ปีชง ดีหรือไม่ดี? คำตอบจากความหมายตามหลักภาษาจีน

วัดมังกรกมลาวาส
บรรยากาศการแก้ปีชงที่วัดมังกรกมลาวาส (ภาพลิขสิทธิผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ)

ถอดความหมาย “ชง” ตามหลักภาษาจีน พบมีความหมายทั้งดีและไม่ดี

วันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ตรงกับวันตรุษจีน หนึ่งในกิจกรรมที่คนไทยเชื้อจีนนิยมทำกันคือ การแก้ชง ซึ่งปีนี้ตรงกับปีนักษัตร ขาล (เสือ) โดยปีนักษัตรที่ชงกับปีนี้ประกอบด้วย ปีวอก ปีขาล ปีมะเส็ง และปีกุน

โดยวิธีแก้ชงที่นิยมปฏิบัติกันคือ 1.ไหว้เทพเจ้าไท้ส่วย จะช่วยบรรเทาเคราะห์กรรมได้ 2. ทำบุญช่วยชีวิตสัตว์ต่างๆ เช่นการไถ่ชีวิตโค กระบือ ปล่อยนกปล่อยปลา การบริจาคโลหิต ฯลฯ และ 3.ไหว้พระ 9 วัด ช่วยเสริมสิริมงคลให้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่บทความของ ผศ.ถาวร สิกขโกศล เรื่อง “ชง” ความหมาย-ความเชื่อ ในภาษาและวัฒนธรรมจีน ระบุถึงความหมายของคำ ๆ นี้ว่า

ตามความเข้าใจเชิงโหราศาสตร์จีนอย่างชาวบ้าน ชง (冲) คือ ขัดแย้ง, เข้ากันไม่ได้ เช่น ก ชงกับ ข ก็คือ ก กับ ข เข้ากันไม่ได้ หรือขัดกันตามเกณฑ์โหราศาสตร์จีน ไม่ใช่ชนหรือปะทะกัน ปีชวดชงกับปีมะเส็ง (สมมติ) หมายถึงคนที่เกิดสองปีนี้มีดวงขัดกันหรือเข้ากันไม่ได้ คงไม่ถึงชนหรือปะทะกันตามความหมายในภาษาไทย

น่าจะตรงกับคำภาษาจีนว่า 冲突 (ชงถู-ขัดแย้ง) หรือ 冲犯 (ชงฟ่าน-ล่วงเกิน ขัดแย้ง) มากกว่า ชน ปะทะ ซึ่งภาษาจีนว่า 冲撞 (ชงจ้วง)

ในมหาพจนานุกรมจีน (汉语大词典) เล่ม 3 มีความหมายของ “ชง” ในเชิงโหราศาสตร์จีนอยู่ในคำ 衝犯 (Chongfàn) ดังนี้ ฝ่า, กระทบ, บุกรุก, ล่วงเกิน, ปะทะ, ขัดแย้ง และตามความเชื่องมงายในอดีตอย่างหนึ่ง เชื่อว่าธาตุทั้งห้า (ปัญจธาตุ) ขัดข่มกันอยู่ รวมทั้งอาจหมายความว่า ข่ม ปราบ เอาชนะกัน ด้วย ซึ่งหลักปัญจธาตุ (五行 ธาตุทั้งห้า) เป็นของปรัชญาสำนักยินหยาง

สำนักยินหยางถือว่าโลกนี้มีธาตุมูลฐานอยู่ 5 อย่าง คือ ดิน (土) น้ำ (水) ไฟ (火) ไม้ (木) และโลหะ (金) ธาตุทั้งห้านี้ให้กำเนิดและขัดข่มกันเองเป็นวงจร ธาตุที่เป็นคู่ให้กำเนิดนั้นช่วยเหลือกัน ส่วนคู่ขัดข่มนั้นควบคุมข่มกัน แต่แยกออกจากกันไม่ขาด มีคู่ให้กำเนิดสิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น มีคู่ขัดข่มสิ่งนั้นจึงเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างสมดุลกลมกลืน เป็นปรัชญาเรื่องการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และแตกดับของสรรพสิ่งในโลก

ดังนั้น “ชง” หรือขัดข่มกันนั้นไม่ได้มีแต่ด้านร้าย แต่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างสันติ ไม่หยุดนิ่งอยู่ ทำให้มีพัฒนาการของชีวิตและสรรพสิ่ง