ตรวจแรงงานประมงภูเก็ต ป้องกันค้ามนุษย์ ยกไทยสู่เทียร์ 1

กระทรวงแรงงานตรวจแรงงานประมงภูเก็ต เตรียมยกระดับแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์สู่ Tier 1 ตามมาตรฐานสากล ควบคู่ขับเคลื่อนการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน

วันที่ 8 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้พลตำรวจตรีนันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนสังกัดกระทรวงแรงงานประจำจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเรื่องสถานการณ์ด้านแรงงานการค้ามนุษย์และแรงงานภาคประมงจังหวัดภูเก็ต ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดภูเก็ต และหลังจากนั้น พลตำรวจตรีนันทชาติ พร้อมคณะองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) เข้าประชุมเพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกจังหวัดภูเก็ต (PIPO) ณ ด่านตรวจประมงภูเก็ต สำนักงานศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกภูเก็ต

จากนั้นในวันที่ 8 มีนาคม 2565 พล.ต.ต.นันทชาติยังได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การตรวจบูรณาการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ณ ท่าเทียบเรือรัษฎา จังหวัดภูเก็ต โดย พล.ต.ต.นันทชาติกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์สู่เทียร์ 1 (Tier 1) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

โดยการตรวจในครั้งนี้เป็นบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ตำรวจน้ำ และองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris), มูลนิธิไอเจเอม และสำนักงานกฎหมายเอส อาร์

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน และนำข้อท้าทายหรืออุปสรรคจากการออกตรวจที่พบร่วมกันมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการให้ความคุ้มครองแรงงานในภาคประมงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.นันทชาติกล่าวด้วยว่า ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ตนและคณะลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อมาตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล เยี่ยมและรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคด้านแรงงานในการประกอบอาชีพประมงทะเล รวมทั้งพบปะกับลูกจ้าง นายจ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

ซึ่งในวันนี้ได้ลงตรวจเรือประมง จำนวน 4 ลำ ได้แก่

  • เรือทองเจริญทรัพย์-2 ขนาด 111.46 ตันกรอส มีลูกเรือ 38 คน เป็นสัญชาติไทย 2 คน เมียนมา 36 คน
  • เรือทองเจริญทรัพย์-8 ขนาด 118.89 ตันกรอส มีลูกเรือ 41 คน เป็นสัญชาติไทย 4 คน เมียนมา 37 คน
  • เรือโชคกาญจนา-29 ขนาด 113.33 ตันกรอส มีลูกเรือ 34 คน เป็นสัญชาติไทย 3 คน เมียนมา 31 คน
  • เรือนาวายุทธกิจ ขนาด 43.50 ตันกรอส มีลูกเรือ 12 คน เป็นสัญชาติไทย 2 คน เมียนมา 10 คน

ในโอกาสนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นายจ้าง และลูกจ้างในเรือประมง โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการ ให้มีอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำ ห้องเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในจำนวนที่เพียงพอ

เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานและระยะเวลาการใช้ชีวิตบนเรือ รวมทั้งได้กำชับให้นายจ้างให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน วิธีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขณะใช้ชีวิตอยู่บนเรือ และตรวจเช็กความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือ ก่อนการทำงานอีกด้วย