เดอะ วัน ประกันภัย : ก.แรงงานสั่งจ่ายลูกจ้าง 82.6 ล้าน ภายใน 28 ก.พ.

พนักงานตรวจแรงงานได้สั่งปิดที่สำนักงานใหญ่ของ เดอะ วัน ประกันภัย เมื่อวันที่ 14 ม.ค. และมีคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างค่าค้างจ่ายต่าง ๆ ให้ลูกจ้าง 354 คน รวมเป็นเงิน 82.6 ล้านบาท

วันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ออกคำสั่งให้บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง ค่าชดเชย และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้ลูกจ้างรวม 354 คน รวมเป็นเงิน 82.6 ล้านบาท ภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2565

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 16-27 ธันวาคม 2564 นายอเนก โพธิ์ศรี กับพวกรวม 354 คน ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายจ้างเลิกจ้าง

โดยค้างจ่ายค่าจ้างของการทำงานวันที่ 11-13 ธันวาคม 2564 ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง ค่าชดเชย และเงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ กสร. เร่งรัดดำเนินการ

ทั้งนี้ พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏแล้ว มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 2/2565 ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 สั่งให้ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี นายจ้าง จ่ายค่าค้างจ่ายต่าง ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 82,684,825.86 บาท ให้ลูกจ้าง 354 คน แบ่งเป็น 4 ประการ ดังนี้

  1. ค่าจ้างของการทำงานวันที่ 11-13 ธันวาคม 2564 เป็นเงิน 1,012,446.90 บาท
  2. ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง เป็นเงิน 1,770,327.46 บาท
  3. ค่าชดเชย 64,715,348 บาท
  4. เงินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 15,186,703.50 บาท

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า วันที่ 14 มกราคม 2565 พนักงานตรวจแรงงานได้นำคำสั่งไปปิดที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และนำคำสั่งไปส่งมอบให้กองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี โดยจะครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่ง ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

หากเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและไม่นำคดีไปสู่ศาล (เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าได้ทราบคำสั่ง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเป็นทนายความแทนนายอเนก โพธิ์ศรี กับพวก ฟ้องคดีกับนายจ้างเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต่อศาลแรงงานกลาง

และให้ลูกจ้างมายื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนก่อน พร้อมทั้งดำเนินคดีอาญานายจ้างฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน