
ไม่นานมานี้ “MUJI” (มูจิ) แบรนด์ไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลกสัญชาติญี่ปุ่น เพิ่งปักหมุดสาขาใหม่ที่จังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลอุดร เป็นการบุกภาคอีสานอย่างต่อเนื่องเป็นสาขาที่ 2 โดยเป็นสาขาที่ 37 ภายในประเทศไทยแล้ว
ความน่าสนใจคือ มูจิ สาขาเซ็นทรัลอุดร ได้นำผลิตภัณฑ์ของ 2 แบรนด์ในท้องถิ่น “เพ็ญ” และ “บ๊อบบิ้น คราฟต์” เพื่อจำหน่ายที่ร้านด้วย เรียกว่าขึ้นห้างกับแบรนด์ดัง หรือ “โกอินเตอร์” ก็ว่าได้ แล้วทั้ง 2 แบรนด์นี้มีความพิเศษอย่างไร ทำไมมูจิถึงเลือก

แบรนด์เพ็ญ จากอำเภอเพ็ญ
“พิชญากร เพ็ญพิชัยพงษ์” เจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ “เพ็ญ” เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เพ็ญ เป็นแบรนด์ที่พัฒนาเกี่ยวกับพืชตระกูล “ว่าน” สมุนไพรที่มีทั้งสรรพคุณทางยาและความเชื่อ โดยสิ่งที่หายากกว่าสมุนไพรชนิดนี้ คือ ผู้สืบทอด
ในสมัยโบราณว่านเป็นทั้งเป็นยาและความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมเสน่ห์ เมตตา มหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย ตลอดจนฟันแทงไม่เข้า เรียกว่าเป็น “พืชสายมู” ของชาวอีสาน
ที่มาของชื่อแบรนด์ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ “ลึกซึ้ง” เดิมทีเธอเป็นคนสกลนคร จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
แม้สิ่งที่เรียนในระดับปริญญาตรีจะไม่เกี่ยวกับอาชีพตอนนี้ แต่เป็นตัวตนจริง ๆ เพราะตอนเด็กครอบครัวเธอเป็นกลุ่มเกษตรกรทอผ้า ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คราวเสด็จฯอำเภอภูพาน อยู่หลายครั้ง
เมื่อมามีครอบครัวอยู่อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี มีครูบาอาจารย์หลายท่านที่เคารพนับถือและได้รู้จักกับพืชตระกูลว่าน จึงคิดเริ่มต้นทำแบรนด์จากสมุนไพรไทย ประกอบกับ “พระแม่นางเพ็ญ” มาเข้าฝัน จึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า “เพ็ญ” ด้วยความผูกพันและแรงบันดาลใจที่มีต่อพื้นที่แห่งนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำสมุนไพรไทยที่กำลังจะสูญหายกลับมาให้คนไทยได้ใช้ของดี ๆ โดยการผลิต แปรรูป และจัดจำหน่ายร่วมกับชุมชน และสถานศึกษา
แบรนด์เพ็ญก่อตั้งมาได้ 2 ปีเศษแล้ว ผลิตภัณฑ์มีทั้งเครื่องสำอาง เครื่องหอม อาหาร ยาต่าง ๆ ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากผ้าเส้นใยว่าน แม้ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำผ้าทอ แค่อยากทำสายสิญจน์ให้ครูบาอาจารย์เท่านั้น
แต่เมื่อวิเคราะห์คุณสมบัติของเส้นใยออกมาแล้วพบว่าคุณสมบัติดีเทียบเท่ากับฝ้าย ระบายอากาศได้ดี และยังสามารถลดการอักเสบของผิวได้ ผ้าจากเส้นใยว่านจึงกลายเป็นตัวชูโรงของแบรนด์ และเมื่อโกอินเตอร์กับมูจิแล้วก็สามารถสร้างงาน สร้างรายได้กลับคืนมาสู่ชุมชน

บ๊อบบิ้น คราฟต์ ผ้าไทยทันสมัย
อีกแบรนด์คือ “บ๊อบบิ้น คราฟต์” โดย “อภิชา วีรชาติยานุกูล” กรรมการผู้จัดการศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ ในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บ๊อบบิ้น คราฟต์ เกิดจากการที่เธอและคุณแม่ชื่นชอบในผ้าไทยเป็นทุนเดิม ซึ่งจุดอ่อนของผ้าไทยในบางครั้งไม่ได้ถูกทำให้สวมใส่ได้อย่างทันสมัย หรือมีจุดวางขายและไม่ได้หาซื้อได้ง่าย ๆ
แรงบันดาลใจดังกล่าวจึงเกิดเป็นแบรนด์ บ๊อบบิ้น คราฟต์ ขึ้นมา โดยการนำผ้าจากกลุ่มเกษตรกร “สบายดี” ของ 5 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ และบ๊อบบิ้น คราฟต์ ทำหน้าที่เป็นหน้าร้านหรือเพิ่มช่องทางในการโปรโมตสินค้าให้
“บ๊อบบิ้น คราฟต์ เป็นสื่อกลางที่ช่วยให้กลุ่มเกษตรกรทอผ้ามีรายได้มากขึ้น เราไม่ได้มีผ้าอย่างเดียว เราเอามาทำเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า ปลอกหมอน เพราะบางทีเกษตรกรทอผ้าอาจไม่ได้มีไอเดียในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราจึงซื้อชิ้นผ้าหรือผ้านำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นการพัฒนาและต่อยอดภายใต้แบรนด์บ๊อบบิ้น คราฟต์ ซึ่งค่อนข้างทันสมัย”
อย่างไรก็ตาม บ๊อบบิ้น คราฟต์ ไม่ได้นำผ้าของกลุ่มสบายดีมาขายเพียงเท่านั้น แต่มีการผลิตผ้าภายใต้แบรนด์เองด้วย ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้าย้อมคราม เป็นต้น โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ศูนย์การค้ายูดี ทาวน์
บ๊อบบิ้น คราฟต์ เป็นแบรนด์ที่เน้นความออร์แกนิกค่อนข้างมาก ผ้าที่ใช้เป็นผ้าทอมือจริง ๆ ส่วนเศษผ้าที่เหลือก็จะนำไปใช้ทำปลอกหมอนและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งความออร์แกนิกนี้คลายกับความเป็นมูจิอย่างมาก