ชวนรู้จัก ‘ 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง’ เสี่ยงแผ่นดินไหวในไทย

แผ่นดินไหวยังแรง “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนรู้จัก 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังเสี่ยงแผ่นดินไหวในไทยพาดผ่านหลายจังหวัด หลังเหตุแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยสะเทือนจังหวัดกระบี่ 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2568 เวลา 14.27 น. ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่ามีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ต.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ที่ละติจูด 8.022 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.978 องศา ตะวันออก ขนาด 3.5 ความลึก 2 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ อ.เหนือคลอง และ อ.เมือง กระบี่ จ.กระบี่ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจากการเลื่อนตัวของกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่มีการวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีการเลื่อนตัวตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย (Left lateral strike slip fault) โดยประชาชนในพื้นที่ อ.เหนือคลอง อ.เมือง จ.กระบี่ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงชวนมารู้จักกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทย โดยในเว็บไซต์กรมทรัพยากรธรณีระบุข้อมูลไว้ว่า ในประเทศไทยมี “รอยเลื่อนที่มีพลังในไทย 16 กลุ่มรอยเลื่อน” ด้วยกันได้แก่ กลุ่มรอยเลื่อย “แม่จัน” พาดผ่านจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ , กลุ่มรอยเลื่อย “แม่อิง” พาดผ่านจังหวัดเชียงราย , กลุ่มรอยเลื่อน “แม่ฮ่องสอน” พาดผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอนและตาก

กลุ่มรอยเลื่อน “เมย”   พาดผ่านจังหวัดตาก และ กำแพงเพชร , กลุ่มรอยเลื่อน “แม่ทา” พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่  ลำพูน และ เชียงราย , กลุ่มรอยเลื่อน “เถิน”  พาดผ่านจังหวัดลำปาง และ แพร่ , กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านจังหวัดพะเยา เชียงราย และ ลำปาง , กลุ่มรอยเลื่อน “ปัว” พาดผ่านจังหวัดน่าน , กลุ่มรอยเลื่อน “อุตรดิตถ์” พาดผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์

ADVERTISMENT

กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี , กลุ่มรอยเลื่อน “ศรีสวัสดิ์”  พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี และสุพรรณบุรี , กลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่านจังหวัดระนอง  ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และ พังงา ,กลุ่มรอยเลื่อน “คลองมะรุ่ย” พาดผ่านจังหวัด สุราษฎร์ธานี กระบี่  พังงา และภูเก็ต ,กลุ่มรอยเลื่อน “เพชรบูรณ์”  พาดผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์และเลย ,กลุ่มรอยเลื่อน “แม่ลาว”  พาดผ่านจังหวัดเชียงราย และสุดท้ายกลุ่มรอยเลื่อน”เวียงแหง” พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า รอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) คือ พื้นที่ที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัว มาแล้วในช่วง 10,000 ปี ซึ่งบริเวณรอยเลื่อนมีพลังนี้จะพบแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง รอยเลื่อนมีพลังมี โอกาสที่จะขยับตัวได้อีกในอนาคต

ADVERTISMENT