“ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ที่ WHO เพิ่งประกาศ คืออะไร สำคัญอย่างไร

บรรยากาศในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ภาพโดย Kevin Frayer/Getty Images

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) เพิ่งประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) หลังจากประชุมพิจารณาสถานการณ์ในวันที่ 30 มกราคม 2563 ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ก่อนหน้านี้ WHO เคยประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” มาแล้ว 5 ครั้ง ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ในปี ค.ศ. 2009, โปลิโอ ปี 2014, อีโบลา ในแอฟริกาตะวันตก ปี 2014, ซิก้า ปี 2016, อีโบลา ในประเทศคองโก ปี 2019 และ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6

ในสถานการณ์ร้อนนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ขอพาไปหาคำตอบว่า “ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) คืออะไร สำคัญอย่างไร และการประกาศภาวะฉุกเฉินนี้จะต่างจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ประกาศอย่างไร

Photo by Fabrice COFFRINI / AFP

ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) หมายถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่น ๆ จากการแพร่ระบาดระหว่างประเทศและต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือกับเหตุการณ์นั้น

การพิจารณาว่าเหตุการณ์ใดเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เข้ากับเงื่อนไขอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อต่อไปนี้

1.เป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านสาธารณสุขที่รุนแรง

2.เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติหรือไม่คาดคิดมาก่อน

3.มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดข้ามประเทศได้

4.มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องจำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ

เพื่อป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิด “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (PHEIC) อย่างมีประสิทธิภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออก “กฎอนามัยระหว่างประเทศ” (International Health Regulations หรือ IHR) ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ (Treaty) ที่ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม เพื่อร่วมมือกันจัดการกับเหตุการณ์ที่มีศักยภาพในการแพร่ระบาดข้ามประเทศไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก โดยใช้วิธีจัดการให้มีผลกระทบต่อการเดินทางและการค้าขายระหว่างประเทศน้อยที่สุด

“กฎอนามัยระหว่างประเทศ” (IHR) ฉบับแรกเริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 (ค.ศ.1969) แต่พบปัญหาว่า บางประเทศใช้ปัญหาโรคติดต่อระหว่างประเทศเป็นข้อกีดกันทางการค้า การใช้มาตรการที่รุนแรงเกินจำเป็น เช่น การกักตัว การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล นอกจากนี้สถานการณ์โรคติดต่อระหว่างประเทศเปลี่ยนไป มีโรคติดต่ออันตรายใหม่ ๆ ที่แพร่ระบาดข้ามประเทศเกิดขึ้น เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เป็นต้น ซึ่ง IHR ฉบับเดิมไม่ครอบคลุม องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกจึงได้ทบทวนปรับปรุงแก้ไขใหม่โดยได้รับความเห็นชอบจากนานาประเทศสมาชิกในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005) และเรียกชื่อย่อว่า IHR (2005) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้นมา

ความแตกต่างระหว่าง IHR ฉบับเก่ากับฉบับใหม่ (2005) คือ IHR ฉบับเก่าเน้นการควบคุมโรคที่ช่องทางเข้าออกประเทศ (Point of Entry หรือ PoE) โดยกำหนดโรคที่ต้องควบคุมและรายงานเพียง 3 โรค ได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้เหลือง และกาฬโรค แต่ IHR ฉบับใหม่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องพัฒนาสมรรถนะหลัก (Core Capacity) ให้สามารถตรวจจับการระบาดของโรคหรือภัยคุกคามด้านสาธารณสุขได้ตั้งแต่ระดับชุมชน วางมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ไมส่งผลกระทบต่อการเดินทาง/ขนส่งระหว่างประเทศโดยไม่จำเป็น และกำหนดโรคที่ต้องแจ้งให้องค์การอนามัยโลกทราบภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีทั้งโรคติดต่อที่มีโอกาสแพร่ระบาดข้ามประเทศ รวมทั้งเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดจากโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน อาหาร สารเคมี และกัมมันตรังสีและนิวเคลียร์ด้วย

สาระสำคัญของ IHR (2005) ประกอบด้วยตัวบท 66 มาตรา โดยเรียงมาตราตั้งแต่บทนิยาม เจตนารมณ์ และขอบเขต หลักการและอำนาจตามความรับผิดชอบ ข้อมูลข่าวสาร และการดำเนินการด้านสาธารณสุข คำแนะนำ การดำเนินการที่ช่องทางเข้าออก (Point of Entry) การจัดการขององค์การอนามัยโลก

ส่วนแนวทางปฏิบัติของประเทศสมาชิกตาม IHR (2005) ถูกกำหนดไว้ในภาคผนวกซึ่งมีทั้งสิ้น 9 ผนวก (Annex) โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อกำหนดตาม IHR (2005) โดยเฉพาะสมรรถนะหลัก (Core Capacity) ในการเฝ้าระวังการเตรียมความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ตลอดจนช่องทางเข้าออกของประเทศสมาชิก รวมทั้งเครื่องมือตัดสินใจในการประเมินและแจ้งเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศต่อองค์การอนามัยโลก

ข้อกำหนดส่วนหนึ่ง “กฎอนามัยระหว่างประเทศ” มีอยู่ว่า

1.แต่ละประเทศต้องจัดให้มีหน่วยงานและผู้แทน (National IHR focal point) ในการประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ

2.แต่ละประเทศต้องมีการเสริมสร้างศักยภาพการเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมโรค

-ด้านการเฝ้าระวังปกติ

-ตามช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ

-การตรวจจับและตอบสนองต่อภัยฉุกเฉินข้ามชาติ

สรุปว่า การที่ WHO ประกาศให้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ก็เพื่อจะบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ ได้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการระบาดและป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงไปกว่านี้

 

———————–


อ้างอิง : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข