9 ปี ตามรอยพ่อ ศาสตร์พระราชาแก้วิกฤตยั่งยืน

ในที่สุด โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ก็เดินมาถึงบทสรุปแห่งความสำเร็จ หลังจากดำเนินงานมาครบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2564 โดยผลการดำเนินงานดีเกินคาด ทั้งในด้านการสร้างคนมีใจ เครือข่าย และศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงกิจกรรมเอามื้อสามัคคี หรือการลงแขกในพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จ จนได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างมาก

กระทั่งทำให้แนวคิดการนำ “ศาสตร์พระราชา” และ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ถูกนำไปปฏิบัติจนแผ่ขยายแตกตัวไปทั่วทั้ง 22 ลุ่มน้ำในประเทศ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และเกิดกระแสความตื่นตัวที่ทำให้ทุกภาคส่วนต่างลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่าจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงแสดงความห่วงใยต่อปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” กำเนิดขึ้นในปี 2556

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร

ด้วยการน้อมนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การปฏิบัติ เป้าหมายเพื่อหยุดท่วม หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน จนสามารถสร้างรูปธรรมตัวอย่างความสำเร็จและการขยายผลครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ทั้งนี้ โครงการมีกรอบการดำเนินงาน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะละ 3 ปี โดยสรุปผลสำเร็จของการดำเนินงานดังนี้

หนึ่ง การ “สร้างคน” โดยมีผู้เข้าอบรม และดูงานในศูนย์ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานโครงการพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำป่าสัก 489,984 คน พื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำอื่น ๆ 826,280 คน รวมทั้งสิ้น 1,316,264 คน

สอง การ “สร้างครู” สร้างวิทยากร และครูพาทำในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติในลุ่มน้ำป่าสักรวม 124 คน นอกลุ่มน้ำป่าสัก 9 คน รวมทั้งสิ้น 133 คน

สาม การ “สร้างศูนย์เรียนรู้” โดยมีศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากโครงการ 11 แห่ง อยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก 8 แห่ง และนอกลุ่มน้ำป่าสัก 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ห้วยกระแทก) ป่าสักโมเดล จ.ลพบุรี,

บ้านพึ่งพาตนเอง “ฟากนา ฟาร์มสเตย์” จ.เลย, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายอดิศร จ.สระบุรี, ศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา โมเดล หรือศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพึ่งตนเองเอาชนะยาเสพติด จ.สระบุรี

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์, ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ วัดใหม่เอราวัณ จ.ลพบุรี, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา จ.ตาก, ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยคริสตจักรนาเรียง จ.อุดรธานี และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสุรินทร์ จ.สุรินทร์

“ดร.วิวัฒน์” กล่าวเสริมว่าจะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จอย่างดี ทั้งในแง่ปริมาณการสร้างคน สร้างครู สร้างศูนย์เรียนรู้ ส่วนสัมฤทธิผลในเชิงคุณภาพดีเกินคาด การแตกตัวขยายผลสร้างแรงกระเพื่อมที่ทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนพร้อมกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

เริ่มจากการสั่งการจากผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นดำเนินการอบรม และเปิดศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายในหน่วยทหาร ทั้งยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย, โรงเรียนบ้านโป่งเกตุ และโรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงโคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวังของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

“อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวสรุปผลความสำเร็จว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีบอกว่าเราเห็นผลทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพของโครงการที่เข้าไปช่วยให้ความรู้ สร้างตัวอย่าง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนเป็นล้าน ๆ ทั่วประเทศ

ทั้งในด้านการอนุรักษ์ และอยู่ร่วมกับป่า การนำศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้เพื่อการพึ่งพาตนเอง ทั้งยังสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ 11 แห่งใน 7 จังหวัด รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการแบ่งปันความรู้แบบออนไลน์แก่ผู้ที่สนใจ

“เราสร้างเนื้อหาในสื่อออนไลน์มากมายที่เป็นประโยชน์ อาทิ การจัดทำบทเรียนคู่มือสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติในรูปแบบบทความ และวีดิทัศน์บอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำองค์ความรู้ไปลงมือทำเองได้ และยังสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้ติดตามกว่า 246,900 คน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโครงการด้วยช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์”

นอกจากนั้น ภายในงานสรุปผลที่จัดขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ยังมีตัวแทนเครือข่ายคนมีใจ 9 คน 9 ปี มาร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนาด้วย ทั้งนั้นเพื่อยืนยันตรงกันว่า “ศาสตร์พระราชา” และ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” แก้ปัญหาทุกวิกฤตได้จริง


ที่สำคัญ ภายในงานสรุปผลโครงการยังมีนิทรรศการ และการจัดแสดงความสำเร็จ “การเดินทาง 9 ปี ตามรอยพ่อฯ” ประมวลภาพประทับใจ และภาพมุมสูงของพื้นที่ตัวอย่างหลุมขนมครก ทั้งยังมีการอบรมหลักการออกแบบโคก หนอง นารวมถึงการนำตลาดเครือข่ายกสิกรรมมาจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ตัวอย่างความสำเร็จที่เคยร่วมจัดกิจกรรมมาตลอดโครงการอีกด้วย