ตรุษจีน 2566 ตรงกับวันอะไร วิธีไหว้ กิจกรรม ข้อห้าม รวมทุกเรื่องควรรู้

รวมทุกเรื่องต้องรู้ ตรุษจีน 2565
ภาพจากเว็บไซต์ มติชนอคาเดมี
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 5 มกราคม 2566

เหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึง “วันตรุษจีน” เทศกาลที่คนไทยเชื้อสายจีนรอคอย มีเรื่องอะไรที่ควรรู้บ้าง เช็กเลย 

เทศกาลตรุษจีน เป็นเทศกาลเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมของเอเชียที่มีชื่อเสียงที่สุด อีกทั้งยังเป็นเทศกาลที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้ารอคอย เพราะเป็นช่วงที่สามารถกอบโกยรายได้จากลูกค้าได้มากสุดช่วงหนึ่งของปี

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน เพื่อผู้อ่านคนไทยเชื้อสายจีนได้มีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเทศกาลอันเป็นมงคลนี้

วันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน

ในอดีต วันตรุษจีนจะไม่ตรงกันในแต่ละแคว้น แต่ละยุคสมัย เนื่องจากปฏิทินที่ใช้ในแต่ละยุคของจีน กำหนดวันตรุษจีนแตกต่างกัน บางยุคใช้แบบสุริยคติ บางยุคใช้แบบจันทรคติ จึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนไม่ตรงกันเลย

สมัยจีนยุคโบราณจะให้ความสำคัญกับ “วันลี่ชุน” ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าวันที่ 1 เดือน 1 โดยในวันดังกล่าวจะมีการเฉลิมฉลองและอัญเชิญเทพเจ้า ถือเป็นวันบวงสรวงสวรรค์ ประกอบพิธีเข้าเฝ้าจักรพรรดิ รวมถึงมีการเสี่ยงทายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขอพรจาก “เทพเจ้าการเกษตร”

ส่วนจุดเริ่มต้นที่กำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ของทุกปี ตามปฏิทินจีน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของจีนและใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ กำเนิดขึ้นในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น ราวปี พ.ศ. 439 (ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 104 ปี) ถือเป็นจุดกำเนิดของวันตรุษจีนที่ชาวจีนในไทยยึดถือจนถึงปัจจุบัน

ตามปฏิทินจีน “วันตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จะอยู่ช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคม ถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีอาจคลาดเคลื่อนแตกต่างกันไป (เนื่องจากจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีน บางเดือนมี 29 วัน บางเดือนมี 30 วัน แตกต่างกับปฏิทินสากล) ตามข้อมูลจากมติชนอคาเดมี 

วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหน

สำหรับวันตรุษจีนประจำปี 2565 นั้น ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 โดยก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน หรือ “วันเที่ยว” ยังมีอีก 2 วันสำคัญของเทศกาลตรุษจีน คือ “วันจ่าย” และ “วันไหว้”

  • วันจ่าย ตรงกับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566
  • วันไหว้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566
  • วันเที่ยว วันตรุษจีน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566

อย่างไรก็ตาม ปีนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดยาวเหมือนในปี 2564 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ

กิจกรรมวันจ่าย-วันไหว้

วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ไม่จำเป็นจะต้องมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้า ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน

วันไหว้ ตอนเช้ามืด จะไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

ตอนสาย จะไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ

หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล

เปิดความหมาย อาหารคาว-ขนม-ผลไม้ เสริมมงคล

สำหรับการไหว้ขอพร หากจะไหว้เต็มรูปแบบต้องไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ทำทานดวงวิญญาณไร้ญาติ และไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ส่วนผู้ที่ต้องการไหว้ขอโชคลาภเพิ่มเติม ของไหว้จะประกอบด้วย กลุ่มของคาว กลุ่มขนมหรือของหวาน และผลไม้

โดยจำนวนจะยึดของคาวหรือเนื้อสัตว์เป็นหลัก ได้แก่

  • ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน)
  • ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย หมู (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน) ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก) หรือ ตับ

กลุ่มอาหารคาว

ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความสง่างาม ยศ ตำแหน่ง ความขยัน
หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี
เป็ด หมายถึง สิ่งที่บริสุทธิ์ ความสะอาด และความสามารถอันหลากหลาย
ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้
เป๋าฮื้อ หมายถึง มีความเชื่อว่าเป็นอาหารสิริมงคล เพราะมีความหมายช่วยห่อความมั่งคั่งให้เหลือกินเหลือใช้ นิยมกินในโอกาสสำคัญ
ปู หมายถึง การสอบได้ตำแหน่งที่ดี
กุ้งมังกร,กุ้ง หมายถึง ความมีอำนาจวาสนา ชีวิตที่รุ่งเรืองรวมทั้งเป็นตัวแทนของความสุข
สาหร่ายดำ หมายถึง ความร่ำรวย
ตับ หมายถึง อำนาจวาสนา
บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หมายถึง การมีอายุยืนยาว

