ภารกิจ “AACSB” ชูการศึกษาไฮบริดสู้โลกดิจิทัล

ภาพจาก : kaleidico/unsplash
ภาพจาก : kaleidico/unsplash

สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจโดนผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ แต่ยอดผู้สมัครเรียนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีแนวโน้มเปิดหลักสูตรระยะสั้นมากขึ้น

วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการทำงาน และการศึกษา เพราะต้องหันมาพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมากขึ้น ที่สำคัญยังส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องการคนที่มีทักษะ และความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงผู้นำองค์กรต้องมีความสามารถในการนำพาองค์กรฝ่าวิกฤต เพื่อสร้างการเติบโตในโลกยุคดิจิทัล

สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ (Association to Advance Collegiate Schools of Business-AACSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับนานาชาติที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษา และองค์กรธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลก มองเห็นปัจจัยสำคัญที่สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อที่จะสามารถเสริมศักยภาพให้แก่คนรุ่นใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มีความพร้อมในการทำงาน และพัฒนาสถาบันการศึกษาให้สามารถรับมือกับความท้าทายในโลกหลังจากมีวิกฤตโควิด-19 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ โดยได้แนะนำแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

ยกระดับการศึกษาสู่สากล

“เจฟฟ์ แพร์รี่” รองประธานบริหาร และประธานคณะเจ้าหน้าที่ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเรื่องนี้ให้ฟังว่า AACSB มีพันธกิจในการสร้างเครือข่ายระหว่างบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับการศึกษาวงการบริหารธุรกิจ ทั้งยังมีบทบาทหลักในการรับรองมาตรฐานแก่สถาบันด้านการบริหารธุรกิจทั่วโลก

เจฟฟ์ แพร์รี่
เจฟฟ์ แพร์รี่ รองประธานบริหาร และประธานคณะเจ้าหน้าที่ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ

สำหรับสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก AACSB มีทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS), สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SASIN), คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS), วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC)

“เราสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้เชื่อมต่อกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับโลกของ AACSB กว่า 1,600 แห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกับสถาบันอื่น ๆ ที่อาจกำลังเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนร่วมพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา หรือหาโอกาสในการพัฒนาสิ่งใหม่ร่วมกัน”

“นอกจากนี้ การรับรองมาตรฐานของ AACSB ไม่เพียงสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจของไทยสามารถประเมินการดำเนินงานของตนกับมาตรฐานระดับสากลได้เท่านั้น แต่ยังช่วยนำเสนอกรอบการทำงานเพื่อการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย”

สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ได้รับการรับรองจาก AACSB มีข้อดีแตกต่างจากสถาบันอื่น โดยจัดเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากผู้เรียนและภาคธุรกิจว่ามีมาตรฐานคุณภาพสูง มีการพัฒนาหลักสูตรการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

หลักสูตร MBA ยังเนื้อหอม

“เจฟฟ์ แพร์รี่” กล่าวถึงเทรนด์คนเรียนด้านบริหารจากฐานข้อมูลของ AACSB ว่าเราพบยอดจำนวนผู้สมัครและผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท (MBA) ทั่วโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“จากสถิติระบุว่า ระหว่างปี 2559-2564 จำนวนผู้สมัครเรียนในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 0.19% และมีผู้เรียนเพิ่มขึ้น 5.13% ขณะที่หลักสูตร MBA ในช่วงเวลาเดียวกันมีการเติบโตที่มากกว่า โดยมียอดการสมัครเพิ่มขึ้น 28.65% และมีผู้เรียนเพิ่มขึ้น 17.85% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่โลกธุรกิจกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่าน เรามักจะเห็นคนกลับไปศึกษาต่อเพื่อเสริมทักษะใหม่ ๆ สำหรับงานปัจจุบัน หรือเพื่อเปลี่ยนสายอาชีพไปโดยสิ้นเชิง”

“การที่ผู้คนทั่วโลกยังคงสนใจเรียนด้านบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทาง AACSB ต้องพัฒนาการรับรองมาตรฐานอยู่เสมอ โดยล่าสุดมีการประกาศมาตรฐานใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมาตรฐานใหม่นี้สนับสนุนสถาบันการศึกษาในการดำเนินตามพันธกิจ ผลักดันผลลัพธ์ของการศึกษาและการวิจัย และสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม ซึ่งช่วยเน้นย้ำถึงบทบาทของสถาบันในการขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคม”

สำหรับหลักการสำคัญของมาตรฐานใหม่ คือ การประเมินว่าสถาบันสามารถดำเนินตามพันธกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด โดยจะพิจารณาใน 3 แง่มุมหลัก ๆ ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วม (engagement) 2.นวัตกรรม (innovation) 3.การสร้างผลกระทบเชิงบวก (impact) รวมถึงการประเมินว่าสถาบันการศึกษานั้น ๆ มีการพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอย่างไร ตามที่ระบุไว้ในพันธกิจของหน่วยงาน

