ทวงเงินประกันสังคม 6 หมื่นล้าน คืนผู้ประกันตน คำถามที่ต้องการคำตอบ

ประกันสังคม

สืบเนื่องจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เพื่อยื่นข้อเสนอ 9 ข้อสำหรับการประกันสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต

โดย 1 ใน 9 ข้อมีความส่วนหนึ่งระบุว่า รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และรัฐต้องนำส่งเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ครบตามจำนวนพร้อมดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์ของกองทุนประกันสังคมและผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันรัฐค้างจ่ายเงินสมทบประมาณ 60,000 ล้านบาท

คำถามจึงเกิดขึ้นว่ารัฐนำเงินจำนวนนี้ไปทำอะไร ?

เมื่อไหร่รัฐจะใช้เงินจำนวนนี้ ?

และเมื่อรัฐค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมถึง 60,000 ล้านบาท มิทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน เสียผลประโยชน์จากการนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนตามพอร์ตต่าง ๆ หรอกหรือ ?

คำถามที่ต้องการคำตอบเหล่านี้ เมื่อเงี่ยหูฟังจากภาครัฐกลับไม่ได้รับคำตอบใด ๆ ทั้งสิ้น ตรงข้ามกลับมีเสียงเล็ดลอดออกมาให้ได้ยินหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า…สงสัยรัฐบาลคงไม่มีตังค์

รัฐบาลถังแตกเสียแล้ว

“อาจารย์ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์” นักวิชาการทางด้านกฎหมายแรงงาน และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจบอกว่า ถ้าดูจากข้อมูลในอดีตพบว่าการที่รัฐค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะปี 2555 รัฐเคยค้างชำระเงินสมทบประกันสังคมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยอ้างว่านำเงินส่วนนี้ไปบรรเทาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554

“ส่วนในปี 2562 ก็มียอดค้างชำระเงินสมทบอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่มาชำระในปี 2563 และ 2564 รวม ๆ แล้วประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับปี 2565 รัฐอ้างว่านำเงินจำนวนนี้ไปใช้ในการบริหารจัดการมหันตภัยไวรัสโควิด-19”

ฉะนั้น ในมุมมองของ “อาจารย์ธำรงศักดิ์” มองว่ารัฐต้องเห็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะ “ประกันสังคม” เพราะพอร์ตของเงินประกันสังคมมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปลงทุนตามพอร์ตต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“ในความคิดเห็นของผม กองทุนประกันสังคมจะเกิดประโยชน์กับประชาชนคนทำงานที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมจริง ต้องจัดสรรงบประมาณมาให้ โดยไม่ควรจะมีการค้างจ่ายอย่างที่เป็นมาในอดีต และปัจจุบัน ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการขาดวินัยของรัฐในการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม เพราะเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับผลประโยชน์ของสมาชิกกองทุนประกันสังคมโดยตรง จนทำให้ประโยชน์ในส่วนนี้หายไปเรื่อย ๆ”

“ที่สำคัญอีกอย่างคือ การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม โดยให้นำเงินบำนาญชราภาพออกมาใช้ก่อน หรือนำไปใช้เป็นหลักประกันกับสถาบันการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหาการขาดวินัยในการใช้เงิน จนทำให้เกิดการสร้างหนี้สินต่อไปในบั้นปลาย เพราะเจตนารมณ์เดิมในการตั้งประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ 60 ปี มีเบี้ยชราภาพในการดูแลตัวเองไปจนกระทั่งเสียชีวิต”

ดังนั้น ทางออกสำหรับเรื่องนี้ “อาจารย์ธำรงศักดิ์” มองว่า รัฐควรพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับที่ตลาดต้องการ เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาสให้กับคนทำงาน หรือปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ด้วยการให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร เพื่อผลิตทรัพยากรบุคคลที่สามารถทำงานได้จริง และตรงกับความต้องการขององค์กรและบริษัทต่าง ๆ

“ตรงนี้ไม่เพียงจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนมีงานทำ ยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ จนทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับผู้ประกันตนทุกคน”

ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ รัฐบาลมีภาระงบประมาณค้างจ่ายไม่เฉพาะแต่ประกันสังคมเท่านั้น แต่ยังค้างจ่ายหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่ง รวมทั้งรัฐวิสาหกิจด้วย หากนับตัวเลขรวม ๆ น่าจะหลายแสนล้านบาท และผมเชื่อว่าตัวเลขจริง ๆ ที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อ้างว่ารัฐค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 60,000 ล้านบาทนั้น

“ผมมีความเชื่อว่าจริง ๆ แล้วรัฐน่าจะค้างจ่ายถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเลขถึงออกมาเท่านี้ แต่กระนั้น ต้องยอมรับความจริงว่าเงินกองทุนประกันสังคมมีมากกว่า 2 ล้านล้านบาท และเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปลงทุนตามพอร์ตต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่า แต่ตอนนี้ นับจากปัญหาโควิด-19 ระบาด จนมาเจอเหตุการณ์วิกฤตยูเครน-รัสเซีย เงินเฟ้อ และความผันผวนของราคาน้ำมัน ก็น่าจะทำให้เงินประกันสังคมที่ไปลงตามพอร์ตต่าง ๆ ลดน้อยลงไปด้วย”

“ที่สำคัญ ต้องอย่าลืมว่าเงินจำนวนนี้สามารถนำไปจัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือสถาบันการเงินของคนงาน ตามกรอบของคณะทำงานประกันสังคมที่เห็นชอบมาก่อน เพราะจะเป็นแหล่งทุนให้แก่ผู้ประกันตนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงการออมเงินในระยะยาวด้วย”

“ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะนำเงินส่วนนี้ไปจัดตั้งสถาบันการแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลของประกันสังคม เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกัน รักษา ฟื้นฟูร่างกาย สุขภาพ และวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงาน ทั้งนั้นเพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริการประชาชนทั่วไป ตรงนี้ถือเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนมากกว่า แต่เมื่อรัฐค้างจ่ายเงินเช่นนี้ คำถามจึงเกิดขึ้นว่าแล้วเมื่อไหร่สถาบันการเงิน, สถาบันทางการแพทย์ของประกันสังคมจะเกิดขึ้นจริง”


ตรงนี้จึงเป็นคำถามในคำตอบที่ต้องการสะท้อนไปถึง “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่า…ถึงเวลานำเงินค้างจ่ายประกันสังคมกว่า 60,000 ล้านกลับคืนผู้ประกันตนได้หรือยัง ?