โรคซึมเศร้า…โลกซึมเศร้า เพื่อนมนุษย์ 8 แสนคนฆ่าตัวตายใน 1 ปี

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โลกเราสูญเสียคนดังไปหลายคน การจากไปของพวกเขาเหล่านี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก ความสะเทือนใจเมื่อใครสักคนจากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรือจากไปด้วยความชรา คงไม่มากเท่าเมื่อได้ข่าวว่าใครบางคนจากไปด้วยการฆ่าตัวตายในวัยที่น่าจะอยู่ต่อตามค่าเฉลี่ย

คริส คอร์แนล นักร้องนำวงซาวนด์การ์เด้นฆ่าตัวตายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2560

เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวงลินคินพาร์กฆ่าตัวตายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560

คิม จงฮยอน นักร้องเกาหลีสมาชิกวงชายนี่ฆ่าตัวตายในวันที่ 20 ธันวาคม 2560

ทิม เบิร์กลิง หรืออาวิชี ดีเจ.ระดับโลกฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561

เคท สเปด หรือเคท วาเลนไทน์ ดีไซเนอร์ดังผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ เคท สเปด ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561

แอนโธนี บอร์เดน เชฟดังระดับโลกฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561

6 คน คือจำนวนคนดังระดับโลกที่ลาโลกไปด้วยการฆ่าตัวตาย ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปีนี้ ซึ่งถือว่าถี่มาก ๆ เฉลี่ย 2 เดือนต่อ 1 คน

800,000 คน คือจำนวนเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก ทั้งดังและไม่ดังที่ฆ่าตัวตายจากเราไปใน 1 ปี ตัวเลข 800,000 นี้เป็นจำนวนเฉพาะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เก็บข้อมูลได้ และ WHO ยังมีข้อมูลอีกว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุสำคัญอันดับที่ 2 ของการเสียชีวิตในคนช่วงอายุ 15-29 ปี

สาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตายคือบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือมีภาวะซึมเศร้าซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา

โรคซึมเศร้า (depression) เป็นภาวะโรคทางจิตเวชที่พบบ่อย เมื่อเดือนมีนาคม 2561 องค์การอนามัยโลก มีรายงานสถานการณ์โรคซึมเศร้าทั่วโลกว่า คนทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน ทุกเพศทุกวัยประสบปัญหาภาวะโรคซึมเศร้า แบ่งตามเพศชาย-หญิง พบว่าผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย

มีข้อมูลว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความตระหนักตื่นตัวเรื่องโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย มากกว่าในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา สอดคล้องกับสถิติของ WHO ที่บอกว่าร้อยละ 78 ของการฆ่าตัวตายทั่วโลกเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง

แม้ว่าเราจะได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” บ่อยขึ้น ๆ แต่ความเป็นจริง คนในสังคมยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าน้อยอยู่

ภาวะโรคซึมเศร้านั้นแตกต่างจากความเศร้าทางอารมณ์ หรือความผันผวนของอารมณ์ตามปกติที่เกิดขึ้นเมื่อเสียใจ ผิดหวัง แต่ยังมีความเข้าใจผิดเรียกคนที่เศร้าเพราะผิดหวังว่า “เป็นโรคซึมเศร้า”

ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความอธิบายเรื่องโรคซึมเศร้าไว้ว่า คำว่า “โรค” บ่งว่าเป็นความผิดปกติทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้อาการทุเลา ต่างจากภาวะอารมณ์เศร้าตามปกติธรรมดาที่ถ้าเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวคลี่คลายลง หรือมีคนเข้าใจเห็นใจ อารมณ์เศร้าก็อาจหายได้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้านอกจากมีอารมณ์ซึมเศร้าร่วมกับอาการต่าง ๆ แล้ว การทำงานหรือการประกอบกิจวัตรประจำวันก็แย่ลงด้วย

ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้น เชื่อกันว่าสัมพันธ์กับหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคซึมเศร้าได้แก่

1.กรรมพันธุ์ 2.สารเคมีในสมอง พบว่าระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างชัดเจน โดยสารที่สำคัญได้แก่ ซีโรโทนิน (serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านี้ 3.ลักษณะนิสัย บางคนมีแนวคิดที่ทำให้ตนเองซึมเศร้า เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดันจะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมอาการอาจมากจนเป็นโรคซึมเศร้าได้

ศ.นพ.มาโนช อธิบายเกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าว่า หากได้รับการรักษา ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะอาการดีขึ้นมาก จนบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมตัวเองจึงรู้สึกเศร้าได้ถึงขนาดนั้น

การรักษาโรคซึมเศร้าที่สำคัญคือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่อาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัว หรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น

ศ.นพ.มาโนชบอกอีกว่า โรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เมื่ออาการดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ต่างไปจากเดิมมากขึ้น โดยมีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย 5 ข้อดังนี้ 1.ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้จิตใจดีขึ้น 2.อย่าตั้งเป้าหมายยากเกินไป เพราะจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง 3.เลือกกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกดี ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ 4.อย่าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เพราะขณะที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า อาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาด 5.ให้แยกแยะปัญหาเป็นส่วนย่อย ๆ จัดเรียงลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนควรทำก่อน-หลัง แล้วทำตามลำดับ โดยทิ้งปัญหาย่อยอื่น ๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่

นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำสำหรับญาติของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า ญาติมักจะรู้สึกห่วงผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงได้ซึมเศร้ามากขนาดนี้ แต่ทั้งนี้ภาวะที่เขาเป็นไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะผิดปกติ เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ เป็นปรากฏการณ์ของความเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น อาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไป

“หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง” หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลบอก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ WHO บอกว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยน้อยกว่าครึ่งที่ได้รับการรักษา และในหลายประเทศไม่ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยด้วยซ้ำ ซึ่ง WHO บอกว่าอุปสรรคของการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การขาดแคลนทรัพยากร การขาดผู้ให้บริการดูแลที่ผ่านการฝึกอบรมในเรื่องนี้มา ขาดการประเมินและวินิจฉัยที่ถูกต้อง และความไม่เข้าใจของสังคม

เพื่อเป้าหมาย การลดจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า WHO ได้ออก Mental Health Gap Action Programme เป็นแนวทางการรักษาที่แนะนําสำหรับทั่วโลก คือ การให้คําปรึกษา ร่วมกับการให้ยาต้านเศร้า หรือจิตบําบัด เช่น การบําบัดโดยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavior therapy) จิตบําบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal psychotherapy) เป็นต้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ดำเนินตามแนวทางนี้อยู่

ในไทยมีหลายหน่วยงานที่ให้บริการให้คำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต โทร.1323 หน่วยบริการทางการแพทย์ ด้านจิตเวชศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โทร.0-2201-1235 หรือ 0-2201-1726 แต่เหนืออื่นใด คนใกล้ตัวมีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยให้ผ่านพ้นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโรคซึมเศร้า หรือเศร้าจากความเสียใจผิดหวัง