รู้จัก เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ประจำปี 2565 พร้อมวิธีไหว้แก้ชง ก่อนตรุษจีน

เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะ ที่วัดเปากง มาเก๊า ภาพจากมติชน

เปิดตำนาน ไท้ส่วยเอี๊ย จากตำนานวีรบุรุษสู่เทพเจ้าผู้ปัดเป่าเคราะห์ร้ายแด่ผู้เกิดปีชง

วันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันตรุษจีนปี 2565 นี้ ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันเถลิงศกของชาวจีน แม้จะอีกหลายวันกว่าจะถึง แต่เหล่าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากก็เริ่มเดินสายแก้ชงกันตามวัดและศาลเจ้าจีนอย่างคึกคัก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา

ในปีนี้ตรงกับปีนักษัตร ขาล (เสือ) ชง 100% กับปีวอก (ผู้เกิดปี 2475, 2487, 2499, 2511, 2523, 2535, 2547 และ 2559) และชงร่วมกับปีขาล, กุน และมะเส็ง (ผู้เกิดปี 2466, 2469, 2472, 2478, 2481, 2484, 2490, 2493, 2496, 2502, 2505, 2508, 2514, 2517, 2520, 2526, 2529, 2532, 2538, 2541, 2544, 2550, 2553, 2556 และ 2562)

หนึ่งในวิธีแก้ชงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายคือ การไหว้เทพเจ้าไท้ส่วย เพื่อฝากดวงชะตา โดยจะมีข้อแนะนำให้เริ่มทำหลังวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์หรือประมาณ 7 วันก่อนถึงตรุษจีน เพราะถือเป็นเวลาเข้าสู่ปีใหม่ของจีนอย่างสมบูรณ์

หลายคนคงอยากทราบว่า ทำไมการแก้ปีชงจึงต้องไปทำพิธีฝากดวงชะตากับเทพองค์นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปหาคำตอบ

เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยทั้ง 60 องค์ ภาพจากเพจเฟซบุ๊กศาลเจ้านาจาไท้จื้อเอี้ย เจ้าองค์น้อย อุดรธานี

จากตัวละครสู่เทพเจ้า

จากวิทยานิพนธ์ “ตำนานไท้ส่วยเอี๊ยะ 60 องค์และพิธีแก้ปีชงในศาสนสถานจีนในสังคมไทยร่วมสมัย” โดยคุณสร้อยสุดา ไชยเหล็ก จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เทพเจ้าองค์นี้ได้รับการกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจากบทประพันธ์ห้องสิน แปลจากเฟิงเสินเหยี่ยนอี้ วรรณกรรมในสมับราชวงศ์หมิง

ในวิทยานิพนธ์สันนิษฐานว่า เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยน่าจะมาจากตัวละครในเรื่อง 2 ตัว ได้แก่ เอียวหยิม และ อินเฮา เพราะทั้ง 2 ตัวละคร มีพฤติกรรมและเหตุการณ์หลายอย่างคล้ายกัน ได้แก่ มีความสามารถทางการรบเหมือนกัน, ถือคุณธรรมในการดำรงชีวิตเหมือนกัน และได้รับการช่วยเหลือจากเทวดาเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2550 มีการทำหนังสือ เปิดตำนานเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ระบุถึงตำนานเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยทั้ง 60 องค์ ตรงตามความเชื่อของคนจีนโบราณเป็นครั้งแรก โดยในหนังสือระบุถึงตำนาน 60 บทของบุคคลที่จะมาเป็นเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย ซึ่งต้องมีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมที่โดดเด่น

วิทยานิพนธ์ดังกล่าวตีความว่า ในความเชื่อของคนจีน จะยกย่องบุคคลเหล่านี้เป็นวีรบุรุษผู้ศักดิ์สิทธิ์ (Hero) ซึ่งเป็นผลจากการ “วีรกรรม” และ “คุณธรรม”ตามปรัชญาขงจื้อมากกว่า แต่สังคมไทยร่วมสมัยกลับมองว่าคนเหล่านี้เป็นเทพเจ้า (God) ที่เกี่ยวข้องกับโชคเคราะห์ที่จะมาปัดเป่าเคราะห์ภัยต่าง ๆ ให้

ซึ่งในปีขาล 2565 เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยที่รับหน้าที่ของปีนี้มีชื่อว่า ยิ่มอิ๊ง

เทพเจ้าไท้ส่วยยิ่มอิ๊ง ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ-อ่างศิลา-哪吒三太子宮.

เพจเฟซบุ๊ก ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ อ่างศิลา 哪吒三太子宮 ระบุถึงประวัติคร่าว ๆ ของเทพไท้ส่วยองค์นี้ว่า

“มีความรู้ ความสามารถชำนาญการสู้รบและการวางแผนยุทธศาสตร์ เมืองกวนจงหลังจากการทำสงคราม ซากศพตายเกลื่อน เฮ่อเอ้อ (ยิ่มอิ๊ง) อยู่ตรงนั้น จึงขุดหลุมใหญ่กลบฝั่งซากศพทั้งหมด ภายหลังยังช่วยปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เอี่ยนฮูปี้เลี่ย ปกครองควบคุมกองทัพอ้าวสู่หน่วยต่าง ๆ ที่เมืองจิงเจ้า

เฮ่อเอ้ออยู่ในกองปรักหักพังของกำแพงพบทองคำขาวเจ็ดพันตำลึง เป็นเวลาเดียวกับปฐมกษัตริย์อยู่ระหว่างแผ่ขยายอาณาเขตที่มณฑลอวินหนาน กองทัพกำลังขาดแคลนค่าใช้จ่าย ตั้งค่ายอยู่ที่ลิ้วผัน เฮ่อเอ้อจึงนำทองคำขาวห้าพันตำลึงให้ช่วยเหลือ หลังจากเฮ่อเอ้อเสียชิวิต จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นหยงกั่วกง สมญานามว่า “เจินเสี้ยน”

วิธีไหว้

สำหรับพิธีไหว้และแก้ชงต้องเตรียมของ ดังนี้

  • ดอกไม้สด 1 คู่
  • เทียนแดง 1 คู่
  • ธูป 3 ดอก
  • หงิ่งเตี่ย 13 ชุด
  • เทียงเถ่าจี้ 1 คู่
  • กิมหงิ่งเต้า 1 คู่
  • อาหารเจ 5 อย่าง
  • ถั่วลิสง 25 เมล็ด
  • พุทราแดง 25 ผล
  • ขนมโก๋ 5 ชิ้น
  • น้ำชา 5 ถ้วย
  • ข้าวสวย 5 ถ้วย

วิธีไหว้ เริ่มจากเขียนชื่อสกุล วันเดือนปีเกิดของตัวเอง ลงในกระดาษ นำไปไหว้เทพเจ้าไท่ส่วยเอี๊ย จากนั้นจุดธูป 3 ดอก อธิษฐานให้เทพเจ้าไท่ส่วยเอี๊ย คุ้มครองดวงชะตาชีวิต เสร็จแล้วนำกระดาษปัดจากศีรษะลงมาจนสุดแขน 12 ครั้ง (กรณีไหว้แทนผู้อื่นไม่ต้องปัด)