ปักหมุดยุคใหม่อุตสาหกรรมเกม เส้นทาง PlayStation 5 สู่อนาคตอันใกล้

Photo by - / Sony Interactive Entertainment Inc / AFP)

ธนพงศ์ พุทธิวนิช : เรื่อง

“เกม” ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล่น ๆ มานานแล้ว อย่างน้อยก็ในสายตาคนจำนวนหนึ่ง มันกลายเป็นวิถีชีวิตที่คลาสสิกตลอดกาล เป็นธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลมาไม่น้อยกว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่จุดติดความเฟื่องฟูราวช่วงยุค 80-90

เมื่อมาถึงยุคแห่งดิจิทัลแบบเต็มสูบ ตัวเลขจากบริษัท Newzoo ผู้ทำวิจัยตลาดเกมโดยเฉพาะระบุว่า เมื่อปี 2019 ทั่วโลกมีเหล่านักเล่นเกม หรือที่เรียกว่า “เกมเมอร์” (Gamer) มากกว่า 2.5 พันล้านราย คาดว่าปี 2020 ตัวเลขแตะ 2.7 พันล้านราย เม็ดเงินที่นักเล่นเกมทั่วโลกจับจ่ายจะสร้างรายได้ในตลาดเกมปี 2020 ประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สำคัญคือเกมยุคนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ในสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และแน่นอนว่ามีอุปกรณ์ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า คอนโซล (console)

เครื่องคอนโซลที่ว่านี้มีผู้พัฒนาชั้นนำอย่างบริษัทโซนี่ (Sony) พวกเขาปล่อย PlayStation ตัวดั้งเดิมคลอดลงตลาดครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1994 มาถึงช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2020 บริษัทเปิดตัว PlayStation 5 คอนโซลรุ่นใหม่ที่ถือเป็นการก้าวเข้าสู่อีกยุคหนึ่งตามวัฏจักรของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ที่ตัวฮาร์ดแวร์มักมีวงจรชีวิตต่อรอบราวรอบละ 6-7 ปี

ขณะเดียวกัน โซนี่ไม่ได้เป็นบริษัทเดียวซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ในตลาดยังมีเครื่องเล่นโฉมใหม่อีกเครื่องอย่าง Xbox Series X พัฒนาโดยไมโครซอฟท์ (Microsoft) บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อโลกอย่างมากเป็นทางเลือกแบบสูสี ตามมาด้วย Nintendo Switch คอนโซลลูกผสมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนินเทนโด (Nintendo) จากญี่ปุ่นอีกหนึ่งเจ้า

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่ามีบริษัทกล้าเปิดตัวสินค้าใหม่ในช่วงโควิด-19 กำลังระบาดในอเมริกาและยุโรปด้วย หรือหากอ้างอิงตามข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาดเกมข้างต้น บริษัทประเมินว่าตัวเลขเม็ดเงินรายได้ในตลาดเกมปี 2020 เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว มีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการล็อกดาวน์เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยอยากปลีกตัวออกจากสถานการณ์ปัจจุบัน บางรายอาจต้องการหากิจกรรมทำ “เกม” คือคำตอบสำหรับพวกเขาเหล่านี้นั่นเอง

อีกปัจจัยที่มีบริษัทประเมินว่าจะมีผลต่อการเติบโตของรายได้ในตลาดเกมปี 2020 ก็คือ การกำเนิดคอนโซลรุ่นใหม่ที่จะวางขายช่วงปลายปี คอนโซลใหม่มีความหมายต่ออุตสาหกรรมเกมอย่างไรบ้าง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจสภาพความเป็นไปของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวขึ้นทุกปี

Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP


อุตสาหกรรมเกม (คอนโซล)…กว่าจะเป็น PlayStation 5

หากเอ่ยถึงในภาพรวมแล้ว ส่วนแบ่งตลาดเกมจำแนกตามอุปกรณ์ สถิติเมื่อปี 2019 โดย Newzoo ระบุว่า ยังคงเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ครองตลาดที่สัดส่วน 45% (และเชื่อว่าตลาดกลุ่มนี้จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากที่สุด) จากนั้นถึงตามมาด้วยคอนโซลที่ 32% ต่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่ 23%

