ดุริยางคศิลป์ มหิดล มุ่งสู่ Top 25 มหาวิทยาลัยดนตรีโลก

ดุริยางคศิลป์ มหิดล ดนตรี

หลังจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะการแสดง (performing arts) ดีที่สุดเป็นอันดับ 47 ของโลก จากการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject 2022 ภายใต้การขับเคลื่อนของ “ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ” คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ที่ใช้ประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิกวงออร์เคสตร้าที่สหรัฐอเมริกา

ทั้งยังกวาดรางวัลการประพันธ์ดนตรีคลาสสิกระดับโลกมาแล้วนับไม่ถ้วน ดังนั้น จึงถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยก้าวสู่ top 50 โดยสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและคุณภาพของสถาบันการศึกษาทางด้านดนตรีที่พร้อมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติ

“ดร.ณรงค์” เปิดเผยว่า การได้รับอันดับที่ 47 ครั้งนี้เกิดจากการสร้างผลงานในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังเป็นสถานศึกษาแรกใน Southeast Asia ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรครบทุกหลักสูตร

ณรงค์ ปรางค์เจริญ
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ

ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก โดยสถาบัน MusiQuE (Music Quality Enhancement) ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างของสมาคมสถาบันดนตรีของยุโรป (Association of European Conservatories: AEC) และปรับตัวมาเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ด้านการพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษาดนตรีในภูมิภาคยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ

อีกทั้งผ่านมาเราได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของ International Benchmarking Group ซึ่งประกอบด้วย Haute Ecole de Musique de Geneve, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์, New England Conservatory, University of Music and Performing Arts (Graz) และอีกมากมายจนทำให้ดุริยางคศิลป์เริ่มมีคู่เทียบในระดับนานาชาติ และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้

ตั้งเป้าสู่ Top 25 ของโลก

“ดร.ณรงค์” กล่าวต่อว่า เป้าหมายต่อไปจะต้องทำอันดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม เราตั้งเป้าว่าจะเข้าไปอยู่ Top 25 ให้ได้ แต่อาจจะใช้เวลา 2-3 ปี เพราะการขึ้นไปอันดับสูงเป็นเรื่องยาก หรือ “ยิ่งสูงยิ่งยาก” เพราะต้องแข่งกับหลาย ๆ สถาบันทั่วโลก เนื่องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นสถาบันดนตรีโดยเฉพาะ

ขณะที่สถาบันอื่น ๆ มีความหลากหลาย ถ้าด้าน performing arts จะมีสาขาละคร สาขานาฏศิลป์ และสาขาศิลปะในด้านอื่น ๆ ด้วย ฉะนั้น จึงต้องมีการวางแผนในการจัดการอย่างเป็นระบบ

“เราต้องพยายามหนักขึ้นในแง่ของอินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษาไปแสดงในงานเทศกาลดนตรีทั้งไทยและต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงในแง่วิชาการต้องสร้างคอนเน็กชั่น ต้องนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากต่างประเทศเข้ามาผนวกใช้ในประเทศไทย

เพราะเรามีเป้าหมายใหญ่อีกหนึ่งเรื่อง คือ การผลักดันให้จังหวัดนครปฐมเป็นเมืองดนตรี (city of music) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (creative city) ของยูเนสโก”

นครปฐม “เมืองดนตรี”

ทำไมถึงต้องดันนครปฐมเป็นเมืองดนตรี ?

“ดร.ณรงค์” ตอบคำถามนี้ว่าเพราะนครปฐมมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านดนตรี ซึ่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม มีหอประชุมที่เป็นหอแสดงดนตรีดีที่สุดในประเทศไทย เพราะมีระบบเสียงที่สมบูรณ์แบบ ทั้งยังทันสมัยที่สุด พูดง่าย ๆ เราผลักดันเรื่องนี้มา 2-3 ปีแล้ว พยายามนำเสนอและเชื่อมโยงการบริการชุมชนผ่านการจัดกิจกรรมร่วมกับเด็ก เยาวชน ฯลฯ

ทั้งนี้ หากได้รับการรับรองเป็นเมืองดนตรีจากยูเนสโก ต่อไปดนตรีไทยจะกลายเป็นดนตรีโลกที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้แก่ประเทศจากการเป็นศูนย์กลางดนตรีอุษาคเนย์ และเกิด economic impact หลายด้าน

เช่น อาจจะมีโรงงานผลิตเครื่องดนตรี โรงงานผลิตเปียโน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทย เพราะสิ่งสำคัญคือต้องเกิดประโยชน์กับชุมชนและสังคมให้มากที่สุด

“ดร.ณรงค์” กล่าวอีกว่า การจะผลักดันให้มีงานเทศกาลดนตรีที่คนต่างชาติแห่เข้ามาดู เพื่อสร้างเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศอย่างเบลเยียมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อย่างที่เบลเยียมเขามีงาน Tomorrowland Belgium ซึ่งเป็นงานเทศกาลดนตรีเต้นรำอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในโลก

