จุดสิ้นสุดของ 5 โรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลก

จุดสิ้นสุดของ 5 โรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์โลก
ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วทั้งโลกอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้าง จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครให้ความมั่นใจได้ว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้จะแพร่ระบาดไปถึงเมื่อไหร่ และจะสิ้นสุดลงอย่างไร

อย่างไรก็ดี ในอดีตมีโรคระบาดเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หากนับเฉพาะครั้งที่รุนแรง ก็มีหลายครั้งที่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตหลายสิบล้านราย น่าสนใจว่าการแพร่ระบาดเหล่านั้นมีจุดสิ้นสุดหรือคลี่คลายไปอย่างไร ดังนั้น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอพาไปดูข้อมูล 5 โรคระบาดร้ายแรงในประวัติศาสตร์ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร สร้างความเสียหายไปขนาดไหน และที่สุดแล้วมันคลี่คลายอย่างไร

กาฬโรคแห่งจัสติเนียน ประวัติศาสตร์

กาฬโรคแห่งจัสติเนียน : ไม่มีใครเหลือให้แพร่เชื้อ

กาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนียเพสติส (Yersinia Pestis) เกิดการแพร่ระบาดขึ้นราวปี ค.ศ. 541-542 ในสมัยของจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ผู้ปกครองอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) หรือโรมันตะวันออก โรคร้ายนี้เข้ามาระบาดในกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) โดยมีพาหะนำโรคคือหนูและหมัดที่แฝงมากับเมล็ดธัญพืชซึ่งเป็นเครื่องบรรณาการจากอียิปต์ที่ขนส่งทางเรือผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเข้ามายังคอนสแตนติโนเปิล จากนั้นเกิดการติดต่ออย่างรวดเร็วไปทั่วโลก

มีการสันนิษฐานโรคระบาดในครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปราว 30-50 ล้านคน โดยเฉพาะประชากรในกรุงคอนสแตนติโนเปิลเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 40% ซึ่งเป็นไปได้ว่ากาฬโรคจัสติเนียนนี้อาจคร่าชีวิตมนุษย์ครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกในสมัยนั้น และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของอาณาจักรโรมันด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตยังต้องค้นคว้าหลักฐานอีกมาก

ส่วนจุดจบของกาฬโรคจัสติเนียนนั้น ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นักประวัติศาสตร์คาดเดาว่าประชากรส่วนใหญ่ในยุคนั้นติดเชื้อ แล้วมีคนบางส่วนรอดชีวิตมาได้เพราะมีภูมิคุ้มกัน คล้ายเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติ จนเชื้อโรคไม่สามารถแพร่ระบาดได้อีกต่อไป

Black Death กาฬมรณะ

กาฬมรณะ : จุดกำเนิดของการกักตัว

กาฬมรณะ (Black Death) หรือกาฬโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนียเพสติส (ตัวเดียวกับกาฬโรคจัสติเนียน) เกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1340s มีการสันนิษฐานว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากตอนใต้ของประเทศอินเดียและประเทศจีน แพร่ระบาดไปตลอดเส้นทางสายไหม กระจายไปทั่วทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

กาฬโรคครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวยุโรปไปมากถึง 30-60% ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น ด้วยการแพร่ระบาดที่รวดเร็วและอัตราการเสียชีวิตที่สูงถึง 80% ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านคน นับเป็นเหตุการณ์การแพร่ระบาดที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบ

ถึงแม้ว่าในสมัยก่อน ผู้คนจะยังไม่มีความเข้าใจอย่างมีหลักการเกี่ยวกับโรคติดต่อเท่าไรนัก แต่ก็พอจะรู้ว่าการแพร่ระบาดเกิดจากความใกล้ชิด เจ้าหน้าที่การท่าเรือในเมืองรากูซา (Ragusa) ประเทศอิตาลี จึงได้กักตัวและแยกเหล่ากะลาสีและลูกเรือที่จะเข้ามาในเมืองจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีอาการป่วยเป็นเวลา 40 วัน ซึ่งในภาษาอังกฤษคำว่า quarantine ที่แปลว่าการกักตัวก็มีที่มาจากคำว่า quarantino ที่แปลว่าการกักตัวเป็นเวลา 40 วันในภาษาอิตาเลียน

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการกักตัวในครั้งนั้นช่วยให้การแพร่ระบาดลดลงได้มาก และยังเป็นต้นแบบของการนำไปปฏิบัติทั่วโลกตะวันตก จนสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ในราวปี ค.ศ. 1351

The Great Plague of London : ปิดตายผู้ป่วย

The Great Plague of London หรือการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน ในช่วงปี ค.ศ. 1348-1665 ผู้คนที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอนต้องเผชิญกับกาฬโรคจากเชื้อแบคทีเรียเยอร์ซิเนียเพสติสทุกประมาณ 20 ปี ตลอดช่วงเวลา 300 ปีนั้น ซึ่งการแพร่ระบาดในแต่ละครั้ง คร่าชีวิตผู้คนในเมืองไปราว 20% จนช่วงต้นศตวรรษที่ 1500s ประเทศอังกฤษออกกฎหมายให้แยกตัวผู้ป่วย บ้านไหนที่มีผู้ป่วยจะต้องนำมัดฟางมาแขวนที่เสาสีขาวหน้าบ้าน