เมื่อลองจำแนกส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มอุปกรณ์คอนโซล เครื่อง PlayStation ของโซนี่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 (ในกลุ่มเครื่องเล่นเกมในบ้าน) จากยอดขาย PS 4 และผู้ลงทะเบียนใช้งานในระบบเพิ่มขึ้นในอัตราคงที่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี ขณะที่นินเทนโดเป็นเจ้าตลาดคอนโซลแบบพกพา (ภายหลังพัฒนามาสู่เครื่องเล่นเกมลูกผสมที่ใช้ได้ทั้งแบบพกพาและต่อเล่นผ่านอุปกรณ์อื่นภายในที่พักได้) ส่วนไมโครซอฟท์มาทำตลาดในช่วงยุค 2000 แต่ยังเป็นรอง PlayStation ของโซนี่อยู่

แต่กว่าจะมาเป็น PlayStation 5 ในปี 2020 ย้อนกลับไปเมื่อปี 1994 โซนี่ปล่อย PlayStation ตัวแรกออกมาในสภาพเพิ่งฟันฝ่าอุปสรรคทางธุรกิจกับนินเทนโด ที่สุดแล้วก็ได้คอนโซลดั้งเดิมพอจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักไมล์ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเกมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเกมที่สร้างขึ้นและกลายเป็นหลักไมล์ให้เกิดแรงบันดาลใจพัฒนาต่อยอดไปอีก หรือในแง่ยอดขายที่เครื่องรุ่นดั้งเดิมขายได้มากกว่า 100 ล้านเครื่อง

นับตั้งแต่นั้นมาโซนี่พัฒนาคอนโซลรุ่นต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็น PS 2 ในปี 2000, PS 3 ในปี 2006, เป็นคอนโซลแรกที่ใช้แผ่นบลูเรย์ (Blu-ray) และ PS 4 ราวปี 2013 ซึ่งเป็นคอนโซลที่แตกต่างจากระบบใช้งานที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์คอนโซลหลักของโซนี่ทั้ง 3 รุ่นก่อนหน้านี้ใช้งานจากฐานของแผ่นดิสก์ (PS 1 ใช้แผนซีดี, PS 2 ใช้แผ่นดีวีดี และ PS 3 ใช้แผ่นบลูเรย์) มาสู่การทำงานแบบดิจิทัลมากขึ้น

ปี 2013 ที่โซนี่ปล่อย PS 4 ในราคา 399 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาเปิดตัวถูกกว่า PS 3 ที่มีช่วงราคาระหว่าง 499-599 ดอลลาร์สหรัฐ นี่ย่อมเป็นผลมาจากการแข่งขันในตลาดกับ Xbox One ของไมโครซอฟท์ ซึ่งเริ่มลงมาเล่นในตลาดคอนโซลช่วงต้นยุค 2000 คอนโซลของโซนี่ได้รับคำชมจากการอุดช่องโหว่ที่ Xbox One โดนวิจารณ์ในแง่นโยบายเรื่องให้ผู้เล่นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตามกรอบเวลาที่กำหนดเพื่อยืนยันตัวบุคคลที่ใช้งานจึงสามารถเล่นเกมต่อได้ ขณะเดียวกัน ยังมีระเบียบที่จำกัดการขายต่อเกมหรือหยิบยืมเกม (ไมโครซอฟท์ปรับเปลี่ยนนโยบายในภายหลัง)

เมื่อเทียบกับคอนโซลอื่น จุดเด่นที่หลากหลายของ PlayStation 4 ทำให้ยอดขายคอนโซลนี้ทำยอดทะลุ 100 ล้านเครื่อง และมีวงจรชีวิตยาวนานมาจนถึง 2020 ตอกย้ำว่า PlayStation ยังเป็นอีกผลิตภัณฑ์คลาสสิกในวงการเกม แม้ว่ากำลังจะเข้ายุค PlayStation 5 แล้ว แต่ยังมีสัญญาณเล็กน้อยว่า แมตต์ แม็กลอริน (Matt McLaurin) ผู้บริหารโซนี่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า บริษัทยังคงสนับสนุน PS 4 (อาจเป็นในรุ่น Pro) ความคิดเห็นนี้ถูกลบในภายหลัง (สัญญาณเล็กน้อยจริงดังว่า) อย่างไรก็ตาม ดังจะเห็นว่านโยบายในอุตสาหกรรมเกมเปลี่ยนแปลง
ได้เสมอ ความแน่ชัดอาจต้องรอฟันธงในอนาคตอันใกล้นี้

