ซีเอสอาร์ “คาร์กิลล์” นำองค์ความรู้มหา’ลัยช่วยเกษตรกร

ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมามากกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ปี 2511 สำหรับคาร์กิลล์ ผู้นำธุรกิจด้านห่วงโซ่อุปทานเมล็ดพืช และเมล็ดพืชน้ำมัน โภชนาการสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากไก่ปรุงสุก เครื่องปรุงในอาหารและน้ำผลไม้ และเทกซ์เจอไรซิ่งโซลูชั่น ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ปัจจุบันมีโรงงานกว่า 7 แห่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ อาทิ นครราชสีมามี 2 แห่ง สระบุรี, นครปฐม, พิษณุโลก, ปราจีนบุรี, เพชรบุรี และฉะเชิงเทรา จังหวัดละ 1 แห่ง โดยมีพนักงานมากกว่า 15,000 คน ทั้งยังขยายการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลากหลายด้าน

รวมถึงการให้ความรู้ และการฝึกอบรมด้านเทคนิคการเกษตรให้กับเกษตรกรไทย ที่สำคัญ ยังทำงานร่วมกับองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children Thailand) โดยริเริ่มโครงการพัฒนาด้านโภชนาการสำหรับเด็กวัยเรียน และจัดหาเครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดสำหรับโรงเรียน หรือที่เรียกว่า โครงการเกษตรอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลน

สำหรับโครงการเกษตรอาหารกลางวันเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา เพื่อนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนโรงเรียนพื้นที่ภาคอีสานด้วยการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่

และนำผลผลิตที่ได้มาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารกลางวันในโรงเรียน และจำหน่ายให้ชุมชนโดยรอบ สร้างรายได้หมุนเวียนกลับสู่โรงเรียน จากเดิมเน้นเฉพาะโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานถึง 2 แห่ง ต่อมามีการขยายสู่พื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสานต่อเนื่องเป็น 26 โรงเรียน

และกำลังจะขยายโรงเรียนเพิ่มใน จ.สระบุรี จ.ลพบุรี และ จ.บุรีรัมย์อีกด้วย โดยตั้งเป้าว่าจะทำโครงการให้สำเร็จใน 70 โรงเรียน ภายในปี 2567 โดยล่าสุดขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพาเปิดตัวโครงการ “Smart Farming” เพื่อส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรที่อยู่รอบ ๆ โรงงานทำการเกษตรแบบยั่งยืน

สุเกียรติ กิตติธรรมโชติ

“สุเกียรติ กิตติธรรมโชติ” ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์ และองค์กรสัมพันธ์ บริษัท คาร์กิลล์ สยาม จำกัด กล่าวว่า โครงการเกษตรอาหารกลางวันยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ควบคู่ไปกับโครงการ Smart Farming ส่งเสริมชุมชนเกษตรกรที่อยู่รอบ ๆ โรงงานของคาร์กิลล์ ด้วยการนำน้ำบำบัดจากโรงงานไปใช้ทำการเกษตร รวมถึงนำอุปกรณ์เทคโนโลยีโดรนไปช่วยเพิ่มผลผลิต ซึ่งทั้ง มทส.และ ม.บูรพา เริ่มต้นจัดอบรม และให้คำแนะนำเกษตรกรมาตั้งแต่ปี 2564

โดยเฉพาะเกษตรกรรอบ ๆ โรงงานของนครราชสีมา ตอนนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 20 ครัวเรือน หรือประมาณ 50 คน โดยผลจากการสำรวจพบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมมีความรู้ด้านการเกษตรเพิ่มมากขึ้นหลังการอบรมถึง 82% จากเดิม 51% และในปีนี้ตั้งเป้าเกษตรกรที่จะร่วมอบรมอยู่ที่ 40 ครัวเรือน หรือประมาณ 70 คนในพื้นที่โรงงานสระบุรีด้วย และจะเริ่มใช้แปลงสาธิต 30-40 ไร่ในการฝึกปฏิบัติ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง

“เป้าหมายโครงการผมมองว่าสามารถทำไปได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องจำกัด แต่ถ้าเป็นเป้าหมายระยะสั้น ผมวางไว้อยู่ 2 ข้อ คือ หนึ่ง องค์ความรู้ที่ทางมหาวิทยาลัยนำมาให้จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรของชุมชนให้ยั่งยืนมากขึ้น ได้ผลผลิตมากขึ้น สอง สามารถสร้างรายได้เพิ่มสูงมากขึ้น เรามีตลาดรองรับแน่นอน เพราะโรงงานแต่ละแห่งมีพนักงานกว่า 7,000 คน ที่ต้องการซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง”

ศ.ดร.หนึ่ง เตียอํารุง

“ศ.ดร.หนึ่ง เตียอํารุง” คณบดีสํานักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวเสริมว่า ที่มหา’ลัยมีวิจัยและนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีหลายตัวที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในโครงการได้ เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับไข่ไก่โอเมก้า งานวิจัยปลานิลแปลงเพศ การจัดการธาตุอาหารในดิน การใช้ปุ๋ยต่าง ๆ เราจึงนำความรู้หล่านี้ไปสอนเด็ก ๆ ให้เขาลงมือทำ และมีอาหารให้พวกเขารับประทาน เมื่อเหลือก็นำไปขาย

