พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า

12 สิงหาคม พ.ศ. 2567 วันมหามงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “แม่ของแผ่นดิน” ผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ และทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจทั้งหลายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนริเริ่มโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาราษฎรและพัฒนาประเทศอย่างเป็นอเนกอนันต์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร”

ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่บ้านพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ใน พ.ศ. 2479 แต่เมื่อมีสงครามมหาเอเชียบูรพา ใน พ.ศ. 2483 จึงย้ายไปเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน เพราะใกล้บ้าน หลังสงครามสงบ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ และพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยเมื่อ พ.ศ. 2489

ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว จากนั้น หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ทรงย้ายไปเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ก่อนจะกลับมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง

กระทั่ง พ.ศ. 2491 ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยและต้องพระราชอัธยาศัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสองคือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และหม่อมราชวงศ์บุษบาเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมพระอาการเป็นประจำ

Advertisment

1 ปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลและทรงประกอบพิธีหมั้นเป็นการภายใน ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

Advertisment

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ในขณะนั้น และทรงเฉลิมพระยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทย และคู่พระราชหฤทัยแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจทั้งหลาย และริเริ่มโครงการพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติ

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ณ บ้านถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร

“หน่วยราชการในพระองค์” ระบุว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดธรรมชาติยิ่งนัก พระองค์เข้าพระทัยดีว่าป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธารมีความสำคัญต่อชีวิตคนอย่างไร และทรงสอนข้าราชบริพารเสมอว่าให้ช่วยรักษาป่า

จึงทรงริเริ่มโครงการ “ป่ารักน้ำ” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ณ บ้านถ้ำติ้ว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เนื่องจากทอดพระเนตรเห็นความเสื่อมโทรมของป่าไม้ ซึ่งจะนำไปสู่ความแห้งแล้งของแผ่นดิน โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายพื้นที่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าหรือป่าที่เสื่อมโทรม เพื่อนำต้นไม้ไปปลูกและให้ชาวบ้านช่วยกันดูแล

โครงการป่ารักน้ำ จึงเป็นพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง จากที่ทรงตรัสว่า “ขาดน้ำ ทุกชีวิตสิ้นสุดทันที” นอกจากน้ำจะมีประโยชน์ในการอุปโภคและบริโภคต่อคนแล้ว ยังมีประโยชน์กับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่าทุกชนิด

ทั้งนี้ ทรงโปรดให้ปลูกต้นไม้หลายจำพวก ทั้งไม้โตเร็ว เช่น กระถินยักษ์ ยูคาลิปตัส เพื่อช่วยเป็นร่มเงาแก่ไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็งรัง เป็นต้น และมีไม้ใช้สอย เช่น ไม้ไผ่ แคบ้าน กระถิน ซึ่งปลูกสับหว่างกันไป เมื่อไม้เศรษฐกิจโตแข็งแรงก็อนุญาตให้ชาวบ้านตัดไม้โตเร็วและไม้ใช้สอยออกไปใช้ได้

ที่มา : หน่วยราชการในพระองค์ https://www.royaloffice.th
ภาพ : หน่วยราชการในพระองค์