Photo by Johannes EISELE / AFP

 

ภาพกว้างของการแข่งขันยุคใหม่

ในภาพรวมของอุตสาหกรรม การเปิดตัว PlayStation 5 กลางปี 2020 (และ Xbox Serie X ช่วงต้นปี) ย่อมหมายถึงการปักหมุดคอนโซลเกมยุคใหม่ และตามมาด้วยการแข่งขันยุคใหม่ด้วย เมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามากราฟการจับจ่ายใช้สอยในตลาดคอนโซลน่าจะกระเตื้องขึ้นกว่าเดิมหากเทียบกับตัวเลขในช่วงปี 2019 ซึ่งอาจชะลอตัวท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องเครื่องเล่นยุคใหม่ที่กำลังจะออกมาในปี 2020

แน่นอนว่า การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มีแนวโน้มกระตุ้นให้กราฟการเติบโตกลับมาไต่ระดับขึ้นอีกครั้ง และดังที่เอ่ยข้างต้นว่า นักวิเคราะห์มองเรื่องสถานการณ์ล็อกดาวน์ช่วงสั้น ๆ จากห้วงโควิด-19 ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมเนื่องจากผู้คนต้องการปลีกหนีไปจากสถานการณ์วุ่นวาย เกมจึงเป็นเครื่องมือช่วยผ่อนคลายชนิดหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจ

คงไม่ใช่แค่วงการธุรกิจเท่านั้นที่สนใจสถานการณ์ในอุตสาหกรรมเกม แต่เหล่าผู้เล่นทั่วไปย่อมติดตามความเคลื่อนไหวเนื่องจากการตัดสินใจทางธุรกิจมักส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นคือประเด็นที่คนทั่วโลกสนใจว่า สงครามตลาดคอนโซลที่กำลังมาถึงนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

Photo by Behrouz MEHRI / AFP

 

สงครามคอนโซล?

ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ในที่นี้จะพูดถึงผู้เล่นรายหลักอย่าง PlayStation 5, Xbox Serie X และที่ทางของ Nintendo ในอนาคตอันใกล้เมื่อคอนโซลรุ่นใหม่ของโซนี่และไมโครซอฟท์ออกสู่ตลาดแล้ว

สำหรับ PlayStation 5 คลอดออกมา 2 รุ่นคือ รุ่นที่มีไดรฟ์สำหรับบลูเรย์ และรุ่น “ดิจิทัล” ซึ่งไม่มีไดรฟ์สำหรับแผ่นดิสก์ ผู้บริหารย้ำความมั่นใจว่า ประสบการณ์การเล่นของทั้ง 2 รุ่นจะไม่แตกต่างกัน ข้ามไปเทียบกับ Xbox แล้วอาจทำให้ PlayStation ได้เปรียบในเรื่องสงครามราคาอยู่บ้าง (จนถึงกลางเดือน มิ.ย.ทั้งสองฝ่ายยังไม่ประกาศราคาอย่างเป็นทางการ) เมื่อพิจารณาว่า PlayStation มีรุ่นธรรมดาที่ไม่มีไดรฟ์ นั่นนำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่า ราคาของรุ่นนี้มีแนวโน้มถูกกว่า Xbox ขณะที่ Xbox Serie X ไม่มีโมเดลทางเลือกเหมือนกับฝั่งโซนี่

ในแง่รูปลักษณ์ภายนอก ขนาดของ PS 5 ที่เปิดเผยมาเมื่อเปรียบเทียบแล้วทำให้เห็นภาพว่า คอนโซลรุ่นใหม่ของโซนี่ตัวเครื่องน่าจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่ Xbox ไม่ได้เน้นในเรื่องรูปลักษณ์ ออกแบบมาเป็นทาวเวอร์สีดำล้วนคล้ายลักษณะ CPU ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ส่วนด้านเชิงเทคนิคทางเทคโนโลยีและบริการเสริมต่าง ๆ แล้ว ทั้งสองรุ่นใหม่มีข้อดีข้อเสียเบียดกันสูสี (บางเจ้าวิเคราะห์ว่า Xbox เหนือกว่าเล็กน้อยในหลายหัวข้อ) ในที่นี้คงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้หมดเพราะมีรายละเอียดยิบย่อยตั้งแต่ความเร็วไปจนถึงการแสดงผลภาพ

