ยูนิโคล่ บริษัทยั่งยืน ใช้พลังงานสะอาด ลดขยะเป็นศูนย์

“ยูนิโคล่ ประเทศไทย” สานต่อปฏิบัติการความยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของ “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง กรุ๊ป” บริษัทแม่จากประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งทำให้โลกน่าอยู่ด้วยพลังของเสื้อผ้าตามแนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) โดยไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมุ่งผลิต ขนส่ง และขายเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น โดยทีมงานทุกสาขาทั่วโลกมีส่วนสำคัญต่อการเดินปฏิบัติภารกิจนี้

ขณะเดียวกัน จะต้องรักษาการเติบโตของธุรกิจ และริเริ่มแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเป็นหนึ่งในบริษัทยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย

ล่าสุด ยูนิโคล่ ประเทศไทย ร่วมมือกับบริษัท รีแอค จำกัด (ReAcc) ภายใต้การดูแลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านสังคม และโลกที่ยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ระยะยาว

“โยชิทาเกะ วาคากุวะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าโควิด-19 จะสร้างความปั่นป่วนทั่วโลก และหลายภาคส่วนกำลังหาวิธีเอาชนะโรคระบาดนี้ แต่ยูนิโคล่ยังคงดำเนินตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน

โดยแผนปฏิบัติการด้านความยั่งยืนภายในปีงบประมาณ 2030 ของฟาสต์ รีเทลลิ่ง ประกอบด้วยความคิดริเริ่มสำคัญ 2 ประการ คือผลิตเสื้อผ้าที่ดีสำหรับผู้คนและสังคม และผลิตเสื้อผ้าที่ดีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับด้านผู้คนและสังคม ยูนิโคล่ ประเทศไทย ร่วมมือกับองค์กรหลายภาคส่วน อาทิ ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต จัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านการทำงานให้แก่ผู้บกพร่องทางสติปัญญา เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ทั้งยังร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนงานด้านวิชาการ โดยความร่วมมือกันในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันสร้างแผนงานธุรกิจที่มุ่งเน้นกิจกรรมด้านความยั่งยืน ภายใต้งาน CHULA EXPO 2022 (งานจุฬาฯ วิชาการ’65)

ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม ฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของเรามีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งยูนิโคล่ ประเทศไทย ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ร้านค้า และสำนักงาน 90% นอกจากนั้นยังลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ไฟฟ้า 100% ที่ร้านของยูนิโคล่

โดยทำงานร่วมกับ ReAcc ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซื้อขายพลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจกในเครือ ปตท. ด้วยการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates (RECs) จาก ReAcc ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ทดแทนมาจากแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ในร้านยูนิโคล่ทุกสาขาในประเทศไทย ซึ่งเราตั้งเป้าชดเชยการปล่อยคาร์บอน 100% จากไฟฟ้าที่ร้านสาขาและสำนักงานภายในปี 2023 นอกจากนั้น ยูนิโคล่ ประเทศไทย ตั้งใจลดใช้วัตถุดิบใหม่ 20% โดยเพิ่มสัดส่วนใช้วัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ 50%

ภายใต้ภารกิจสร้างขยะเป็นศูนย์ (zero waste) ซึ่งเราร่วมมือกับ SCGP ด้วยการนำกล่องกระดาษเหลือใช้ตามสาขาต่าง ๆ กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เฟอร์นิเจอร์กระดาษ และกระดาษพิมพ์เขียน

“โยชิทาเกะ วาคากุวะ” กล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรรมผลิตเสื้อผ้าเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมาก โดยเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำประมาณ 2,700 ลิตร และกางเกงยีนส์ 1 ตัวใช้น้ำประมาณ 10,000 ลิตร ด้วยเหตุนี้ ยูนิโคล่ ประเทศไทย จึงพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรม

ในการแต่งผิวผ้ายีนส์ด้วยกระบวนการ BlueCycle ซึ่งเป็นการแต่งผิวผ้าด้วยเลเซอร์แทนกระดาษทราย สามารถลดปริมาณน้ำที่ใช้ในกระบวนการซักฟอกและแต่งผิวผ้ายีนส์ได้ถึง 99%

ในฐานะหนึ่งในบริษัทเครื่องแต่งกายชั้นนำระดับโลก ยูนิโคล่ ประเทศไทย เห็นว่าการสร้างความยั่งยืนเป็นหน้าที่ของเราที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมในเชิงรุก และช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เราจึงให้ความสำคัญในทุกด้าน

ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผู้คน และสังคม รวมไปถึงการดึงแรงสนับสนุนจากสังคม และทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มาจากภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่มีเป้าหมายในการสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศไทยร่วมกัน

“ประสงค์ อินทรหนองไผ่” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวเสริมว่า การให้บริการซื้อขายพลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มให้แก่บริษัทที่ต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนของ ReAcc เป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวได้ง่าย
และสะดวก

ReAcc พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการใช้เชื้อเพลิงรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในกลุ่มธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตของ ปตท. โดยมีบริการหลัก 3 อย่าง ได้แก่ การซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC), การซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ power purchase agreement (PPA) และการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนกับรถยนต์ไฟฟ้า

“ความร่วมมือกับยูนิโคล่ ประเทศไทย ครั้งนี้ ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยเห็นตัวอย่าง การทดแทนการใช้พลังงานสิ้นเปลือง ด้วยการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืนของประเทศสู่เวทีโลกในอนาคตต่อไป”

“ดนัยเดช เกตุสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า SCGP มี ESG เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคม บนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้

ยูนิโคล่ ประเทศไทย มีวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นที่สอดคล้องกับ SCGP เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกวัสดุเหลือใช้ตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้การดำเนินการของแบรนด์ SCGP Recycle

ด้วยการจัดเก็บกล่องกระดาษเหลือใช้ของยูนิโคล่ ประเทศไทย นำมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์กระดาษที่แข็งแรง และสวยงาม เพื่อส่งมอบให้ค่ายผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี นำไปใช้ประโยชน์ใหม่

และอีกส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นกระดาษพิมพ์เขียน เพื่อใช้งานในยูนิโคล่ 32 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพราะสามารถจัดเก็บกล่องกระดาษเหลือใช้ได้แล้วกว่า 97 ตัน พร้อมขยายผลความร่วมมือไปยังยูนิโคล่สาขาอื่น ๆ ทั่วประเทศ


นับว่า ยูนิโคล่ ประเทศไทย มุ่งสร้างสังคมให้ดีกว่าเดิม ผ่านแนวคิดไลฟ์แวร์ (LifeWear) ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ในการมุ่งสู่หนึ่งในบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการเป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นจากมุมมองของผู้คน ชุมชน และโลก