ครม.ไฟเขียวดึงเงินชราภาพในอนาคตมาใช้ เตรียมสำรองเงิน 1.5 แสนล้าน

บำเหน็จชราภาพ

ครม. อนุมัติ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ปรับสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม สามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน คาดมีผู้ขอใช้สิทธิ 5 ล้านคน เตรียมสำรองเงิน 1.5 แสนล้าน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้)

รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90 วันเป็น 98 วัน เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม “อายุ 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “อายุ 65 ปีบริบูรณ์”

1. การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) 

    • กรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก)
    • กรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน)
    • ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนประมาณ 5 ล้านคน คนละ 30,000 บาท สำนักงานประกันสังคม จะต้องดำเนินการสำรองเงิน จำนวน 150,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้กองทุนประกันสังคมสูญเสียรายได้จำนวน 6,750 ล้านบาท พร้อมทั้งเสียผลตอบแทนการลงทุนในอัตราร้อยละ 4.5 เป็นเวลา 1 ปี

2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ทั้งนี้ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 1,300 ล้านบาท

  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ทั้งนี้ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 500 ล้านบาท
  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้างจากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วัน เป็นระยะเวลา 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยประมาณ 300 ล้านบาท
  • ประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรโดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน ทั้งนี้จะเพิ่มค่าใช้จ่าย โดยประมาณ 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถเลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติมโดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุน แต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อน ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว เนื่องจากการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการจ่ายเงินบำนาญชราภาพที่ต้องข่ายให้ตลอดชีวิต

รมว.แรงงานบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตน

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (10 พฤษภาคม 2565) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมที่ใช้บังคับในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตนนั้น กระทรวงแรงงานจึงเสนอกฎหมายดังกล่าวเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

นายสุชาติ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ฉบับนี้ ได้แก่

    1. การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
    2. การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
    3. การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ
    4. ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา 39
    5. แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่าย หนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง
    6. การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

“การปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมในครั้งนี้ จะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสังคมที่มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ รวมทั้งเป็นการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมรองรับสังคมสูงอายุอีกด้วย” นายสุชาติกล่าวตอนท้าย