ฟิลิปส์-ม.เชียงใหม่ ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์

ศูนย์เป็นเลิศ1

บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ “CMEx Lifelong Learning Center” ขึ้นเป็นแห่งแรกในภาคเหนือ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์ที่ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาค

“รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล” ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ CMEx Lifelong Learning Center จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการฝึกอบรมทางด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ

ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์, การฝึกอบรมการใช้เครื่องมือแพทย์เฉพาะทาง เป็นต้น เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ในภูมิภาคมีจำนวนจำกัด โดยทางศูนย์มีเป้าหมายจัดโครงการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 2 โครงการ และให้ความรู้สำหรับประชาชนทั่วไป 2 โครงการ

“นอกจากนี้ ยังมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนามด้วย เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นผู้นำทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้หลาย ๆ ครั้งประชาชนในกลุ่มประเทศ CLMV นิยมเดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย

รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล, นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์

ดังนั้น การผลักดันให้ศูนย์แห่งนี้สามารถฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศ CLMV จะช่วยรองรับการเป็น medical hub ของไทยในภูมิภาคอาเซียนได้ ซึ่งก็อยู่ในแผนที่เราตั้งเอาไว้อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต”

สำหรับการฝึกอบรมของศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (CMEx Lifelong Learning Center) ในเฟสแรกดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว โดยมุ่งเน้นการดูแลและป้องกันเกี่ยวกับโรคหัวใจ เนื่องจากปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย

โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึงร้อยละ 12 จากสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 17.9 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 32 จากผู้เสียชีวิตทั้งหมด

“นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์” ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดกลายเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมีผู้ป่วยกว่า 350,000 คน เสียชีวิตกว่า 6 หมื่นรายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 ราย

และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และภาวะหัวใจล้มเหลว สำหรับประชาชนทั่วไปวิธีสังเกตง่าย ๆ ถึงสัญญาณของโรคหัวใจ คือ อาการเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้

ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างการเรียนการสอนในเฟสแรก เรามุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับแพทย์ทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทการใช้เครื่องตรวจวินิจฉัยแบบคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือเครื่องอัลตราซาวนด์ (ultrasound) สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

ทั้งนี้ เนื่องด้วยในปัจจุบันเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์มีใช้กันอย่างแพร่หลาย ด้วยเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ราคาไม่แพง เป็นการตรวจที่ไม่มีรังสี

ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็ก พกพาได้ สามารถตรวจ ณ จุดให้การดูแลรักษาข้างเตียงผู้ป่วยได้ จึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าแพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่อายุรแพทย์โรคหัวใจ สามารถฝึกฝนให้ตรวจอัลตราซาวนด์แบบพกพา point of care cardiac ultrasound ได้จนชำนาญเพียงพอ

กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจทางคลินิก โดยช่วยยืนยันการวินิจฉัยเบื้องต้นในผู้ป่วยราว 50% และเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยแรกให้ถูกต้องได้ถึง 23%

อย่างไรก็ตาม พบว่าในปัจจุบันแพทย์ทั่วไปจำนวนมากยังขาดทักษะและความชำนาญในการใช้เครื่องมือดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทางศูนย์การเรียนรู้จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งกระจายองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพให้แพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ช่วยในการวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที

นอกจากการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังมีแผนต่อยอดการฝึกอบรมในสาขาอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การจัดฝึกอบรมการช่วยชีวิตพื้นฐาน (basic life support) ด้วยการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนมากเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า sudden cardiac arrest

จากสถิติพบว่าในแต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 ราย ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ เหมือนโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบอื่น ๆ แต่หากประชาชนรู้ว่าหากพบผู้ป่วยหมดสติจะช่วยเหลือพื้นฐานได้อย่างไรก่อนที่ความช่วยเหลือทางการแพทย์จะมาถึง ก็สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยได้

“วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์” ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟิลิปส์ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพเรามีเป้าหมายอยากให้การสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมทุกโครงการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หรือการซัพพอร์ตบุคลากรทางการแพทย์

เนื่องจากบริษัทเราตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านเฮลท์แคร์ โดยผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมของเราส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพ วิถีชีวิต เช่น ไดร์เป่าผม, แปรงโกนหนวด, แปรงสีฟัน, ขวดนม ฯลฯ

นอกจากนั้นมีเทคโนโลยีทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์แบบพกพา Philips Lumify ซึ่งเรามอบให้กับทางศูนย์เพื่อใช้สำหรับการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการอัพเดตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอัลตราซาวนด์จากที่เราเคยใช้เครื่องขนาดใหญ่

แต่ตอนนี้เราสามารถย่อเครื่องอัลตราซาวนด์ให้เล็กลงอยู่ในหัวตรวจเพียงอันเดียว แล้วยังสามารถเชื่อมต่อกับแท็บเลต พร้อมทั้งมีโซลูชั่นส่งข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย

เครื่องอัลตราซาวนด์แบบพกพา Philips Lumify มีประโยชน์อย่างมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เพราะสามารถตรวจติดตามอาการปอดและหัวใจของผู้ป่วยโควิด ทั้งยังเคลื่อนย้ายไปยังวอร์ดผู้ป่วยได้ ทำความสะอาดง่าย สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้

เราจึงเห็นว่าการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย และเราหวังว่าศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่จะขับเคลื่อนวงการแพทย์ และผลักดันศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV

“วิโรจน์” กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความต้องการเครื่องมือแพทย์นั้นสูง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย และอีกหลาย ๆ ปัจจัย ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพทั่วโลกเติบโต

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์ ทำให้ผลิตไม่ทัน ทั้งยังมีเรื่องของปัจจัยด้านการขนส่ง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการขนส่ง ปัจจัยด้านภาษี และอื่น ๆ ซึ่งฟิลิปส์ได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องช่วยหายใจที่มีความต้องการสูงที่สุด

“ตอนนี้เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติบ้างแล้ว ดังนั้น นวัตกรรมที่เรามีอยู่เราจะพยายามนำออกมาช่วยสังคมเพื่อขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทย ซึ่งนับจากนี้กลยุทธ์การทำตลาดในไทยของฟิลิปส์ยังคงให้ความสำคัญหลักกับนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับตลาดทั่วโลกเพราะภาพรวมต่อจากนี้จะเน้นไปที่ด้านดิจิทัลมากขึ้น เช่น telehealth, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, cloud computing เป็นต้น”