ครั้งสุดท้ายที่เกิดโรคขึ้นคือในปี ค.ศ. 1665 ภายในระยะเวลาเพียง 7 เดือน กาฬมรณะคร่าชีวิตชาวลอนดอนกว่า 100,000 คน คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรในสมัยนั้นที่มีอยู่ราว 480,000 คน เหตุการณ์การระบาดครั้งนั้นรุนแรงและรวดเร็วจนพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ต้องย้ายจากลอนดอนไปประทับยังออกซฟอร์ด ประชาชนที่มีกำลังทรัพย์ต่างพากันโยกย้ายออกจากกรุงลอนดอน เหลือเพียงคนจนที่ยังต้องอยู่ในลอนดอนเพราะไม่มีทางเลือก

จุดจบของโรคระบาดในครั้งนั้นค่อนข้างรุนแรง คือ เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะถูกขังอยู่ในบ้านพร้อมกับคนในครอบครัว บ้านที่ถูกปิดตายจะมีการแขวนกางเขนสีแดงที่หน้าประตูสลักคำว่า “Lord have mercy on us.” มีความหมายว่า พระเจ้าทรงเมตตาพวกเรา โดยในตอนกลางคืนจะมีการขนศพออกมาจากบ้าน และนำไปรวมกันใน “หลุมเชื้อโรค” (plague pits) จนสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้

ไข้ทรพิษ : การผลิตวัคซีนตัวแรกของโลก

ไข้ทรพิษ (Smallpox) หรือโรคฝีดาษ เกิดจากเชื้อไวรัสวาริโอลา (Variola Virus หรือ VARV) เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 15 เมื่อคนจากยุโรปเดินทางไปยังอเมริกาได้นำโรคฝีดาษไปแพร่ระบาดแก่คนพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก่อนจะแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นยุคของการเดินทางสำรวจโลกและล่าอาณานิคม

ตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาด ไข้ทรพิษคร่าชีวิตชนพื้นเมืองอเมริกันมากถึง 90-95% ส่วนในยุโรป ช่วงศตวรรษที่ 1800s มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึงปีละกว่า 400,000 ราย หากรวมตลอดเวลาหลายร้อยปีของการแพร่ระบาด ไข้ทรพิษคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปไม่น้อยกว่า 56 ล้านคนจนช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) นายแพทย์ชาวอังกฤษสังเกตว่า หญิงรีดนมวัวที่ติดเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงน้อยกว่าที่มีชื่อเรียกว่าฝีดาษวัว (Cowpox) ไม่เคยป่วยเป็นไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษเลยสักครั้ง

เขาจึงได้ศึกษาและทดลองโดยการนำหนองจากแผลของผู้ป่วยฝีดาษวัวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังของเด็กชายอายุ 9 ขวบ แล้วจึงนำเชื้อไข้ทรพิษเข้าสู่ร่างกายของเด็กชายคนนี้ ปรากฏว่าเด็กชายไม่มีอาการล้มป่วยด้วยโรคร้าย เป็นข้อพิสูจน์ว่าเชื้อฝีดาษวัวช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กชาย ซึ่งต่อมา ผลการทดลองนี้ได้รับการเผยแพร่สู่วงวิชาการแพทย์ และมีการเรียกวิธีสร้างภูมิคุ้มกันนี้ว่า “วัคซีน” (vaccine) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า “vacca” ที่แปลว่าวัว

ปัจจุบัน ไข้ทรพิษเป็นโรคติดต่อในมนุษย์ชนิดเดียวที่ถูกกำจัดไปจากธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกในเดือนพฤษภาคมปี 1980

ไข้หวัดใหญ่สเปน สิ้นสุดลงได้อย่างไร

ไข้หวัดใหญ่สเปน : ผลการเว้นระยะห่างทางสังคม

ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอชวันเอ็นวัน (H1N1) โดยสันนิษฐานว่าน่าจะมีลักษณะเดียวกับไข้หวัดนก คือ แพร่เชื้อจากสัตว์มาสู่คน แพร่ระบาดไปทั่วโลกในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1918-1919

ในความเป็นจริงแล้ว ไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้พบครั้งแรกในยุโรป สหรัฐอเมริกา และบางพื้นที่ในทวีปเอเชีย ก่อนจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลาไม่กี่เดือน แต่เหตุที่เรียกไข้หวัดสเปน เพราะสเปนเป็นประเทศแรกที่ประกาศการแพร่ระบาด เนื่องจากเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าร่วมในสงคราม

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง มาจากบรรดาทหารที่ติดเชื้อไวรัสและเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อราว 500 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรโลกในสมัยนั้น โดยมีผู้เสียชีวิตราว 40-50 ล้านคน มากกว่ายอดเสียชีวิตของทหารและพลเรือนในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึง 3 เท่า

ในสมัยนั้นยังไม่มียาหรือวัคซีนที่รักษาไข้หวัดใหญ่ได้ ในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่กำหนดให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน สั่งประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดสถานที่ชุมชน ทั้งโรงเรียน โบสถ์ และโรงภาพยนตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ว่า การเว้นระยะห่างทางสังคม และเป็นปัจจัยสำคัญให้ตัวเลขการแพร่ระบาดลดลงมาอย่างมหาศาล ผู้ที่ติดเชื้อ หากไม่เสียชีวิต ก็สามารถพัฒนาภูมิต้านทานได้ จนทำให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลงในปี 1919


การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนและการเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว คล้ายจะสะท้อนภาพสถานการณ์ในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญกับเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวัคซีนรักษา และเราทุกคนต้องช่วยกันเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะสามารถสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้เหมือนอย่างกรณีไข้หวัดใหญ่สเปนในอดีตหรือไม่