5 เรื่องที่จะทำให้คุณรู้จัก “จอหงวน” การสอบสุดยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน

เวลาดูหนังจีนอิงประวัติศาสตร์ หรือหนังจีนย้อนยุค ทุกเรื่องจะต้องมีบ้านไหนสักบ้านพาลูกชายไปสอบจอหงวน แต่เราก็ไม่รู้รายละเอียดว่าจอหงวนคืออะไร เป็นใคร ทำหน้าที่อะไร ถ้าจะรู้คร่าว ๆ ก็เพียงว่าเป็นการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ

วันนี้ เรามีคำตอบแล้วว่าจอหงวนคืออะไร แถมยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับจอหงวน 5 ข้อที่จะทำให้รู้จักคำว่า “จอหงวน” มากขึ้น และยังได้ความรู้ประวัติศาสตร์จีนไปในตัวด้วย

1.จอหงวน คือใคร

เราอาจจะยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า จอหงวน ที่เขาเรียก ๆ กันคืออะไร เหมือนกันกับขันทีหรือเปล่า ขอบอกไว้ตรงนี้ว่าไม่เหมือนกัน เพราะ จอหงวน 状元 (จอหงวน เป็นการออกเสียงแบบที่นิยมในเมืองไทย เพี้ยนมาจากสำเนียงกวางตุ้งผสมกับแต้จิ๋ว ส่วนสำเนียงจีนกลางจะอ่านว่า จ้วงหยวน) คือชื่อตำแหน่งของผู้ที่สอบได้อันดับ 1 ในการสอบคัดเลือกข้าราชการของจีนแผ่นดินใหญ่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ไม่ใช่ชื่อเรียกของการสอบ) ในสมัยก่อนจะมีการจัดสอบประมาณ 3 ปีครั้ง และแต่ละครั้งจะมีเพียงคนเดียวที่ได้ตำแหน่งนี้ ถ้าเทียบกับจำนวนประชากรแล้วก็ถือว่าต้องเก่งมาก ๆ ที่จะขยับฐานันดรมาเป็นจอหงวนได้ เพราะว่าตำแหน่งนี้ใคร ๆ ก็สามารถเข้าสอบได้

ภาพผู้เข้าสอบคัดเลือกขุนนางสมัยราชวงศ์ชิง

ปัจจุบันคำว่า “จอหงวน” ใช้เรียกผู้ได้คะแนนอันดับที่หนึ่งในการสอบใด ๆ หรือในความหมายทั่วไปกว่านั้น ใช้สำหรับเรียกผู้เป็นหัวกะทิในสาขาวิชาหนึ่ง

2.การสอบสุดหิน

สถานที่สอบข้อเขียน

วิธีการสอบจอหงวน ในแต่ละครั้งโหดหินสุด ๆ เพราะตามประวัติศาสตร์ การสอบจะใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน ทุกคนจะต้องนั่งอยู่บนตั่งของตนเอง และมีฉากเฟี้ยมกั้นรอบทิศทาง เพื่อป้องกันการลอก โดยจะต้องเขียนคำตอบให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด เท่าที่ได้ยินมาบางครั้งก็กินเวลาถึง 3 วัน 3 คืน

3.ยืนหัวเต่ามังกร

เต่ามังกรหน้าท้องพระโรง สัญลักษณ์แทนจอหงวน สังเกตได้จากในท้องพระโรงของพระราชวังต้องห้ามจะมีประติมากรรมชิ้นหนึ่งเป็นรูปเต่ามังกร ซึ่งผู้ที่สอบได้ตำแหน่งจอหงวน จะยืนเฝ้าฮ่องเต้ที่หน้ารูปหล่อเต่ามังกรตัวนี้ จึงเกิดเป็นสำนวนว่า 独占鳌头 (ตู๋จ้านอ๋าวโถว) แปลตามคำศัพท์ว่า ยืนหัวเต่ามังกร หมายถึง จอหงวน ซึ่งก็คือคนเก่งเป็นอันดับ 1 หรือผู้ที่เชี่ยวชาญเป็นเลิศนั่นเอง

เต่ามังกรหน้าท้องพระโรงในพระราชวังต้องห้าม

4.ด่านสุดท้ายคือ ฮ่องเต้

ด่านสุดท้ายคือขั้นตอนที่ฮ่องเต้เป็นผู้ทดสอบเพื่อหาอันดับ 1 เมื่อสอบผ่านในระดับต่าง ๆ มาถึงรอบสุดท้าย เหล่าบัณฑิตจะเข้ามาสอบในวังหลวง ฮ่องเต้จะเป็นผู้ออกข้อสอบและควบคุมการสอบเอง โดยไม่ได้เป็นการคัดคนตก แต่เป็นการวัดอันดับว่าใครจะได้เป็นอันดับ 1 ของแผ่นดิน ได้ตำแหน่ง จอหงวน ส่วนอันดับ 2 และ 3 จะถูกเรียก ป๋างเหยี่ยน และ ทั่นฮัว ตามลำดับ

ด่านสุดท้าย เข้าสอบในวัง

5.สวมเสื้อไหมปักกลับบ้านเกิด

หลังเสร็จสิ้นการสอบ ผู้สอบได้จอหงวนจะได้รับพระราชทานรางวัลมากมายจากฮ่องเต้รวมถึงเสื้อนอกผ้าไหมปักที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สอบได้จอหงวน พร้อมทั้งมีขบวนเกียรติยศแห่จากเมืองหลวงกลับไปส่งถึงบ้านเกิด ก่อนเข้ามารับราชการในเมืองหลวงต่อไป จนเกิดเป็นสำนวน 衣锦还乡 (อีจิ่นหวนเซียง) แปลว่า สวมเสื้อไหมปักกลับบ้านเกิด ซึ่งทุกวันนี้หมายถึงคนที่จากบ้านเกิดไปทำงานจนประสบความสำเร็จและกลับมาช่วยเหลือครอบครัวญาติมิตร

ภาพวาดจอหงวนในชุดคลุมไหมปัก

สำหรับใครที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ หรือศิลปะที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ สามารถไปร่วมรับชมการแข่งขัน “LHONG Wisdom Competition” กิจกรรมตอบปัญหาภูมิปัญญาจีน ในรูปแบบที่จำลองการสอบจอหงวน ซึ่งภายในงานจะมีเกร็ดความรู้ดี ๆ ให้ฟังกันตลอดงาน พร้อมชมผู้เข้าแข่งขันที่จะแต่งกายจีนย้อนยุค และชมขบวนแห่จอหงวนจำลอง ในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ณ ล้ง 1919 ถ.เชียงใหม่ เขตคลองสาน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.LhongWisdom.com หรือทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ LHONG1919