
ผู้เขียน : กษมา ศิริกุล
“วังเวียง” เป็นเดสติเนชั่นหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสายแอดเวนเจอร์มุ่งเดินทางมาชม เพราะมีทั้งความงดงามของภูเขาหินปูนตามธรรมชาติ และกิจกรรมที่ต้องใช้เอนเนอร์จี้สูงมากมาย ทั้งปีนเขา เล่นน้ำ ที่บลู ลากูน (Blue Lagoon) ล่องแพ ล่องห่วงยาง ล่องแก่ง ที่แม่น้ำซอง (Nam Song River) ลอดถ้ำ (ถ้ำน้ำและถ้ำช้าง) หรือแม้แต่การขึ้นบอลลูนยักษ์ ชมวิวเมืองวังเวียง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมใหม่สำหรับนักเดินทางสายกิน คือการแวะเที่ยวชม-ชิม “ทุเรียนวังเวียง” ซึ่งเป็นสายพันธุ์หมอนทองจากไทย ที่ถูกนำมาปลูกบนที่ดินอุดมสมบูรณ์ แบบปลอดสารเคมี ทำให้มีเนื้อเยอะ เม็ดเล็ก รสชาติอร่อยไม่แพ้เมืองไทยเลยทีเดียว
- โรงเรียนเอกชนวิกฤต ส่อปิดกิจการอีกหลายแห่ง กรุงเทพฯ หนักสุด
- เปิดที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่งวชิราวุธวิทยาลัย จากรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน
- อย.สั่งอายัดอาหารนำเข้าจากจีน 124 รายการ 7 ร้านจำหน่ายใน กทม.
สำหรับการเดินทางจากไทยมาสู่วังเวียง เราสามารถขึ้นเครื่องบินไปลงที่สนามบินอุดรธานี นั่งรถต่อไปที่ จ.หนองคาย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เช่าเหมารถที่ลาวเข้าเวียงจันทน์ แล้วค่อยต่อไปที่ วังเวียง 160 กม. ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง
หรือจะขึ้นเครื่องบินไปลงที่อุดรธานี ขึ้นรถที่สถานีขนส่งอุดรฯ สาย อุดรฯ-วังเวียง ส่วนขั้นตอนผ่านด่านเข้าประเทศลาว จะต้องมีพาสปอร์ตเหลือเวลาก่อนหมดอายุ เกิน 6 เดือน เขียนใบ ตม. และซื้อบัตรสำหรับผ่านแดน จ่ายค่าธรรมเนียมผ่านแดน หลังจากผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองเสร็จแล้ว รถก็จะไปจอดรอเราอยู่ที่ด้านนอก ก็เดินไปขึ้นประจำที่ได้เลย
การเดินทางจากเวียงจันทน์มาที่วังเวียงเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ไม่ค่อยสะดวกมากนัก จะต้องใช้การเดินทางเพียงเส้นทางรถ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพราะที่นี่มีกฎหมายจำกัดความเร็วทางถนน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จากเส้นทางที่ผ่านภูเขาที่ค่อนข้างทุลักทุเล
แต่ปัจจุบันนี้ภาพการท่องเที่ยว “วังเวียง” เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง หลังจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-ลาว เริ่มเปิดปฐมฤกษ์ใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2564 จากนั้นรัฐบาล สปป.ลาวก็เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังการระบาดของโควิดคลี่คลาย เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
และด้วยความเร็ว 150-160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของรถไฟฟ้า ทำให้นักท่องเที่ยวจากนครหลวงเวียงจันทน์ สามารถเดินทางถึงวังเวียง โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
แต่ทว่าความสะดวกสบายของรถไฟจีน-ลาวอาจจะยังไม่ถึงขีดสุด เพราะนักท่องเที่ยวจะต้องลงทุนมาต่อคิวซื้อตั๋วรถไฟด้วยเองที่สถานีรถไฟเวียงจันทน์ ยังไม่สามารถจองผ่านระบบออนไลน์ได้
และจะจองซื้อล่วงหน้าประมาณ 3 วัน ตั๋วได้คนละ 3 ใบเท่านั้น
สนนราคาค่าตั๋ว เวียงจันทน์-วังเวียง แบ่งตามชั้นการโดยสาร ราคาถูกที่สุดรถไฟชั้น 2 ใบละ 125,000 กีบ หรือประมาณ 278 บาท, ชั้น 1 ราคาใบละ 200,000 กีบ หรือ 378 บาท และชั้นธุรกิจ (บิสซิเนส) 370, 000 กีบ หรือ 823 บาท
ในแต่ละวันจะมีขบวนรถวันละ 3 เที่ยวในวันธรรมดา ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จะมีให้บริการเพิ่มเป็นวันละ 4 เที่ยว
ด้วยความนิยมของนักเดินทางที่มุ่งหน้ามาวังเวียง จึงทำให้เกิดอาชีพใหม่ “รับจ้างต่อคิวซื้อตั๋ว” ซึ่งมีอัตราค่าจ้างอยู่ที่ 50,000 กีบ หรือประมาณ 100-120 บาท แต่เราว่างานนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะจะต้องมารอคิวซื้อตั๋วตั้งแต่เวลา 04.00 น. และจะเปิดขายในเวลา 07.00 น. เพียงแค่ 1 ชั่วโมงตั๋วก็จะหมดแล้ว
ในขบวนมีจำนวน 8 โบกี้ แต่ละโบกี้จะมีห้องน้ำและมีจุดที่ให้บริการชาร์จแบตมือถือ อำนวยความสะดวก ระหว่างทางหากหิวจะมีการนำสินค้า น้ำดื่ม น้ำอัดลม และขนมขบเคี้ยวขึ้นมาจำหน่ายระหว่างทาง ราคาน้ำขวดละ 6,000 กีบ (14 บาท) ราคาน้ำอัดลม 8,000 กีบ (18 บาท) และราคาขนมกล้วยอบ ถุงละ 25,000 กีบ (55-56 บาท)
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางโดยสารข้ามระหว่างเมือง ก็สามารถโดยสารจากนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านวังเวียง ไปยังหลวงพระบาง โดยใช้ระยะเวลานานขึ้นประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง
หรือจะลุยไปให้สุด ที่สถานีสุดท้ายปลายทางของรถไฟจีน-ลาวเส้นนี้จะไปสิ้นสุดอยู่ที่เมือง “บ่อเต็น”
แต่หากเมื่อใดทางการจีนเปิดประเทศคลายล็อกดาวน์จากโควิดคลี่คลาย นักท่องเที่ยวก็จะสามารถเดินทางทะลุเข้าสู่ประเทศจีนได้ภายในหนึ่งวัน นับเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าจับตามอง
ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมาก และสะดวกไม่แพ้กัน คือนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถตู้ขึ้นทางด่วนใหม่ล่าสุด จากเวียงจันทน์มาวังเวียง โดยใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกัน 1 ชั่วโมงเศษ สนนราคาค่าทางด่วนไป-กลับ อยู่ที่ 662,000 กีบ หรือประมาณ 1,500 บาท
และหากมาด้วยเส้นทางรถ นักท่องเที่ยวสามารถแวะพักที่แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ เมืองเฟือง (Mueang Fueang) ซึ่งจะถึงก่อนถึงวังเวียง มีจุดเด่นทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ คล้ายวังเวียง บวกเมืองกาญจนบุรี บวกพุกามและในอนาคต สปป.ลาว มีแผนขยายทางด่วนยาวไปสู่หลวงพระบางด้วย