ศิริราช เปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อโบท็อกซ์ ค่าตรวจ 1,600 บาท

โรงพยาบาลศิริราช เปิดตัว “ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์” เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยการดื้อโบท็อกซ์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยค่าตรวจอยู่ที่ 1,600 บาท พร้อมแนะนำควรเว้นระยะห่างการฉีดโบท็อกซ์ 3-4 เดือน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว เปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ “สวยปลอดภัย ไม่เสี่ยง ดื้อโบ” โดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้รับรู้ถึงอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมาสักระยะหนึ่ง จึงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์ความรู้ในการรับมือกับภาวะดื้อยาที่เกิดจากการใช้ “โบทูลินัมท็อกซิน” ในหัตถการความงามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างได้เข้าถึงความรู้ และการตรวจวินิจฉัยภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้แพทย์ที่ทำการรักษาก็จะมีความรู้ความเข้าใจถึงการทำหัตถการความงามอย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน

เนื่องด้วยประเทศไทยในปัจจุบัน การทำหัตถการความงามอย่างการฉีดสาร “โบทูลินัมท็อกซิน” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้ารับบริการโดยที่อาจยังไม่มีความรู้ครอบคลุม และนำมาสู่ความเสี่ยงเกิดภาวะดื้อโบได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขในกรณีที่ผู้ป่วยอาจมีความต้องการใช้โบทูลินัมท็อกซินเพื่อการรักษาโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อในอนาคต

ด้าน ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ขอรับการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินเนื่องจากปัญหาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ ตลอดจนนำมาใช้ทางด้านการแพทย์และความสวยงามกันมากขึ้น มักจะรักษาอย่างต่อเนื่องและเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เมื่อผู้ป่วยได้รับสารโบทูลินัมท็อกซินในปริมาณมาก หรือได้รับการรักษาต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้ดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้

ทั้งนี้ การพัฒนาของทีมวิจัยในการตรวจวินิจฉัยทางวิทยาภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยร่วมแก้ปัญหาทางคลินิก จะนำไปสู่การเลือกวิธีการรักษาต่อไปให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนาการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินโดยเฉพาะบริเวณที่ออกฤทธิ์นี้ เป็นการพัฒนาที่ยังไม่เคยมีผู้คิดพัฒนาต่อยอด จึงถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกและได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารนานาชาติเป็นที่เรียบร้อย

ศิริราชจึงถือเป็นที่แรกที่เดียวในโลกในขณะนี้ที่สามารถตรวจวัดปริมาณและให้การดูแลรักษาผู้ที่สงสัยไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซินได้มากที่สุด

สำหรับศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินศิริราชนี้ เป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลด้านคลินิกคัดกรองประวัติผู้ป่วยในการวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะสม และอาจเป็นแนวทางการรักษาที่มีมาตรฐานในวงการแพทย์เวชศาสตร์ความงาม ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

ขณะที่ อ.พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ม.มหิดล กล่าวว่า โบทูลินัมท็อกซินมีความจำเป็นต่อการรักษาโรคทางระบบประสาทในหลาย ๆ โรค โดยกลุ่มคนไข้คลินิกฉีดยาโบทูลินัมท็อกซินของสาขาประสาทวิทยาที่มารับการรักษามากที่สุดคือ คนไข้โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง ซึ่งการดื้อโบทูลินัมท็อกซินพบได้ในผู้ป่วยที่มารักษาภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง เนื่องจากมีการใช้ยาขนาดสูงกว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกที่ใช้ยาขนาดน้อยกว่า

ทั้งนี้ โบทูลินัมท็อกซินจะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการรักษาโดยการรับประทานยา

ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะดื้อยา โดยเฉพาะที่พบบ่อยในคนไข้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง

จากความท้าทายของตัวเลขเคสดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับ รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตของผู้ป่วยที่สงสัยเรื่องภาวะดื้อโบ ด้วยการริเริ่มก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน โดยการคิดหาวิธีทดสอบวัดปริมาณแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยที่ส่งผลให้การรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินเกิดความล้มเหลว

รวมไปถึงพัฒนาชุดความรู้ใหม่ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยป้องกันการรักษาที่อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยประสบภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากกว่าเดิม

โดย ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ที่โบทูลินัมท็อกซินผ่านการรับรองการใช้เพื่อความงาม มีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอายุของคนไข้ที่ใช้ก็น้อยลง ขณะที่ภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซินกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน

จากข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบในช่วงปี 2564-2565 จำนวน 137 ราย พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 58%

