ตลาดงาน EEC หาคนทำงาน 8,910 อัตรา ผ่าน Job Fair ออนไลน์

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงานเผย ตลาดจ้างงานปีนี้เป็นบวก ธุรกิจส่งออกเป็นพระเอกในตลาดแรงงาน กรมการจัดหางานเปิดงานนัดพบแรงงาน online เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เสิร์ฟตำแหน่งงาน 8,910 อัตรา

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดงานนัดพบแรงงานออนไลน์ (Online DOE Job Fair 2021) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) 3 จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา มีสถานประกอบการ 126 แห่ง และตำแหน่งงาน 8,910 อัตรา งานครั้งนี้เป็นการขยายพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงตำแหน่งงาน หลังจากที่จัดนัดพบแรงงานใหญ่พร้อมกัน 9 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช) ในรูปแบบออนไลน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา

ตลาดจ้างงานปีนี้เป็นบวก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจัดงานนัดพบแรงงาน Online ตั้งเป้าช่วยเหลือให้ประชาชนมีงานทำในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เช่นเดียวกับทางกระทรวงแรงงานที่ปรับตัวมาโดยตัวตลอด ตามวิถี new normal และสอดคล้องกับการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ย้อนไปตอนที่ผมมารับตำแหน่ง รมว.แรงงานใหม่ ๆ (อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2563) จนถึงวันนี้ครบ 1 ปี ตอนนั้นผมจัดงาน Job Expo Thailand 2020 มหกรรมการจัดหางานครั้งใหญ่ระดับประเทศครั้งแรก ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) มีตำแหน่งงานกว่า 1 ล้านอัตรา และภายในระเวลา 2 ไตรมาสได้บรรจุงานไป 1,300,000 ล้านอัตรา”

นายสุชาติ อธิบายว่า ข้อมูลช่วงมกราคม 2563 – ธันวาคม 2563 มีคนที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ออกจากระบบงาน 1,060,000 คน กลับไปสู่ระบบการจ้างงานใหม่ หรือย้ายบริษัทประมาณ 300,000 แสนคน และมีผู้ประกันตนรายใหม่หรือคนที่เพิ่งเข้าสู่ระบบจ้างงานประมาณ 300,000 แสนคน

ข้อมูลตัวเลขมกราคม 2564 – มิถุนายน 2564 คนออกระบบการจ้างงาน 417,000 คน คนที่ออกและได้งานใหม่ในบริษัทอื่น 284,000 คน ผู้ประกันตนรายใหม่เพิ่งเข้าระบบจ้างงาน 216,000 คน รวมแล้วตลาดการเข้าทำงานครึ่งปีนี้แรก 501,000 ใกล้เคียงกับ ปี 2563 หากนำตัวเลขคนออกระบบแรงงาน 41,700 คน เทียบกับคนที่เข้าระบบงาน เท่ากับว่าตลาดจ้างงานเป็นบวก 84,141 คน

สำหรับการจัดงานนัดพบแรงงานออนไลน์ ภายใต้โครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกครั้งนี้ เป็นรยกระดับการให้บริการภาครัฐโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการประชาชน เพื่อความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย และตระหนักถึงความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชนวัยกำลังแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19

“ผมอยากให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดแต่ละแห่ง ปรับการทำงานมุ่งสู่ดิจิทัล สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คิดวิธีการรักษาการจ้างงาน และหาจำแหน่งงานว่าง เสนอให้ทางกรมอธิบดีกรมการจัดหางาน เพราะเราต้องอยู่ในสสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปอีกนาน”

ธุรกิจส่งออก พระเอกตลาดแรงงาน

คนเข้าร่วมงานนัดพบแรงงาน online เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นายสุชาติ กล่าวว่า คนว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพอิสระในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ หรือคนที่ทำงานพาร์ทไทม์ เนื่องจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาตั้งแต่ช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ ๆ เช่น โครงการทัวร์เที่ยวไทย กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว โดยเป็นลักษณะแบบโคเพย์เมนต์ (co-payment) รัฐช่วยสนับสนุนค่าเดินทางในลักษณะร่วมจ่าย 40% แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคน แต่ก็ยังหนีไม่พ้นอุปสรรคจากโลกอุบัติใหม่โควิด-19

ส่วนภาคธุรกิจส่งออก เช่น ส่งออกอาหารแช่แข็ง เป็นภาคที่มีความแข็งแรงที่สุด นอกจากนั้นผมได้รับทราบว่า ธุรกิจยานยนต์หลายบริษัทยังเข้มแข็ง สามารถจ่ายโบนัสให้พนักงานได้ประมาณ 6-7 เดือน ทั้งนี้ พนักงานบริษัทเอกชนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีประมาณ 11 ล้านคนทั้งประเทศ อยู่ในภาคธุรกิจส่งออกประมาณ 3 ล้านคน (30%)

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้ให้เงินกระทรวงแรงงานมาเกือบ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 11 ล้านคน ในโครงการเรารักกัน โดยให้เงินใช้กระตุ้นเศรษฐกิจคนละ 4 พันบาท เพิ่มอีก 2 พันบาท รวมเป็น 6 พันบาท จากนั้นให้กระทรวงแรงงานทำตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ที่มีการล็อกดาวน์ เริ่มจาก 10 จังหวัด (กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา)