“ผมมองว่าโครงการนี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งในสังคม เพราะเด็กต่างจังหวัดจะมีโอกาสน้อยกว่าเด็กในเมืองกรุง ดังนั้น จึงต้องสร้างโอกาสให้เขามีความรู้เรื่องเทคโนโลยีการเกษตรสูงกว่าเด็กคนอื่น ๆ ตอนนี้ผมได้มอบหมายให้ทีมงานไปหารือกับโรงเรียนแต่ละแห่งในนครราชสีมา ลองดีไซน์หลักสูตรที่สอนให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตร คาดจะเห็นผลในเร็ว ๆ นี้

ขณะเดียวกัน ความรู้ทั้งหมดที่มีเราจะนำไปต่อยอด ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ รอบโรงงานคาร์กิลล์ เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป ที่ผ่านมาเรานำองค์ความรู้ไปอบรมเกษตรกรนครราชสีมา พร้อมกับเริ่มดำเนินการในแปลงสาธิตมาแล้ว และกำลังจะขยายไปสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป”

ดร.สิริเชษฐ์ รัตนะชิตธวัช

“ดร.สิริเชษฐ์ รัตนะชิตธวัช” รักษาการแทนคณบดีมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.บูรพา จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญ และบุคลากรมาช่วยให้โครงการนี้ก้าวไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาให้การเกษตรของไทยดีขึ้น ทั้งในแง่ของผลผลิตที่มีคุณภาพ รายได้ที่เหมาะสม เราต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง อย่างในช่วงที่ริเริ่มโครงการมีการทำเรื่องข้าวปลอดภัย

“ซึ่งมีรายละเอียดทั้งการใช้ดิน น้ำ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำเกษตรแบบเดิม ๆ ปลูกข้าวพันธุ์เดิม ๆ ซึ่งบางรายอาจไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ใช้ปุ๋ยไม่ดี ไม่มีการปรับปรุงดิน จนนำมาสู่ผลผลิตที่คุณภาพอาจไม่ดีมากนัก ดังนั้น เราจึงนำหลักวิชาการไปช่วยเหลือเกษตรกร”

“สุเกียรติ” กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า โครงการเกษตรอาหารกลางวัน และโครงการ Smart Farming เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ภาคอีสานเป็นหลัก ส่วนความช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานอื่น ๆ มีการพัฒนา และจัดทำโครงการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่

บางแห่งก็เป็นการช่วยโรงเรียนขนาดเล็กเรื่องน้ำดื่มสะอาด เช่นเดียวกับคาร์กิลล์ ใน 70 ประเทศทั่วโลกก็จะมีแผนดำเนินงานต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน ความเหลื่อมล้ำ การใช้ดินน้ำ อาหารและโภชนาการที่อยู่ภายใต้แผนความยั่งยืนเดียวกันทั้งหมด สิ่งสำคัญคือเรามีแผนมุ่งเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

“คาร์กิลล์ประกาศเป้าหมายเมื่อปี 2016 ว่า ภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจคาร์กิลล์ทั่วโลกให้ได้ 10% ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องปรับกระบวนการผลิตอยู่หลายเรื่อง เช่น การลงทุนโซลาร์รูฟในโรงงาน การลงทุนในเรื่องพลังงาน การดักจับคาร์บอน ฯลฯ หรือแม้แต่การรับซื้อสินค้าจากเกษตรกร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดที่จะมาเป็นอาหารสัตว์ โดยเราต้องลงไปดูถึงที่มาที่ไปว่ามีการบุกรุกทำลายป่าหรือไม่ด้วย”

“นอกจากนั้น เราก็ทำเรื่อง Plant-based อาหารทางเลือกที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้พลังงานหมุนเวียน และใช้น้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ปีที่ผ่านมาเราออกผลิตภัณฑ์ใหม่ชื่อ Plant ever เป็นนักเก็ตจากพืช เพราะเรามองเห็นเทรนด์ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ และตลอด 10 ปีผ่านมา นอกจากผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับสุขภาพ ดูเรื่องความปลอดภัยอาหารแล้ว ยังดูไปถึงที่มาที่ไปของอาหารว่ามีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องหรือไม่ด้วย”


เพราะประเทศไทยถือเป็นฮับทางด้านอาหาร ทั้งยังมีผู้เล่นมากมาย จึงถือเป็นความสนุกในธุรกิจนี้ ที่สำคัญ เราเห็นว่าตอนนี้มีสตาร์ตอัพหลายรายยังโดดเข้ามาร่วมวงด้วย คาร์กิลล์ก็ยังมองหาโอกาสการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์โลกของเราต่อไป ทั้งยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วย