ทั้งนี้ ในตัวเลขดังกล่าว สามารถจำแนกได้ว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ โดยมีคนไข้ที่มีภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin (โครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 48% ดื้อต่อสาร Complexing proteins (โครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 18% และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8%

จากผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้เห็นผลอยู่ แต่ในเคสส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin นั้นต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น ในฐานะแพทย์จึงแนะนำให้คนไข้เลือกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคลินิกที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินในอนาคต

“หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินคือแอนติบอดี้ในร่างกายซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้บางแบรนด์อาจมีสารประกอบที่ส่งผลต่อการดื้อยา ซึ่งการสังเกตว่ามีโอกาสดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินหรือไม่นั้น เบื้องต้นสามารถดูได้จากผลลัพธ์ที่ได้จากการฉีด เช่น จากเดิมฉีด 50 ยูนิต เห็นผลนาน 3-4 เดือน แต่ภายหลังผลลัพธ์เกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นลงกว่าเดิม กับอีกกรณีคือใช้ยา 50 ยูนิตเท่าเดิม แต่ใบหน้าไม่ตึงเท่าเดิม ลักษณะเช่นนี้เกิดจากการดื้อโบทูลินัมท็อกซิน

สำหรับคำแนะนำในการฉีดโบทูลินัมท็อกซิน คือ ไม่ควรเปลี่ยนแบรนด์หรือยี่ห้อฉีดบ่อย ๆ เพราะเหมือนเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ร่างกายก็จะยิ่งสร้างภูมิคุมกันมากขึ้น และควรเว้นระยะห่างในการฉีด 3-4 เดือน เพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในภาวะปกติ” ศ.พญ.รังสิมา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นได้ผ่านกระบวนการพัฒนา และการตรวจสอบความถูกต้องทางคลินิก จนสามารถนำมาให้บริการทางคลินิกในการช่วยเหลือคนไข้ได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน

ซึ่งศูนย์ฯดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างคลินิกและปรีคลินิก เพื่อดูแลรักษาคนไข้โดยใช้ข้อมูลทางด้านคลินิก เช่น ประวัติการฉีดโบทูลินัมท็อกซินของคนไข้ว่าเคยฉีดชนิดใดบ้าง ปริมาณมากน้อยเพียงใด ลักษณะการไม่ตอบสนอง เพื่อหาแนวทางการรักษาของคนไข้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในการเลือกวิธีรักษาหรือเลือกโบทูลินัมท็อกซินได้อย่างเหมาะสม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาฉีดได้อีกครั้งอย่างปลอดภัย

ในการก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ร่วมกับ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย บริษัท ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องอัลเทอร่า และเวชภัณฑ์สำหรับใช้ในคลินิกเสริมความงามระดับโลก ในการริเริ่ม “โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ” เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินได้ง่ายขึ้น

นอกจากการมารับการทดสอบที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว ทางบริษัทยังได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย โดยร่วมมือกับพันธมิตรคลินิกความงามมากกว่า 40 แห่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร สร้างเครือข่ายในการเก็บข้อมูล และตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดื้อโบ

รวมถึงการนำส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินในขั้นตอนถัดไป และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาความกังวลและช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้อโบได้อีกด้วย ทั้งนี้ ยังตั้งเป้าหมายจำนวนคลินิกร่วมโครงการให้ถึง 100 คลินิก ในปีถัดไปอีกด้วย

“ในการตรวจวินิจฉัย 1 ครั้ง จะเจาะเลือดคนไข้ไปตรวปริมาณ 5 cc. และจะได้รับผลตรวจภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะรายงานว่ามีภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินหริอไม่ และสามารถฉีดแบรนด์ใดได้บ้าง โดยมีค่าใช้จ่าย 1,600 บาท”

ขณะที่ ภญ.กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เมิร์ซ
เอสเธติกส์ ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประสานงานจัด “โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ” ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ซึ่งเกิดขึ้นจากความห่วงใยของเราต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ที่ปัจจุบันความนิยมเข้ารับการทำหัตถการฉีดโบทูลินัมท็อกซินเพื่อเสริมความงามเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เราจึงอยากมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ออกสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ยังเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่เพื่อให้ความรู้เรื่องภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน และคำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป หากสงสัยว่าตนเองมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน

สำหรับผู้ที่สนใจตรวจวินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล โทร. 0-2419-9922 ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะเข้าไปรวมกับ “SIRIRAJ H SOLUTIONS” ศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจรแห่งแรกนอกพื้นที่โรงพยาบาล ภายในโครงการไอซีเอส มิกซ์ยูส ซึ่งจะเปิดให้บริการช่วงเดือนกรกฎาคม 2566