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า หากพิจารณายอดขายคอนโซลรุ่นล่าสุด เครื่อง Xbox One (ยอดขายรวม 46-47 ล้านเครื่อง) กับ PlayStation 4 (ยอดขาย 110.4 ล้านเครื่อง) รวมกันแล้วอยู่ที่ราว 156-157 ล้านเครื่อง ตัวเลขยังน้อยกว่า PlayStation 2 (155 ล้านเครื่อง) รวมกับ Xbox รุ่นดั้งเดิม (24 ล้านเครื่อง) ที่รวมกันได้ถึง 179 ล้านเครื่องเสียอีก

หากใช้ข้อสันนิษฐานนี้มาดูแนวโน้มยอดขายคอนโซลรุ่นใหม่ PS 5 และ Xbox Serie X อาจมียอดขายน้อยกว่ารุ่นพี่ก่อนหน้านี้ รายงานจาก Ampere Analysis บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจและการเงินมองว่า ยอดขาย PS 5 ในรอบ 4-5 ปีจะทำยอดขายประมาณ 66 ล้านเครื่อง ขณะที่ Xbox ทำยอดขายได้ 37 ล้านเครื่องในระยะเวลาเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า PS 5 จะยังคงครองตลาดมากที่สุดในกลุ่มคอนโซลในแง่ผลิตภัณฑ์และการรับรู้ในเชิงแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ของโซนี่ที่แพร่กระจายหลากหลายและมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลกยังอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ถึงไมโครซอฟท์จะยังคงตามหลังโซนี่ แต่พวกเขาก็พัฒนาขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าก่อนหน้านี้ สำหรับ Nintendo อาจไม่ได้มียอดขายมากเท่าคู่แข่ง แต่พวกเขามีตลาดที่ชัดเจนเนื่องจากลักษณะของผลิตภัณฑ์และตัวเกมที่เป็นกลุ่มเฉพาะสำหรับเล่นเป็นหมู่คณะร่วมกับครอบครัวหรือคนรู้จักได้อย่างสนุกสนาน ซึ่งเกมเหล่านั้นไม่ค่อยพบในคอนโซลอื่น หรือได้รับประสบการณ์ไม่เหมือนกับของ Nintendo

ถึงยอดขายคอนโซลรุ่นใหม่จะถูกมองว่าอาจหดตัวลงเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ เนื่องจากสภาพตลาดที่มีทางเลือกมากขึ้น ทั้งจากเกมบนอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาทั้งหลาย ไปจนถึงโมเดลธุรกิจเกมออนไลน์ ที่เรียกว่า free-to-play ปล่อยให้เล่นฟรีดึงดูดผู้เล่นได้หลัก 10 ล้านรายก็พอจะเป็นส่วนแบ่งตลาดไปอีก

ไม่ว่าตลาดจะมีตัวเลือกมากขึ้นหรือไม่ คอนโซลยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฐานแฟนเหนียวแน่น เป็นอุปกรณ์ที่โลดแล่นในวิถีชีวิตคนหลายช่วงอายุ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ทุกวันนี้ยังมีกิจการขายเกมย้อนยุคโดยเฉพาะกลับมาให้ได้สัมผัสด้วยซ้ำ วงจรชีวิตของคอนโซลเกมในยุคดิจิทัลทั้งในแง่ตัวเลขตลาดโดยรวม ความนิยมล้วนถูกประเมินว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในตลาดที่มีมูลค่ารวมมหาศาลย่อมมีโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นในแง่บทบาทแบบสตรีมเมอร์หรือกลุ่มอีสปอร์ต ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหาตัวเองเจอและเปิดใจเรียนรู้กับมันได้มากน้อยแค่ไหน