กลุ่มขนม

ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่น ความราบรื่นในชีวิต ความอุดมสมบูรณ์
ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญเติบโต
ขนมถ้วยฟู หมายถึง เพิ่มความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
ซาลาเปา, หมั่นโถว หมายถึง ไหว้เพื่อให้เปาไช้ ห่อโชค ห่อลาภ
จันอับ หมายถึง เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ

  1. เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด
  2. มั่วปัง คือ ขนมงาตัด
  3. ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
  4. กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม
  5. โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง

ขนมต้ม หมายถึง บรรพชนอวยพร

กลุ่มผลไม้

กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภ มีลูกหลาน มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล
ส้มสีทอง หมายถึง มหาสิริมงคล โชคดี ประสบแต่สิ่งดี ๆ
องุ่นสีแดง หมายถึง ความเพิ่มพูน ความเจริญงอกงาม และการมีอายุยืนนาน
แอปเปิลสีแดง หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
สาลี่ หมายถึง รักษาคุณงามความดี รักษาโชคลาภเงินทองไม่ให้เสื่อมหาย
ส้มโอ หมายถึง ความสมบูรณ์
เมล่อน หมายถึง การเจริญเติบโต

วิธีไหว้ตรุษจีน


แบ่งเป็น 3 ช่วง 

  • เช้ามืด คือ การไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยเครื่องไหว้ที่เป็นเนื้อสัตว์ 3 อย่าง คือ หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม เป็ดต้ม พร้อมทั้งเหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน-กระดาษทอง โดยจะกระทำในช่วง 7-8 โมงเช้า
  • สาย คือ การไหว้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว ด้วยซาแซ อาหารคาว-หวาน รวมถึงเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง พร้อมเสื้อผ้าให้กับบรรพบุรุษ กระทำไม่เกินเที่ยงวัน  นอกจากนี้หลังจากที่ทุกคนในครอบครัวร่วมรับประทานอาหารไหว้บรรพบุรุษเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการแลกเปลี่ยนอั่งเปากันอีกด้วย
  • บ่าย คือ การไหว้ผีไม่มีญาติ ด้วยข้าว กับข้าว ขนม เช่น ขนมเข่งกับขนมเทียน และกระดาษเงิน-กระดาษทอง รวมถึงมีการจุดประทัดเพื่อปัดเป่าไล่สิ่งชั่วร้ายด้วย (ประมาณบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น)

9 ข้อห้ามสำคัญในวันตรุษจีน

  1. ห้ามทำความสะอาดบ้าน คนจีนจะถือว่าการทำความสะอาดบ้านในวันนี้จะเป็นการเอาโชคลาภออกไปจากบ้าน
  2. ห้ามสระผมหรือตัดผม การตัดผม หรือสระผม เหมือนเป็นการนำความมั่นคงออกไป ทางที่ดีสระก่อนวันสองวัน
  3. ห้ามพูดคำหยาบ การพูดสิ่งไม่ดี คำหยาบ พูดโกหก ในวันตรุษจีนนี้หมายถึงจะนำความเดือดร้อนมาสู่คุณ
  4. ห้ามร้องไห้ กุศโลบายจะทำให้ร้องไห้ทั้งปี และเจอเรื่องเสียใจไปตลอด
  5. ห้ามเข้าห้องนอนคนอื่น ความเชื่อนี้ระบุชัดว่าจะทำให้โชคร้าย
  6. ห้ามทำของแตก หมายถึง ลางร้ายกำลังมาเยือน ครอบครัวจะแตกแยก
  7. ห้ามใช้ของมีคมเพราะจะทำให้เหมือนกับตัดความโชคดีออกไป
  8. ห้ามให้ยืมเงินว่ากันว่าจะต้องให้ยืมไปตลอด และสำหรับคนเป็นหนี้หรือไปยืม ก็ว่าจะติดหนี้สินไปตลอดเช่นกัน
  9. ห้ามใส่ชุดขาว-ดำ คนจีนมีความเชื่อเรื่องการใส่เสื้อขาว-ดำในวันตรุษจีนจะเป็นเหมือนลางร้าย