ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นักธุรกิจหนุ่ม นักการเมืองหน้าใหม่ คุณพ่อผู้เลี้ยงลูกแบบมินิมอล

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง


หลายปีแล้วที่ชื่อของ ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปรากฏเป็นข่าวทั้งในหน้าข่าวเศรษฐกิจ ข่าวสังคม และข่าวบันเทิง ในฐานะนักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย
 
และในฐานะชายหนุ่มที่เข้าประตูวิวาห์ใช้ชีวิตคู่กับนักแสดงสาว ต่าย-ชุติมา ทีปะนาถ (ต่าย ซีซั่นเชนจ์) มาปีนี้ ชื่อของเขาเป็นข่าวในหน้าข่าวการเมืองเพิ่มขึ้นมา ในฐานะผู้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่

แม้จะเป็นคนดังในข่าวมานาน แต่พอค้นลงไป เราพบว่า ในแง่มุมส่วนตัว ตัวตน ความคิดของเขา ยังไม่ได้ถูกเปิดออกมามากเท่าไหร่นัก

ในห้วงเวลานี้เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ ทิม พิธา กำลังเป็นข่าวในหลายทาง ก่อนหน้าจะเปิดตัวในฐานะนักการเมืองก็มีประเด็นเรื่องครอบครัวกับภรรยาสาว ซึ่งนักข่าวบันเทิงตามข่าวกันอยู่ นี่จึงถือว่าเป็นเวลาเหมาะสมที่ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพูดคุยและพาคุณผู้อ่านทำความรู้จักบุคคลที่กำลังฮอต และอาจจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทของบ้านเราในอนาคต

ทิม พิธา เป็นคนโปรไฟล์หรูมากคนหนึ่ง เขาเรียนประถมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน แล้วไปต่อมัธยมที่นิวซีแลนด์ กลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เทกซัส เรียนการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเรียนด้านการบริหารที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)

ในระหว่างการเรียนที่ฮาร์วาร์ด พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ พ่อของเขาเสียชีวิต ทิมจึงจำเป็นต้องหยุดเรียน กลับมาจัดการสานต่อธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มจากติดหนี้ แต่ใช้เวลาเพียง 3 เดือน เขาก็สามารถตั้งธุรกิจ และสามารถนำสินค้าของบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ส่งออกไปขายญี่ปุ่นได้ มีเงินสดหมุนเวียน จากลบก็กลายเป็นบวก แล้วสำเร็จขึ้นมาเป็นธุรกิจรายได้หลักพันล้าน เมื่อธุรกิจไปได้แล้ว เขาจึงกลับไปเรียนฮาร์วาร์ดให้จบ และต่อด้วยเรียนบริหารที่ MIT แล้วกลับมาไทยอีกครั้งในปี 2011

ทิมบอกว่า นอกจากได้ภาษา ได้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง รู้วิธีบริหารเงิน มีอีกสองเรื่องสำคัญที่เขาได้ติดตัวมาจากนิวซีแลนด์ คือ ความสนใจด้านการเกษตร เพราะเขาได้เห็นว่านิวซีแลนด์พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้ผลผลิตมีมูลค่าสูง รวมถึงตัวเขาเองเคยทำงานเก็บสตรอว์เบอรี่ และส่งนมด้วย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ความสนใจด้านการเมือง เนื่องจากแม่บ้านชอบเปิดดูประชุมสภา เขาจึงได้ดูการอภิปราย การถกเถียงของนักการเมืองในสภาอยู่บ่อย ๆ

สำหรับประสบการณ์การศึกษาในสถาบันระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ด เขาบอกว่า หลักสูตร หนังสือเรียนแทบไม่ต่างจากในไทย แต่ที่ต่างคือคุณภาพการสอนและคุณภาพของนักศึกษา เพราะที่นั่นได้เรียนกับคนที่เป็นตัวจริงในแต่ละสาขา ซึ่งวิธีการสอนต่างจากบ้านเราตรงที่ครูจะไม่ค่อยพูด แต่จะทำตัวเป็นผู้ถาม เป็นผู้จัดให้เกิดการถกเถียง ขณะที่นักศึกษามีคนอเมริกันครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนจากนานาชาติ ในห้องเรียนจึงได้เห็นความคิดที่แตกต่างกันมากมาย

“ส่วนที่ MIT เป็นอะไรที่เปิดหูเปิดตามากขึ้นหน่อย เนื่องจากตอนนั้นทำงานเกี่ยวกับการเกษตรอยู่แล้ว พอไปที่นั่นก็อยากรู้เรื่องเทคโนโลยีที่ใช้ในภาคการเกษตรได้จริง ๆ การเกษตรที่นู่นทุกอย่างเป็นตัวเลขหมด เวลาเขาจะทำอะไร เขาจะวัดค่าหมด เป็นการเกษตรแม่นยำ ไม่มีการเดา ทำให้ประหยัดน้ำ ประหยัดปุ๋ย ประหยัดต้นทุน ประเทศเราใส่หมดเลย ต้นทุนถึงได้สูง ข้าว ยาง ต้นทุนเราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหมดเลย”

