11 ปี ค่าแรงขั้นต่ำ ปรับขึ้น 6 รอบ รอลุ้นกลางปีนี้เพิ่มได้กี่บาท

ภาพจากเว็บไซต์ ณ ฤทธิ์ ดีไซน์ แอนด์ บิลท์ จำกัด

ส่อง 11 ปี จากปี 2554 ถึง 2565 ค่าแรงขั้นต่ำ จากนโยบายยกฐาน “300 บาท” ทั่วประเทศ ถึงยุคขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดขึ้นมาแล้ว 6 ครั้ง แรงงานรอลุ้น ครั้งที่ 7 กลางปีนี้

วันที่ 25 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน–รัสเซีย ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รายงานความคืบหน้า

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน (ซ้ายสุด) ร่วมแถลงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ทำเนีบยรัฐบาลวานนี้ (24 มี.ค. 65) ภาพจากเว็บไซต์ thaigov.go.th

ลุ้นปรับค่าแรงกลางปี 65

โดยนายสุชาติ กล่าวว่า ในห้วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลผลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ

จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรุงเทพฯ จะจัดประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และส่งผลประชุมให้คณะกรรมการค่าจ้าง ก่อนที่จะให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นจัดการประชุมพิจารณาในเดือน สิงหาคม-กันยายน 2565 ซึ่งกระทรวงแรงงานจะลงนามเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวกระเส็นกระสายว่า กระทรวงแรงงานเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท/วัน ซึ่งทางภาครัฐก็ออกมาสยบข่าวว่าไม่จริง เพราะการพิจารณาเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งขณะนี้มีคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดจะพิจารณาอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในจังหวัดของตนและนำเสนอต่อไป

สำหรับ สถานการณ์ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย ปรับครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 หรือ 2 ปีมาแล้ว ซึ่งก็ขึ้นไม่มากนัก เมื่อเทียบการขึ้นค่าแรงที่อิมแพคที่สุดเมื่อปี 2555 ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 300 บาท/วัน

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปย้อนดูสถิติการปรับค่าแรงขั้นต่ำของไทย นับตั้งแต่ปลายยุค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนอยู่กับปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

11 ปี ค่าแรงปรับ 6 ครั้ง

ข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ระบุว่า จากปี 2554-2565 มีการปรับค่าแรงไปทั้งหมด 6 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2553 มีผลวันที่ 1 มกราคม 2554

  • ปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 8-17 บาท
  • จังหวัดที่มีค่าแรงสูงสุด คือ ภูเก็ต ที่ 221 บาท/วัน
  • จังหวัดที่มีค่าแรงน้อยที่สุดคือ พะเยา ที่ 159 บาท/วัน
  • กรุงเทพฯและปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) ที่ 215 บาท
  • ชลบุรี ค่าแรง 196 บาท/วัน
  • นครราชสีมา 183 บาท/วัน
  • เชียงใหม่ 180 บาท/วัน

สำหรับการปรับค่าแรงรอบนี้ เกิดขึ้นในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเจ้าตัวกล่าวผ่านเวทีปาฐกถา ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ว่า รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ โดยมีแนวคิดจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10-11 บาท/วันจากเดิมที่จะชึ้นกันแค่ 2-3 บาท

ซึ่งสุดท้าย รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถขึ้นค่าแรงได้ แต่ไม่ใช่ 10 บาททุกจังหวัด โดยเฉลี่ยแล้วการขึ้นค่าแรงครั้งนี้อยู่ที่ระหว่าง 8-17 บาท

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Abhisit Vejjajiva

ครั้งที่ 2 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 มีผลวันที่ 1 เมษายน 2555

  • ปรับค่าแรง 300 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม
  • จังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 40% จากเดิม
  • จังหวัดที่มีค่าแรงน้อยสุด 222 บาท คือ พะเยา
  • ชลบุรี ค่าแรง 273 บาท/วัน
  • นครราชสีมา 255 บาท/วัน
  • เชียงใหม่ 251 บาท/วัน

การขึ้นค่าแรงรอบนี้ ถือเป็นผลจากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งในขณะนั้นชูสโลแกน “เพื่อไทยพร้อมบริหารประเทศ ขอคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคนอีกครั้ง” โดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มาพร้อมกับนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร การันตีไม่เกินปี 2555 ค่าแรง 300 บาทมาแน่นอน

แต่หลังจากประกาศนโยบายดังกล่าว รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็เผชิญแรงเสียดทานจากภาคเอกชน ประกอบกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายปีดังกล่าว ทำให้รัฐบาลยอมถอย ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท 7 จังหวัดแทน ส่วนที่เหลือปรับเพิ่ม 40% แทน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ปราศรัยใหญ่พรรคเพื่อไทย ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 54 ภาพจาก พรรคเพื่อไทย

 

ครั้งที่ 3 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2555 มีผลวันที่ 1 มกราคม 2556 

