ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ ผู้นำแรงงานเร่งรัฐดำเนินการ

คสรท. และ สรส. ส่งจดหมายถึงรัฐบาล เร่งปรับค่าจ้าง 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้ ส่วนมาตรการแจกเงินเป็นการช่วยเหลือได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น

วันที่ 26 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ลงวันที่ 25 เมษายน 2565 ระบุว่า ได้ใช้ความพยายามเพื่อผลักดันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เหตุด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าทุกรายการสูงขึ้น ทั้งอาหารการกิน เครื่องมือ เครื่องใช้ ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ส่งผลทำให้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างยากลำบาก

และยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คนงานจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้ นอกจากนั้นบางคนต้องเข้าโครงการทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 และต้องแบกรับภาระจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต แทนผู้ประกอบการ ในขณะที่ค่าจ้างไม่ได้มีการปรับมาเกือบ 3 ปีแล้ว นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม

ไทยติดอันดับ เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก

ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดลำดับจาก CS Global Wealth Report เมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบันว่าเป็นประเทศที่ “มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก” ขณะที่หลายประเทศได้ให้น้ำหนักและความสำคัญกับคนงาน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ เพราะการที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุนและมีการจ้างงาน ทำให้อัตราการว่างงานสามารถควบคุมได้ย่อมเป็นสัญญาณการเติบโตของประเทศ

และการที่ประเทศใด ๆ สามารถสร้างงานย่อมหมายถึง การสร้างคน สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการหมุนเวียน เกิดการผลิต มีการจ้างงาน เกิดรายได้ มีการจับจ่าย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วรายได้ของแรงงานย่อมหมายถึงภาษีที่รัฐสามารถจัดเก็บได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ครั้งสุดท้ายของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 1 มกราคม 2563 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313 บาท, 315 บาท, 320 บาท, 323 บาท, 324 บาท, 325 บาท, 330 บาท, 331 บาท, 335 บาท และ 336 บาท

แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง อาจเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการบางแห่งอ้างว่า ระบบการผลิต การจ้างงาน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ ทำให้ธุรกิจ สถานประกอบการ ร้านค้า ต้องลดการผลิต บางแห่งต้องปิดกิจการไปเลย จึงต้องเลิกจ้าง แต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่อาศัยสถานการณ์โรคโควิด-19 ปลด เลิกจ้างคนงาน โดยไม่จ่ายเงินใด ๆ ทำให้คนงานเป็นจำนวนมากขาดรายได้ ไร้อาชีพ

มาตรการแจกเงิน สร้างหนี้สาธารณะ

แม้รัฐบาลพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในโครงการต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการของระบบประกันสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนงานมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการช่วยเหลือเป็นเพียงระยะสั้น ๆ และเงินที่นำมาแจกก็ล้วนเป็นเงินที่กู้มา ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องร่วมชดใช้

ในอีกด้านหนึ่ง ประชาชนทุกข์ยากอย่างหนัก แต่รัฐบาลเองกลับไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้อยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยไม่เดือดร้อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความทุกข์ยากของประชาชนที่มีอยู่แล้วกลับเพิ่มสูงมากขึ้น

โดยข้อมูลทั้งจากสถาบันทางการเงิน สถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนหลายแห่งต่างวิเคราะห์ที่สอดคล้องกันคือ ภาวะอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบด้านแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงาน

นโยบายหาเสียงปรับขึ้นค่าแรง

ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้แต่ประการใด

และที่ผ่านมา คสรท. และ สรส. ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2560 โดยเหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแสดงถึงความต้องการถึงความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว

แม้กระทั่งลูกจ้างในภาครัฐที่รัฐเป็นผู้จ้างงานเองแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐประกาศ โดยอ้างว่าลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อหลักปฏิญญาสากล ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ขึ้นค่าแรง 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตามการเสนอเรื่องตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ คสรท. และ สรส.ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจจากความเดือดร้อนของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2560 ผลสรุปจากแบบสอบถามคือ

– ค่าใช้จ่ายรายวัน (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) 219.92 บาท ตกเป็นเดือนละ 6,581.40 บาท

– ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท

หากนำค่าใช้จ่ายรายวันและรายเดือน มารวมกันจะอยู่ที่ 21,382.92 ดังนั้น ค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท

แต่ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอม โดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน ดังนั้นตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เหตุเพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีการปรับพร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้เลือกเขต เลือกโซน เลือกจังหวัด และเกือบทุกรายการราคาสินค้าในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพฯ และส่วนกลาง

ข้อเสนอทั้งหมดดังกล่าว คสรท. และ สรส. ได้รวบรวมข้อมูลความเป็นจริง จากแรงงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากหน่วยงานรัฐ ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในสถานการณ์ของประเทศไทย ถึงภาวะการดำรงชีพของคนงานและประชาชนที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น ในช่วงของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้เท่ากัน ทั้งในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและหลักประกันที่มั่นคงแก่คนงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม