค. 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยในปี 2564 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดสรรเงินจำนวน 30 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงานแบบไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่ 16 ก.ค. 2563-31 สิงหาคม 2564”

ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564 ได้อนุมัติให้เงินกู้ยืมไปแล้ว 28 บริษัท เป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้าน อัชฌารี บัวมี Training & Audit Manager บริษัท กรีน ลาเท็กซ์ จำกัด สถานประกอบกิจการที่ผลิตที่นอนยางพารา หมอน เบาะ ตุ๊กตา และเครื่องนอน กล่าวถึงเงินกู้ดังกล่าวว่า การให้เงินกู้ยืมเป็นเงินก้อนช่วยเหลือ รักษาการจ้างงาน ทำให้สถานประกอบกิจการดำเนินการจัดอบรมต่อไปได้ และพนักงานได้รับการพัฒนาและมีความพร้อมกลับมาช่วยบริษัทสู้กับวิกฤตโควิด-19

ส่วน ธิดาทิพย์ จำปาแดง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนเชอรัลเอ็นเนอร์ยีเทค จำกัด ในนามศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเนเชอรัล ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบเอกชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 กล่าวว่า นำเงินกู้มาปรับปรุงสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เป็นที่ยอมรับ และรักษามาตรฐานให้เป็นไปตามที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนด และเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการทดสอบ


การให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นมาตรการจูงใจ เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเอง เพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร. และ สนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสามารถยื่นคำขอกู้พร้อมหลักฐานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 ก.ค. 2564