
Exclusive Talk มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดหัวข้อ “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง : สามมุมมองต่อการพัฒนาเยาวชนสู่สังคมโลก” 3 วิทยากร “แสงเดือน ชัยเลิศ-เสถียร เสถียรธรรมะ-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ปี 2567 ให้มุมมองและความคิด ซีอีโอคาราบาวกรุ๊ปเปิดหัวใจนักสู้ การเรียนรู้เป็นคัมภีร์ชีวิต
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 งานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ประจำปี 2567 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 ณ ห้องแกรนด์ออดิทอเรียม อาคารกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วง Exclusive Talk ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ “สังคม เศรษฐกิจ การเมือง : สามมุมมองต่อการพัฒนาเยาวชนสู่สังคมโลก” โดยเชิญ 3 วิทยากร มาให้มุมมองแก่นักศึกษา โดย “แสงเดือน ชัยเลิศ, เสถียร เสถียรธรรมะ และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
ซึ่ง “เสถียร เสถียรธรรมะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บมจ.คาราบาวกรุ๊ป ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ
ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ ขอย้อนความหลังเมื่อ 50 ปีก่อน ปี 2518 ที่ได้มาสัมผัสบรรยากาศวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ บนหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะนั้น คือ ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ขึ้นกล่าวต้อนรับทุกคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาวธรรมศาสตร์
“สำหรับผม อาจารย์ป๋วยไม่ได้เป็นเพียงอธิการบดีเท่านั้น แต่ท่านเป็นแบบอย่างของคนดี คนเก่ง คนกล้า ที่มีชื่อเสียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสยืนข้างเวที ช่วงพักท่านได้เดินมาทักทายพวกเรา ผมตื่นเต้นดีใจมาก ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้มาถึงวันนี้”
วันนี้ “เสถียร” ในวัย 70 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งและเจ้าของคาราบาวกรุ๊ป มียอดขายรวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท สมัยเป็นนักศึกษาใหม่ อายุ 21 ปี ซึ่งมากกว่าเพื่อนคนอื่น ๆ เพราะเขาไม่ได้ผ่านการเรียนในระดับมัธยมศึกษา แต่จบแค่ ป.4 แล้วต้องออกไปทำงานตั้งแต่อายุเพียง 11 ขวบ ได้เงินเดือนครั้งแรก 50 บาท
ด้วยความใฝ่เรียน ใฝ่รู้ พยายามเก็บเงินมาเรื่อย ๆ จนอายุ 18 ปี จึงไปเรียนกวดวิชาสอบเทียบ 6 เดือนต่อมาก็สอบเทียบได้ ป.7 และอีก 6 เดือนต่อมา สอบเทียบ ม.ศ.3 ได้
หลังจากนั้นอีก 8 เดือน จึงสอบเทียบได้ ม.ศ.5 จนได้เข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปี 2518
นอกจากอายุที่มากกว่าคนอื่น ๆ แล้ว “เสถียร” เล่าว่า หากเทียบฐานะทางเศรษฐกิจและต้นทุนด้านอื่น ๆ แล้ว เขาถือว่า “มีต้นทุนที่ต่ำ” กว่าเพื่อน ๆ โดยส่วนใหญ่
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขาท้อถอย ตรงกันข้ามกลับทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยในขณะนั้น เป็นช่วงที่มีการต่อสู้ทางอุดมการณ์อย่างเข้มข้น หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ “เสถียร” ตัดสินใจหลบหนีภัยเผด็จการเข้าไปอยู่ในป่า พร้อมกับเพื่อนนักศึกษา โดยไปเป็นทหารป่ากว่า 4 ปี ก่อนจะกลับออกมาเมื่ออายุ 24 ปี
“ตอนนั้นผมออกจากป่าด้วยความรู้สึกว่า เป็นคนที่พ่ายศึก แพ้สงคราม สิ่งนี้กัดกร่อนจิตใจของผมนาน 3 ปี ที่สำคัญชีวิตผมที่ช้าอยู่แล้ว ยิ่งช้าลงไปอีก เพราะเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนเรียนดีได้เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ อีกหลายคนสอบได้เป็นอัยการ บางคนสอบเป็นผู้พิพากษา”
แต่ด้วยความเป็นนักสู้ มีมานะพยายาม “เสถียร” ได้กลับเข้าไปเรียนที่ธรรมศาสตร์อีกครั้งใน 2 ปีต่อมา ด้วยอายุเกือบ 30 ปี แต่ที่สุดก็ต้องละทิ้งความมุ่งมั่นแต่แรกที่จะเรียนให้จบมหาวิทยาลัย