  • ปรับค่าแรงทุกจังหวัดเป็น 300 บาท/วัน

หลังยื้อมา 1 ปี รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ไม่รออีกต่อไป ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ต้องปรับขึ้น เพราะต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และภาคธุรกิจก็ได้ประโชยน์จากนโยบายทางภาษีที่ออกในขณะนั้นแล้ว จึงมีมติให้ขึ้นค่าแรงดังกล่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลในขณะนั้นจะอ้างว่า เอกชนได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีแล้ว แต่การปรับค่าแรง 300 บาท ทุกจังหวัดครั้งนั้น มีผลสำรวจจากกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ทำให้ต้นทุนรวมของธุรกิจ SMEs เพิ่มขึ้นจาก 11.85% เป็น 16.11% เลยทีเดียว

ครั้งที่ 4 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2559 มีผลวันที่ 1 มกราคม 2560 

  • ขึ้นค่าแรง 5 – 8 – 10 บาท แบ่ง 3 กลุ่มจังหวัด
  • ขึ้น 10 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • ขึ้น 8 บาท 13 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ปราจีนบุรีพระนครศรีอยุธยา พังงา ระยอง สงขลา สระบุรี และสุราษฎร์ธานี
  • ขึ้น 5 บาท 49 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กําแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลกเพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลําปาง ลําพูน
    เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลําภู อ่างทอง อํานาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
  • คงเดิม 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี

หลังว่างเว้นการขึ้นค่าแรงไป 3 ปี นับจากยุครัฐบาลเพื่อไทย เมื่อพ้นวิกฤตการณ์การเมืองชัตดาวน์ ตัดเข้าสู่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ก็ได้ฤกษ์ปรับค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง

แต่คราวนี้ ไม่ได้ปรับขึ้นเอาใจบรรดาหนุ่มกรรมกรและสาวฉันทนาเหมือนรัฐบาลก่อนเท่าไหร่นัก เพราะจากเอฟเฟกต์การปรับค่าแรง 300 บาทพรึ่บทั่วประเทศ ทำให้บรรดาสินค้าและบริการต่าง ๆ ก็จูงมือค่าแรง ขึ้นราคาตามไปด้วย จนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอขึ้นค่าแรงสัก 60 บาททั่วประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับการขานตอบเท่าไหร่

ครั้งที่ 5 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 19 มกราคม 2561 มีผลวันที่ 1 เมษายน 2561 

  • ปรับขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดระหว่าง 5-22 บาท แบ่ง 7 กลุ่มจังหวัด
  • ค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท มี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
  • ค่าแรงขั้นต่ำ 325 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี
    สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • ค่าแรงขั้นต่ำ 320 บาท มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
  • ค่าแรงขั้นต่ำ 318 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก ปราจีนบุรี มุกดาหาร สกลนคร
    และสมุทรสงคราม
  • ค่าแรงขั้นต่ำ 315 บาท มี 21 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ
    บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์
  • ค่าแรง 310 บาท มี 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
  • ค่าแรง 308 บาท มี 3จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

หลังปรับค่าแรงไปแล้วรอบหนึ่ง 1 ปีถัดมา (2561) พลเอกประยุทธ์ ก็มีความคิดที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ประชาชนอีกครั้ง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ โดยเรื่องนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร เพราะมีกระแสข่าวเริ่มต้นว่า จะขึ้น 15 บาททุกจังหวัด แต่แน่นอนนายจ้างย่อมไม่เห็นด้วย จึงเสนอที่ 4.5 บาทแทน เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อในขณะนั้น

สุดท้ายการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง จึงมีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 ขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5-22 บาท ตาม 7 กลุ่มจังหวัด หลังก่อนหน้านี้ประชุมแล้วรอบหนึ่งและไม่ได้ข้อยุตินั่นเอง

สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนากยฯ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ภาพจากเฟซบุ๊กสุชาติ ชมกลิ่น

ครั้งที่ 6 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 มีผล 1 มกราคม 2563

  • ขึ้นค่าแรง 5-6 บาท ทั่วประเทศ
  • 6 บาท ได้ 8 จังหวัดคือ ภูเก็ต ชลบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • ที่เหลือขึ้น 5 บาททั้งหมด

และครั้งล่าสุดการปรับขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดเฉลี่ย 5-6 บาททั่วประเทศ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าแรงครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยการปรับขึ้นครั้งนี้ไม่ได้มีเสียงวิจารณ์จากภาคธุรกิจมากนัก ส่วนใหญ่ออกไปในทางรับได้ด้วยซ้ำ เพราะมองว่ากระทบต้นทุนวัตถุดิบไม่มากนัก


ต้องจับตาดูกันว่า ตามแผนการปรับขึ้นค่าแรงล่าสุดที่ออกมาจากปากของรัฐมนตรีแรงงานคนปัจจุบัน จะขึ้นค่าแรงในอัตราเท่าไหร่ เพราะต้องไม่ลืมจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากขึ้นค่าแรงมาก ภาคธุรกิจก็เดือดร้อนโอดครวญ ทำต้นทุนพุ่ง กระทบสู่ราคาขายปลีกผู้บริโภค แต่ถ้าปรับน้อยไป แรงงานที่เฝ้ารอค่าแรงเหมือนลอยคอกลางมหาสมุทรก็อาจมีชีวิตยากไปอีก