ใน 9 กิจการ (1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่น ๆ 5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร) มีผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างราว 2,800,000 ล้านคน นายจ้าง 1,600,000 แสนราย

เงินโครงการเยียวยาจากเงินกู้ของรัฐบาล จ่ายสมทบให้ลูกจ้างมาตรา 33 สัญชาติไทย 2,500 บาทต่อคน ส่วนนายจ้างได้รับเงินจำนวน 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน (จำนวนเงินสูงสุดที่นายจ้างได้รับจะอยู่ที่ 600,000 บาท)

จากนั้นรัฐบาลประกาศเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา) มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ประมาณ 290,000 คน และล่าสุดขยายอีก 16 จังหวัด (กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง)

ส่งแรงงานไปต่างประเทศต่อเนื่อง

นายสุชาติ กล่าวว่า การส่งแรงงานไปต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปฟินแลนด์และสวีเดน จำนวน 8,200 คน โดยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ จำนวน 3,000 คน และเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 5,200 คน

“แรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่านั้นนอกจากสามารถมีอาชีพ มีรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ตนเองได้แล้ว ยังสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยได้ปีละไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท นอกจากนั้นเรามีส่งแรงงานไปประเทศไต้หวันประมาณหนึ่งหมื่นคน ส่วนการส่งแรงงานไปเกาหลี และญี่ปุ่น กำลังปรับให้เอกชนเข้ามาทำ”

เอกชนใน “อีอีซี” แห่รับคน 8,910 อัตรา

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า งานนัดพบแรงงานออนไลน์ครั้งนี้จัดพร้อมกันในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งมีสถานประกอบการชั้นนำจำนวน 126 แห่ง อาทิ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน), บริษัท อินเตอร์เทค สเปคเชียลตี้กลาส จำกัด, บริษัท ชุน ยี อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง จำกัด (สาขาชลบุรี), บริษัท ซัมมิท ชูโกกุ เซอิร่า จำกัด, บริษัท บริดจสโตน คาร์บอน แบล็ค (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 8,910 อัตรา เช่น แรงงานด้านการผลิต วิศวกร พนักงานบัญชี เจ้าหน้าที่การเงิน พนักงานธุรการ สำหรับระดับวุฒิการศึกษามัธยมต้น-ปริญญาตรี

นอกจากนั้นมีกิจกรรมภายในงานที่ประกอบด้วย การสาธิตการประกอบอาชีพอิสระกว่า 30 อาชีพ เช่น การทำ e-Book สอนการลงทุน-เล่นหุ้น อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ (influencer coordinator) อาชีพรับให้คำปรึกษาวางแผนภาษีบุคคลธรรมดา/นิติบุคคล การทำคุ๊กกี้เพื่อสุขภาพ การเย็บแมสผ้า การทำสบู่-แชมพูสมุนไพร เป็นต้น

รวมถึงการบรรยายให้ความรู้ในด้านการสมัครงาน อาทิ ทริคสัมภาษณ์งานออนไลน์ให้ผ่านฉลุย ตลาดแรงงานในยุคหลังโควิด การพัฒนาการศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน การศึกษากับอนาคต EEC มุมมองของนายจ้างต่ออนาคตของการทำงานในประเทศไทยและทักษะที่จำเป็นสำหรับคนหางาน

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับพื้นที่เศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและต่างประเทศในระยะยาว

“เรามีศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Centre) เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่การจ้างงานจำนวนมาก และการจัดงานในครั้งนี้”

นอกจากนั้นได้รับความสนใจจากสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดทำโครงการเยาวชนคนสร้างอนาคต-การส่งเสริมความสามารถในการมีงานทำของเยาวชนในประเทศไทย โดยเข้าร่วมจัดงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดระยองด้วย

“ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญต่อการมีงานทำของประชาชน โดยเฉพาะนายจ้าง/สถานประกอบการต่าง ๆ ที่เข้าร่วมรับสมัครงาน รวมทั้งสื่อมวลชนที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสารของงานให้ประชาชนรับรู้ รับทราบ” นายสุชาติกล่าว

ช่องทางการสมัครงาน สัมภาษณ์งาน

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า งานนัดพบแรงงาน Online จะช่วยให้ผู้ที่กำลังหางาน ผู้จบการศึกษาใหม่ ผู้ที่ว่างงาน และผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สามารถสมัครงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างงาน และสัมภาษณ์งานกันได้ในทันทีผ่านระบบออนไลน์

ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการสัญจรและการพบปะพูดคุยกันโดยตรง ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการส่งเสริมการจ้างงาน ควบคู่กับการรักษาการจ้างงานภายในประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการให้สามารถฟื้นตัวโดยเร็ว

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผู้หางาน เพื่อค้นหาตำแหน่งงานว่างในพื้นที่จังหวัดที่ต้องการทำงานผ่านลิงก์ต่อไปนี้

หรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.doe.go.th โดยคลิ๊กที่แบนเนอร์ นัดพบแรงงาน Online DOE Job Fair 2021 ซึ่งมีรายละเอียดงาน QR code และช่องทางติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด รวมทั้งคู่มือการลงทะเบียนสำหรับสถานประกอบการและผู้สมัครงานไว้ให้บริการ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694