“ครั้งนั้น ผมต้องปล่อยมันไป ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นมาตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก การตัดสินใจที่จะไม่กลับมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์อีกนั้น ผมถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในชีวิตผม เพราะในยุคสมัย 50-60 ปีก่อน สิ่งที่จะช่วยเปลี่ยนสถานะของผู้คนในสังคมที่เกิดมายากจนได้ มีแต่การศึกษาเพียงอย่างเดียว ยิ่งถ้าเราจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ได้เป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชน ยิ่งดี”
ครั้งนั้น เมื่อตัดสินใจไม่เรียนต่อ “เสถียร” ได้เริ่มต้นทำธุรกิจเปิดร้านโชห่วย ด้วยเงินทุน 12,000 บาท จากการช่วยเหลือของพี่น้องเขาเอง จนขยับมาเป็น “โรงงานทำตะปู” หุ้นกับเพื่อน ๆ และมีโอกาสทำธุรกิจอีกหลายอย่าง
ตลอดเส้นทางชีวิตนั้น เขาบอกว่า “ต้องล้มลุกคลุกคลาน เคยไม่มีแม้แต่เงินขึ้นรถเมล์ เคยเดินตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงซอยแบริ่งที่สมุทรปราการ”
“ตอนนั้นผมหาเงินเข้าเช็คไม่ทัน เช็คเด้งเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกท้อต่อโชคชะตาตัวเองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สุดท้ายผมก็ค่อย ๆ ลุกยืนขึ้นมา ชีวิตผมช้ากว่าคนอื่น อายุ 36 เพิ่งนั่งเครื่องบินครั้งแรก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้คนรู้จักผมว่าทำธุรกิจสำเร็จเมื่อตอนอายุ 60 ปีแล้ว”
เจ้าพ่อคาราบาวกรุ๊ปย้ำอีกว่า เมื่อมองผ่านชีวิตสมัยเป็นนักศึกษาใหม่ ต่างก็มีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่อายุ เพศ และสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม
หลายคนอาจเป็นลูกเศรษฐี ขณะที่อีกหลายคนมีพ่อแม่เป็นชาวนาชาวไร่ หรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ ไม่ควรทำให้ใครต้องท้อแท้
“ผมอยากบอกว่า ไม่ว่าฐานะครอบครัวคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณมีความมานะพยายามจนสอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ได้แล้ว ทุกคนอยู่ในจุดที่เท่ากัน”
“ความเท่ากัน” ในที่นี้หมายถึง จุดที่เท่ากันในการแสวงหาความสำเร็จในชีวิต
เพราะเขาเชื่อว่า ไม่ว่าประเทศชาติบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะทำลายโอกาสของพวกเรา ในการสร้างฐานะให้กับตนเองและครอบครัว รวมทั้งการอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ “ขอแต่ให้มีความมุ่งมั่น โอกาสมีอยู่เสมอ โอกาสจะซ่อนอยู่หลังเป้าหมาย”
ดังนั้น จงตั้งเป้าหมายและเดินไปหามัน แต่ถ้ายังหาโอกาสไม่เจอ ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา เพราะ “โอกาส” เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นได้ และสามารถสร้างขึ้นมาได้ตลอดชีวิต ถ้าเรามุ่งมั่นที่จะ “เรียนรู้” ตลอดชีวิต
“ผมอยากให้ทุกคนจำไว้ว่า เราต้องมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้คือคัมภีร์ที่สำคัญที่จะพัฒนาตัวเราเอง เพื่อนำพาชีวิตเราไปสู่ความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน”
เขาย้ำว่า สิ่งสำคัญสำหรับทุกคนคือ การได้เข้ามาศึกษาในธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย มีคณาจารย์ที่เก่ง ๆ มีความรู้ความสามารถในแทบทุกด้าน เป็นโอกาสที่นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้ว่า โลกที่อยู่ทุกวันนี้มีมหาอำนาจมาทุกยุคทุกสมัย คำถามอยู่ที่ว่า เราจะอยู่กับมหาอำนาจนั้นได้อย่างไร
“นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่า ทำไมธุรกิจใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ๆ ของประเทศไทย จึงถูกผูกขาด ควบคุม โดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย คุณจะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากที่นี่ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ โอกาสที่ทุกคนจะได้สร้างมิตรภาพของชาวธรรมศาสตร์ ซึ่งมิตรภาพนี้จะผูกพันชีวิตเราไปตลอดชีวิต เหมือนเราเป็นชาวธรรมศาสตร์แล้ว อุดมการณ์ธรรมศาสตร์จะติดตัวเราไปตลอดชีวิตเช่นกัน
“ไม่ว่าต้นทุนชีวิตคุณจะเป็นมาอย่างไร จะเคยล้มกี่ครั้ง คุณก็สามารถจะกลับมาได้ ขอแต่ไม่ยอมแพ้เท่านั้น” เสถียรกล่าวทิ้งท้าย