วิธีเช็กยอดเงินชราภาพประกันสังคม ม.33/39 ทำเองง่าย ๆ ผ่านออนไลน์

ภาพจาก pexels

เปิด 3 วิธีเช็กยอดเงินชราภาพ กองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 หลัง ครม.อนุมัติร่างกฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินบางส่วนมาใช้ก่อนได้ 

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) โดยระบุเงื่อนไขไว้ ดังนี้

ขอเลือก

กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ

ขอคืน

กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

ขอกู้

ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนประมาณ 5 ล้านคน คนละ 30,000 บาท สำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการสำรองเงินจำนวน 150,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้จำนวน 6,750 ล้านบาท พร้อมทั้งเสียผลตอบแทนการลงทุนในอัตราร้อยละ 4.5 เป็นเวลา 1 ปี

ในระหว่างรอความชัดเจนเรื่องขั้นตอนและวงเงิน หลายคนคงอยากทราบว่าขณะนี้ตัวเองมีเงินสมทบในกองทุนชราภาพอยู่เท่าไร “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวม 3 วิธีตรวจสอบที่สามารถทำได้เองง่าย ๆ ผ่านออนไลน์

เช็กผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม

1. เริ่มจากการคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม sso.go.th

2. คลิก “เข้าสู่ระบบผู้ประกันตน/สมัครสมาชิก” ที่อยู่บริเวณมุมขวา

3. สำหรับผู้ที่สมัครสมาชิกไว้แล้วให้ล็อกอินเข้าสู่ระบบได้เลย แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้สมัครสมาชิกให้คลิก “สมัครสมาชิก” แล้วกรอกข้อมูลที่จำเป็นให้ครบถ้วน

4. เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ให้คลิก “ถัดไป” เพื่อเข้าสู่ขั้นตอน “ยืนยันตัวตน” ด้วยระบบ OTP

5. เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ให้กลับมาใส่รหัสผู้ใช้งาน/รหัสผ่าน แล้วคลิกเข้าสู่ระบบ

6. คลิก “ผู้ประกันตน”

7. คลิก “การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ

8. ระบบจะแสดงเงินสมทบของผู้ประกันตน เงินสมทบของนายจ้าง เงินสมทบของรัฐ และยอดเงินรวม (รายปี)

กรณีที่จ่ายเงินสมทบกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพไม่ถึง 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพมีจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ

ตัวอย่าง ผู้ประกันตนได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท คำนวณดังนี้
ถูกหักเงินสมทบ 5% ของค่าจ้าง (5×10,000)/100 = 500 บาท
กรณีว่างงาน 0.5% (0.5×10,000)/100 = 50 บาท
กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 3% (3×10,000) / 100 = 300 บาท
ผู้ประกันตนอายุ 2 ปี และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ขณะส่งเงินสมทบได้ 2 เดือน

ประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพจะได้รับ 300×2 = 600.00 บาท

การคำนวณเงินเดือนของผู้ประกันตน ทางสำนักงานประกันสังคมจะคำนวณจากเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

หมายเหตุ : ข้อมูลเบื้องต้นเป็นข้อมูลที่มีในระบบ ณ ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะไม่รวมยอดที่อยู่ระหว่างการบันทึก เงินสมทบค้างชำระหรือข้อขัดข้องอื่น ๆ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา

เช็กผ่านแอปพลิเคชั่น SSO Connect

นับเป็นอีกวิธีที่สะดวกมากเนื่องจากสามารถทำได้ง่าย ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่อย่างแรกเลยต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นลงมือถือก่อน

  • สำหรับผู้ใช้งานระบบ iOS ดาวน์โหลดได้ที่นี่
  • สำหรับผู้ใช้งานระบบ Android ดาวน์โหลดได้ที่นี่ 

เมื่อดาวน์โหลดแอปเรียบร้อยแล้ว ให้ลงชื่อเข้าสู่ระบบโดยกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และรหัสผ่าน (ใช้รหัสเดียวกับที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์)

แต่หากเพิ่งเข้าใช้งานครั้งแรก ให้คลิก “ลงทะเบียน” แล้วกรอกข้อมูลส่วนตัวตามขั้นตอนจึงจะสามารถเข้าสู่ระบบได้

เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว หน้าจอแรกจะแสดงยอดเงินสมทบชราภาพในช่องสีน้ำเงิน และหากคลิกไปที่ “เงินสมทบชราภาพ” จะมีการแจกแจงรายละเอียดเงินสะสมรายปี ทั้งจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล รวมถึงยอดรวม

 

เช็กผ่าน LINE

อีกวิธีที่ง่ายใช้แค่ปลายนิ้ว คือ การเพิ่มเพื่อนในไลน์ ID @ssothai

จากนั้นให้เลือกกด “ลงทะเบียนรับสิทธิแจ้งเตือน” ที่มุมล่างขวามือ

ตามด้วยการลงทะเบียนเข้าใช้งาน โดยกรอก Username และ Password เหมือนกับที่เคยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอปพลิเคชัjน SSO Connect

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาก่อน ให้คลิกสมัครสมาชิก กรอกข้อมูลให้ครบตามขั้นตอน จึงจะสามารถเข้าระบบได้

เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้วจะปรากฏข้อมูล “เงินสมทบชราภาพ”