เขาเพิ่งจัดทำไม่กี่ปีแต่ดังมาก เพราะมีระบบจัดการที่ดี แต่สำหรับประเทศไทยเราเองก็มีเทศกาลดนตรีเยอะ เรามีศักยภาพ แต่คอนเน็กชั่นยังน้อยจึงยังไปไม่ถึงระดับโกลบอล

“ผมถึงเชื่อว่าธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ตลาดเราใหญ่ที่สุดในอาเซียน ใหญ่กว่าสิงคโปร์, มาเลเซีย แต่ยังไปไม่ถึงระดับเอเชีย เพราะเรายังขาดทุนสนับสนุนและความนิยมเมื่อเทียบกับจีน เขามีการลงทุนที่สูง ทุก ๆ คอนเทนต์ที่สร้างออกมามักจะสอดแทรกวัฒนธรรมที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์อยู่ด้วย

ขณะที่เกาหลีเขาตั้งเป้าเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นโกลบอล ดังนั้น เราตามเขาไม่ทัน ส่วนอาชีพศิลปินตลาดไทยยังเล็ก เพราะถ้าเป็นที่สหรัฐอเมริกาแต่งเพลง 1 เพลง รายได้หลักล้านบาท นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ศิลปินต้องคิดงานที่ลึกซึ้ง และเครียดกับงานมาก”

ตอนนี้พยายามคุยกับภาครัฐว่าพอจะสนับสนุนเราเรื่องอะไรได้บ้าง เพราะจริง ๆ รัฐมีนโยบายขับเคลื่อนด้านซอฟต์พาวเวอร์อยู่แล้ว แต่ทั้งนั้นต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมในหลาย ๆ ภาคส่วนถึงจะไปได้ไกลและเร็วเพราะผมเชื่อว่าในแง่ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ไทยยังไปได้ไกลอีก

เพราะทุกคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ต่างรู้ว่าคอนเทนต์ของเราดี และดนตรีของเราสามารถไปไกลได้ แต่เราไม่มีทุนที่มากพอ ไม่ได้รับการผลักดันมากพอ จะให้ไปคนเดียวเป็นเรื่องยากมาก

“ผมคิดว่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เรามาถูกทาง และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ เมื่อมีการประชุมคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ทั่วประเทศ ผมจะนำเรื่องนี้ไปแชร์ ผมว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีมหาวิทยาลัยเดียวติด top 50 เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแปลว่าประเทศไทยไม่ได้เจริญ การศึกษาไม่ก้าวหน้า เพราะอย่าลืมว่าเรายังตามสิงคโปร์ในเรื่องการศึกษา”

บัณฑิตดุริยางคศิลป์ไม่ตกงาน

ที่สำคัญ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์เปิดสอนหลายหลักสูตร โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาตรีมี 10 กว่าสาขา เกี่ยวกับดนตรีแจ๊ซ, ดนตรีคลาสสิก, ละครเพลง, ธุรกิจดนตรี ฯลฯ มีนักศึกษาประมาณ 1,300 คน ในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติ total อยู่ที่ 100 เป็นนักศึกษาจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, อเมริกา, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, สิงคโปร์, เวียดนาม เป็นต้น

นักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนกับเรา อาจเป็นเพราะมาจากการที่เราพยายามสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก หรือบางคนอาจหาสิ่งที่แตกต่างจากที่ประเทศเขามี ขณะที่บางคนการศึกษาในประเทศต้นทางของเขาอาจไม่ได้เปิดมาก เขาจึงเลือกมาเรียนประเทศไทย

เนื่องจากแต่ละปีเราผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดราว 200-300 คน และเรตการตกงานมีน้อยมาก เพราะเราไม่ได้กดดันนักศึกษาว่าจบไปทุกคนต้องสร้างงาน แต่เรามี carreer path ให้เขา พอเวลาจบไปเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาต้องการได้ทันที

อีกทั้งเรายังมีคอนเน็กชั่นกับองค์กรต่าง ๆ ค่อนข้างมาก มีรุ่นพี่ชวนรุ่นน้อง บางคนจบไปได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ไปเป็นนักร้อง โปรดิวเซอร์ที่ต่างประเทศก็มี บางคนก็เป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรี จึงไม่ค่อยประสบปัญหาการตกงาน

และที่สำคัญแต่ละปียังมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น แสดงว่าเด็กให้ความสนใจด้านดนตรีเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่สถาบันเราแต่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย ส่วนในแง่ของเอ็นเตอร์เทนเมนต์ก็เช่นกัน ทั้งนั้น ขอยืนยันว่าไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ยังไปได้อีกไกล

“ผมคิดว่าเด็กที่มีพรสวรรค์ หรืออยากทำงานด้านนี้ ควรได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ไม่ว่าจะผู้ปกครองเอง หรือภาครัฐก็ตาม เพราะเราจะเห็นตัวอย่างเด็กไทยที่ไปประสบความสำเร็จระดับโลกมากมาย”