ในฐานะผู้บริหารธุรกิจ ทิมให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม “ทุกธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเน้นการทำงานเป็นทีม ตอนนั้นหรือตอนนี้ก็รู้สึกว่าเรายังเด็กอยู่ เราต้องทำงานกับคนที่มีประสบการณ์มากกว่า ในการทำธุรกิจ คุณต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมีภาวะผู้นำ แต่คุณต้องมีทีมที่ดีด้วย”

ส่วนหลักการบริหารธุรกิจของเขา คือ 1.ต้องรู้จักเร็ว-ช้า และหนัก-เบา 2.ไม่ว่าจะทำอะไรต้อง ใหม่ ชัด โดน

“เมื่อมีทีมงานทั้งหลายแล้ว คุณต้องรู้จักเร็ว-ช้า และหนัก-เบา ต้องรู้จักเรียงลำดับความสำคัญ เรื่องคน ต้องช้า-ต้องเบา จะเร็วหนักเหมือนฝรั่งทั้งหมดไม่ได้ ส่วนเรื่องคู่แข่ง เรื่องการตลาด เมื่อโอกาสมาแล้ว คุณต้องเร็ว ต้องหนัก จะกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่ตัดสินใจก็ไม่ได้”

“อีกอย่างคือ ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องใหม่ ชัด โดน สินค้าต้องมีความใหม่ และต้องชัดเจนว่า ทำให้ใคร แล้วต้องโดนกลุ่มเป้าหมาย ต้องเป็นไฮเทค หรือไฮทัช ต้องทำอะไรที่เอาเทคโนโลยีมาจับ หรือไม่ก็ต้องขายเสน่ห์ความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้านั้น ถ้าไฮเทคก็เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล ถ้าไฮทัชก็อย่าง อิตาลี ญี่ปุ่น ข้าวญี่ปุ่นขายกิโลละหนึ่งพันบาท เพราะเขาสามารถเล่าสตอรี่ได้ว่า มันมาจากน่านน้ำที่มาจากภูเขาไฟฟูจิ ดินที่ปลูกมีแร่ธาตุจากภูเขาไฟ ทุกเม็ดมีน้ำหนักเท่ากันหมด คนที่ปลูกเป็นลูกหลานดั้งเดิมที่ปลูกวิธีเดิมตั้งแต่สมัยเมจิ”

หลังจากทำธุรกิจครอบครัวสำเร็จแล้ว ทิมเปลี่ยนสายไปทำงานที่บริษัทแกร็บ (Grab) อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนจะตัดสินใจมาเล่นการเมือง ตามคำชวนของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งทิมบอกว่า “ผมติดตามคุณธนาธรมานานผมตามฟังนโยบายพรรค ฟังวิธีคิด วิสัยทัศน์ของพรรคกับวิสัยทัศน์ของผมใกล้เคียงกัน” และคิดว่าถึงเวลาแล้ว จึงตอบรับคำชวน โดยมีเป้าหมายทางการเมือง คือ เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีศักยภาพอย่างที่ควรจะเป็น

หลังจากเปิดตัว หัวหน้าพรรคก็ประกาศว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือ คนที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ของพรรค

พิธาฉายวิสัยทัศน์ในด้านการเกษตรของเขาว่า “ต้องมองเป็นแบบสั้น แบบกลาง แบบยาว อันที่หนึ่ง ผมมองว่าศักยภาพของเกษตรกรไทยไม่ใช่สินค้า แต่คือองค์ความรู้ที่เขามี ผมคิดเรื่องเกษตรท่องเที่ยว ให้รายได้ของเกษตรกรไม่ได้มาจากการขายข้าวอย่างเดียว แต่ได้กำไรจากการท่องเที่ยวมากกว่า รัฐต้องเข้าไปช่วย ให้กระจายการท่องเที่ยวที่กระจุกออกไปสู่เมืองรอง จุดแข็งของประเทศเรา คือ เรื่องการผลิตอาหาร และเรื่องการท่องเที่ยว ผมคิดว่าถ้าเราเอาสองเรื่องนี้มารวมกันได้ เราไม่แพ้อิตาลี หรือญี่ปุ่น ที่เขาเน้นเรื่องพวกนี้

อันที่สอง ที่อยากทำระยะสั้น คือ อยากลดต้นทุนให้ได้ ต้นทุนที่เห็นเยอะ ๆ คือ ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าเมล็ดพันธุ์ อะไรที่รัฐสามารถไปลดให้ได้ ก็อยากให้เข้าไปช่วยเรื่องราคาเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ และอยากเห็นการเอาเครื่องจักรพื้นฐานเข้าไปใช้ อย่างรถเกี่ยวข้าว ยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้เครื่องมือเบสิกเหล่านี้ อุตสาหกรรมการเกษตรบ้านเราควรได้รับการพัฒนา รถไถต้องพัฒนาให้เหมาะกับการใช้ในหลายสภาพพื้นที่ที่ต่างกัน แค่นี้ก็ช่วยลดค่าแรง ลดต้นทุนลง

