ไต้หวันเปิดรับคนไทยทำงาน 2 หมื่นคน เช็กวิธีสมัครและค่าจ้างที่นี่

ตลาดแรงงานไต้หวันเปิดรับแรงงานไทยภาคการผลิตและภาคก่อสร้างจำนวนมาก เนื่องจากไต้หวันกำลังพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การก่อสร้างสนามบิน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และโรงไฟฟ้า

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานไต้หวันเป็นอีก 1 ตลาดที่เริ่มเปิดรับแรงงานไทยกลับเข้าไปทำงานในประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย โดยข้อมูลจากสำนักงานแรงงานไทย เมืองไทเป (สนร.ไทเป) และสำนักงานแรงงานไทย เมืองเกาสง (สนร.เกาสง) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 16 มิถุนายน 2565 มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ทั้งสิ้นจำนวน 2,374 ราย ยื่นเอกสารขอจ้างแรงงานไทย จำนวน 20,195 ราย แบ่งเป็นแรงงานไทยภาคการผลิต 15,941 ราย ภาคก่อสร้าง 4,099 ราย ภาคเกษตร 83 ราย และผู้อนุบาล 67 ราย

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไต้หวันมีมาตรการให้แรงงานต่างชาติ เมื่อเดินทางไปถึงจะต้องกักตัว 3 วัน และสังเกตอาการอีก 4 วัน รวมวันกักตัวเป็น 7 วัน ตามมาตรการของศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวัน (CECC) โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มิถุนายน 2565) มีแรงงานไทย จำนวน 39 คน เดินทางไปทำงานเป็นพนักงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กับนายจ้างต่างประเทศ Pan Jit International ซึ่งประกอบกิจการประเภทอุตสาหกรรม การผลิต ซ่อมแซมและติดตั้งเครื่องจักรกลไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์

โดยมีระยะเวลาการทำงาน 3 ปี มีรายได้เดือนละ 25,250 เหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 29,886 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) โดยก่อนเดินทางแรงงานทั้งหมดได้ผ่านการอบรมคนหางานก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหางาน และซื้อกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ นอกจากนี้จะมีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคก่อสร้างในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2565 อีกกว่า 90 คน

“คาดว่ายังมีความต้องการแรงงานทั้งภาคการผลิตและภาคก่อสร้างจำนวนมาก เนื่องจากไต้หวันมีการสร้างและพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทั้งการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร อาคารท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน รถไฟฟ้าสายสีเขียว และโรงไฟฟ้า” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปทำงานไต้หวันและประเทศอื่น ๆ เลือกเดินทางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่

  1. บริษัทจัดหางานจัดส่ง
  2. กรมการจัดหางานจัดส่ง
  3. เดินทางด้วยตนเอง
  4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน
  5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

“ในกรณีของไต้หวัน มักเป็นการไปทำงานโดยบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง ขอให้คนหางานตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตทาง www.doe.go.th/ipd นอกจากนี้ยังแนะนำให้คนหางาน สมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพราะหากประสบปัญหาในต่างประเทศ อาทิ เจ็บป่วย ถูกเลิกจ้าง ถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ ประสบปัญหาจากภัยสงคราม โรคระบาด หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตในต่างประเทศ หลังตรวจสอบและพบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์สมาชิกกองทุนที่ยังอยู่ในความคุ้มครองจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ” นายไพโรจน์กล่าว