ขนมมงคลวันตรุษจีน แต่ละอย่างมีความหมายอย่างไรบ้าง ?

ขนมเข่ง ตรุษจีน
ที่มาภาพ มติชนอคาเดมี

เปิดประวัติความเป็นมา ความหมายสุดลึกซึ้งเกี่ยวกับโชคลาภ ความเจริญรุ่งเรือง และความสุขตลอดปีใหม่ ของขนมมงคลที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน

เทศกาลตรุษจีน เป็นเทศกาลสำคัญสำหรับชาวจีนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน ตามปฏิทินจันทรคติแล้วตรุษจีนถือว่าอยู่ในช่วงสิ้นปี

โดยคำว่า “ตรุษ” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “การตัดหรือทำให้ขาด” ซึ่งหมายถึงการตัดขาดจากปีเก่าเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ตามปฏิทินสมัยใหม่

นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่พืชพรรณและผลผลิตต่าง ๆ เริ่มผลิดอกออกผล ประกอบกับอากาศกำลังดี ไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาแห่งงานรื่นเริงและเฉลิมฉลองของชาวจีนทั่วโลก

คนจีนถือเอาช่วงเวลานี้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ มีพิธีกรรมต่าง ๆ มากมายเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้าสีแดงชุดใหม่ และการไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหาร รวมทั้งขนมมงคล ที่ล้วนแฝงไปด้วยความหมายและที่มาสุดลึกซึ้ง

สำหรับขนมมงคลที่นิยมใช้ไหว้บรรพบุรุษ หากยึดตามหลักประเพณีดั้งเดิมแล้ว จะนิยมใช้ซาลาเปาหรือหมั่นโถว ขนมเข่ง หรือขนมเทียน ขนมถ้วยฟู และขนมจันอับ เป็นต้น ซึ่งจำนวนชนิดของขนมมักจะสอดคล้องกับจำนวนของคาวที่ใช้ไหว้ด้วยเช่นกัน

ซาลาเปา ตรุษจีน
ที่มาภาพ pixabay

ซาลาเปา หมั่นโถว ห่อโชคห่อลาภ

ซาลาเปา หรือ ซอลอเปา เป็นภาษาที่ชาวจีนแต้จิ๋วใช้เรียกขนมชนิดนี้ แต่ชาวจีนทั่วไปจะเรียก เปาจื่อ หรือเปา ซึ่งทำด้วยแป้งสาลีหรือแป้งหมี่ ปั้นเป็นแผ่นกลมและห่อไส้ จากนั้นปั้นขึ้นรูปเป็นก้อนกลมฐานเรียบ และนำไปนึ่งจนสุก ซึ่งมีทั้งไส้หวานและไส้เค็ม

แรกเริ่มเดิมทีชาวจีนไม่ได้เรียกซาลาเปาว่า เปา หรือ เปาจื่อ แต่เรียกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น เจิงปิ่ง, เจิงเกา, เมี่ยน, เจิงเมี่ยน และหมานโถว ส่วนชื่อ เปา ถูกเรียกหลังชื่ออื่น ๆ เมื่อประมาณ 1,000 ปีที่ผ่านมา

ซาลาเปาเป็นขนมชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากสื่อถึงความเป็นสิริมงคลในเรื่องของการห่อโชคห่อลาภ

ขนมเทียน ตรุษจีน
ที่มาภาพ มติชนอคาเดมี

ขนมเข่ง ขนมเทียน ความหวานชื่นและความราบรื่นในชีวิต

ขนมเทียน เป็นขนมที่ดัดแปลงจากชาวจีนโพ้นทะเล ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิ มาเป็นแป้งข้าวเหนียว ลักษณะเป็นกรวยแหลมคล้ายเจดีย์ ทำให้สื่อถึงความเป็นมงคล และมีความหมายว่า ความหวานชื่น และความราบรื่นในชีวิต

สำหรับขนมเข่ง มีส่วนผสมหลักคือแป้งข้าวเหนียวกับน้ำตาลที่เทใส่กระทงใบตองแห้งที่วางบนเข่งเล็ก ๆ จึงได้ชื่อว่าขนมเข่ง ซึ่งมีหลายแบบด้วยกัน ทั้งทำจากแป้งข้าวเหนียวขาวกับน้ำตาลทรายขาว, แป้งข้าวเหนียวดำ และสีออกน้ำตาลที่ใช้แป้งข้าวเหนียวขาวกับน้ำตาลทรายแดง เดิมมี 2 สีคือ สีขาวและดำ ซึ่งเป็นการแทนสัญลักษณ์หยินกับหยาง

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้ข้อมูลว่า ในภาษาจีนกลางเรียกขนมเข่งว่า เหนียนเกา แปลว่า ขนมกวนเหนียว ๆ หรือขนมเค้กเหนียว ๆ เหตุที่ใช้เป็นขนมในเทศกาลตรุษจีน เพราะชื่อของขนมเข่งในภาษาจีนกลางพ้องเสียงกับคำ 2 คำในคำอวยพรคือ “เหนียนเหนียนเกาเซิง” ที่แปลว่า ขอให้เจริญยิ่งขึ้นทุกปี

ส่วนภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกขนมชนิดนี้ตามรสชาติว่า ตีก้วย แปลว่า ขนมที่มีรสหวาน โดยรวมขนมเข่งและขนมเทียนจึงหมายถึงความหวานชื่นและความราบรื่นในชีวิต

ขนมถ้วยฟู ตรุษจีน
มติชนอคาเดมี

ขนมถ้วยฟู เพิ่มพูนความรุ่งเรืองเพื่องฟู

ชาวจีนเรียกขนมถ้วยฟูว่า “ฮวดโก้ย” โดย ฮวด แปลว่า เจริญงอกงาม และ โก้ย แปลว่า ฟู หรือ ขนม ดังนั้น ขนมฮวดโก้ย จึงมีความหมายอันเป็นมงคลว่า ขนมแห่งความเจริญเฟื่องฟู ทำให้เป็นอีกขนมชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในงานมงคล

ชาวจีนและชาวไทยจะนิยมนำขนมถ้วยฟูไปไหว้เจ้าหรือประกอบพิธีงานมงคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน หรือช่วงเทศกาลตรุษจีน และส่วนมากจะใช้ขนมถ้วยฟูที่เป็นสีแดงซึ่งก็เป็นสีมงคลของชาวจีนด้วยเช่นกัน

จันอับ ตรุษจีน
ที่มาภาพ ศิลปวัฒนธรรม

จันอับ 5 สหายเพิ่มพูนความหวานและความสุขตลอดไป

ขนมจันอับ เป็นขนมที่เรียกพ้องเสียงมาจากภาษาจีนว่า “จังอั๊บ” ส่วนในภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า แต้เลี้ยว, จับกิ้ม และ มึงเต้าเขี่ย จันอับเป็นขนมสารพัดนึกของขาวจีนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากนำไปใช้ได้ในหลายเทศกาล ไม่ว่าจะเป็น ไหว้เจ้า งานแต่ง วันสารทจีน โดยเฉพาะใช้ไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน

จันอับให้ความหมายอันเป็นมงคลว่า ความหวานที่เพิ่มพูนและมีความสุขตลอดไป ซึ่งประกอบไปด้วยการรวมตัวของขนม 5 ชนิดด้วยกันคือ ถั่วตัด (เต้าปัง), งา (อิ้วมั่วปัง), ข้าวพอง (บีปัง), ถั่วลิสงเคลือบน้ำตาลสีขาว-แดง (ซกซา) และฟักเชื่อม (ตังกวยแฉะ)