ระยะกลาง คือ เรื่องปัจจัยการผลิต การแปรูรูปต่าง ๆ และอยากจะเห็นเกษตรที่หลากหลายมากขึ้น อยากเน้นเรื่องไม้เศรษฐกิจ พวกพืชสมุนไพร ปลูกผักที่สามารถใช้จ่ายในชุมชน ตัวอย่างที่เห็นในเวียดนาม คือ ในนาหนึ่งผืนจะมีการปลูกข้าวและแบ่งพื้นที่ปลูกผัก แล้วโรงเรียน โรงพยาบาลในพื้นที่รับซื้อ ก็จะสามารถกระจายความเสี่ยงได้ หรืออย่างการปลูกยาง มีพื้นที่ว่างตรงกลางต้องปลูกผัก ปลูกพืชอย่างอื่น ที่ทำให้เกิดเป็นยางที่ยั่งยืนมากขึ้น และมีการแปรรูปยางในพื้นที่

ส่วนระยะยาว เรื่องน้ำ ผมมองว่าลุ่มน้ำธรรมชาติ 25 ลุ่ม ต้องขุดให้เชื่อมกันให้หมด ถ้าเชื่อมกันไม่หมด มันก็มีอยู่แค่ในพื้นที่ของตรงนั้น แต่พื้นที่ตรงกลางน้ำไปไม่ถึง”

ได้เห็นแง่มุมการงานไปแล้ว มาทำความรู้จัก ทิม พิธา ในด้านส่วนตัวกันบ้าง

ชายหนุ่มวัยใกล้ 40 บอกว่า สิ่งที่เป็นความชอบของเขา คือ การวาดภาพสีน้ำ ซึ่งเคยเรียนเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเวลาวาด เพราะต้องทุ่มเทเวลาให้กับการเลี้ยงลูกสาวอายุ 3 ขวบ

ในเรื่องครอบครัว คุณพ่อคนนี้บอกว่า เขาเลี้ยงลูกโดยให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง 3 เรื่องให้ลูก คือ 1.nature mind อยากให้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กลางแจ้ง พยายามพาไปต่างจังหวัด ไปสวนสาธารณะ ทำให้ลูกไม่ติดมือถือ และไม่ติดของเล่นแพง ๆ 2.public mind คือ การให้ลูกคำนึงถึงคนอื่น สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ 3.ให้รู้คุณค่าของเงิน ให้เข้าใจว่าความสุขไม่จำเป็นต้องมาจากเงิน

“ลูกผมมีของเล่นน้อยมาก เขาเล่นขวดน้ำที่เอาลูกแก้วมาใส่ เล่นกระดาษหนึ่งแผ่นที่เอาปากกามาเจาะเป็นรู ๆ แล้วเอาไฟฉายส่อง สำหรับผมที่โตมาทั้งในสังคมไทยด้วย สังคมต่างประเทศด้วย อยู่กับครอบครัวมาสามสี่ครอบครัว เห็นว่าคนเราก็โตขึ้นมาและมีความสุขได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นวิธีที่เราโตมาอย่างเดียว ผมพาเขาไปที่ทีเคพาร์ก หรือที่เล่นรวมที่สวนเบญจสิริ มันสนุกกว่า มันมีทุกอย่าง ชุดครัว ชุดเลโก้ ให้เขาไปเล่นกับเพื่อนที่เขาไม่รู้จัก มันคือการฝึกให้เขาเข้าสังคม รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการเข้าคิวรอ รู้ว่าคนนี้เป็นพี่เรา คนนี้อายุน้อยกว่าเรา เราจะปฏิบัติยังไง การพาเขาไปเล่นตรงนั้น มันทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินมาก”

สุดท้าย ทิมบอกถึงอีกด้านในตัวเขาว่า “ผมอินกับเทรนด์มินิมอลลิสต์แบบคนญี่ปุ่น เขามีของในห้องแค่ 50 ชิ้น อะไรที่ไม่จำเป็นเขาทิ้งหมด ผมก็อิน ส่งผลมาถึงวิธีการใช้ชีวิต การใช้เงิน และการเลี้ยงลูก ทำให้รู้สึกว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องมีอะไรมากมายขนาดนั้น ประกอบกับแชริ่งอีโคโนมีที่ผมทำงานมาก่อนหน้านี้ ก็คิดว่าทุกอย่างมันแชร์ได้หมดแล้ว ฉะนั้น ส่วนตัวผมก็ทำอย่างนั้น ลูกผมก็ทำอย่างนั้น อะไรแชร์ได้ก็แชร์”