รวมกับมาตรฐานเดิมของ AACSB ที่ความครอบคลุมการประเมินความสามารถ 3 ประเภท ได้แก่ การจัดการเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม (strategic management and innovation) ความสำเร็จของผู้เรียน (learner success) และความเป็นผู้นำทางความคิด การมีส่วนร่วม และผลกระทบทางสังคม (thought leadership, engagement, and societal impact)

การเรียนการสอนแบบไฮบริด

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในหลายด้าน เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น รูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป คุณสมบัติใหม่ ๆ ที่บริษัทต้องการในบุคลากร ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้นำองค์กร และความคาดหวังในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

“เจฟฟ์ แพร์รี่” บอกว่า โควิด-19 ทำให้แต่ละสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจต้องกลับมาพิจารณากระบวนการดำเนินงานของตนอย่างละเอียด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในระยะสั้นคือทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบของหลักสูตร บทบาทของคณะ รวมถึงปรับจำนวน และมีประเภทของหลักสูตรเฉพาะทางเพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในระยะยาว ได้แก่ ความต้องการด้านการศึกษาจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงหลักสูตรประกาศนียบัตรและการฝึกอบรมระยะสั้น (micro-credentials) ต่าง ๆ และกลุ่มผู้ที่จะเข้าศึกษาด้านการ
บริหารธุรกิจจะหลากหลายยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น การเรียนแบบผสมผสานและการเรียนออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนไม่น้อยกำลังพิจารณาการใช้รูปแบบไฮบริดในการจัดการเรียนการสอน โดยการบรรยายใช้ช่องทางออนไลน์ และสำหรับกิจกรรมที่ต้องอาศัยประสบการณ์ และการมีส่วนร่วมของผู้เรียนจะเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียน

“การที่สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ จะตอบสนองความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี ต้องมีความคล่องตัวมากขึ้น มีการนำเสนอหลักสูตรปริญญาที่ผู้เรียนสามารถปรับให้ตรงกับความต้องการของตนได้ ช(customized degree programs) และมีหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นเพื่อผู้เรียนสามารถรวบรวมวุฒิไปใช้ในการยกระดับการประกอบอาชีพ (stackable credentials)”

“อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่ายธุรกิจในวงกว้าง อีกทั้งยังมีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กรต่าง ๆ ได้”

ตลาดหลักสูตรระยะสั้นโต

“เจฟฟ์ แพร์รี่” กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางการเติบโตของหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นที่ทำโดยหลายองค์กร ส่งผลให้สถาบันระดับอุดมศึกษามีแนวโน้มที่จะเปิดสอนหลักสูตรระยะสั้นของตนเองด้วยเช่นกัน และทำควบคู่ไปกับการผสานหลักสูตรกับองค์กรอื่น ๆ ที่มีความใกล้เคียงกันเข้ามาในหลักสูตรปริญญาของสถาบัน

“หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นสามารถเติมเต็มหลักสูตรการบริหารธุรกิจแบบดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถสนับสนุนการพัฒนาของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง และได้ในหลายทาง โดยการรับรองมาตรฐานให้สถาบันการศึกษาในปี 2564 ของ AACSB มีครอบคลุมถึงหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่รวมอยู่ในหลักสูตรปริญญาด้วย เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาสามารถปรับตัวตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจแบบดั้งเดิมจะยังคงมีความสำคัญต่อโครงสร้างหลักสูตรของสถาบันระดับอุดมศึกษา แต่หน่วยงานที่นำเสนอหลักสูตรการสอนแบบดั้งเดิมควรทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่ทำหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างสรรค์หลักสูตรที่หลากหลาย เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะบุคคลของผู้เรียน ประสบการณ์ในการทำงาน และเป้าหมายในการประกอบอาชีพ

นอกจากนั้น สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทยต้องมองเทรนด์ด้านการศึกษาของทั่วโลก และนำมาปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอน เช่น การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถและทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าถึงองค์ความรู้แบบบูรณาการ เป็นต้น

ทักษะผู้นำในโลกธุรกิจ

“เจฟฟ์ แพร์รี่” กล่าวว่า ทักษะของผู้นำที่จำเป็นต่อโลกธุรกิจในอนาคตประกอบด้วยความคล่องตัว ความสามารถในการปรับตัว ทักษะในการทำงานร่วมกันกับผู้ที่จบจากต่างสาขาวิชาได้ และมีความสนใจมุมมองที่แตกต่าง รวมถึงต้องมีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เราเห็นชัดเจนตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ทักษะเหล่านั้นมีความสำคัญมากท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำทางธุรกิจจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการทีมงานที่อยู่ในสถานที่แตกต่างกัน (virtual teams) เพราะรูปแบบการทำงานนอกสำนักงานจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น”

นับว่า สถาบันที่ได้เข้าร่วมรับการรับรองจาก AACSB จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับสถาบันการศึกษาชั้นนำจากทั่วโลกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพของระบบ กระบวนการ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ และหลักสูตรของตน


ขณะเดียวกัน ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันจะได้เปรียบต่อการหางานในระดับสากลด้วย