“ครั้งนี้หัวใจสลาย” เปิดใจเจ้าของ “สกาลา” ในวันเปิด-ปิดม่านครั้งสุดท้าย

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง-ภาพ

ฝูงชนหลากหลายวัยยืนถ่ายรูปอยู่หน้าโรงภาพยนตร์สกาลา ณ สยามสแควร์ ซอย 1 ขณะที่โรงภาพยนตร์เปิดไฟทุกดวงสว่างไสวราวกับเป็นการเฉลิมฉลองที่น่ายินดี แต่น่าเสียดายที่ป้ายตู้ไฟด้านหน้าอาคารอันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ขึ้นข้อความว่า “FINAL TOUCH OF MEMORY 3-5 JULY 2020”

ส่วนภายในโรงภาพยนตร์ขนาด 904 ที่นั่ง มีโปรแกรมฉายภาพยนตร์เป็นการอำลาในชื่อ “La Scala” ภาษาอิตาลีอันเป็นที่มาของชื่อโรงภาพยนตร์สกาลาแห่งนี้ หรือเขียนเป็นไทยว่า “ลา สกาลา” ซึ่ง ณ เวลาและบริบทนี้มีความหมายตรงตัวว่า “ลาสกาลา” จริง ๆ

“แม่เราพามาตอนเด็ก ๆ” หญิงวัยราว 40 ปีกล่าวกับเพื่อน

“ป๊ากับม้าเคยมาดูหนังด้วยกันที่นี่” คนหนึ่งในพี่น้องสองคนบอกกับอีกคน ขณะที่ผู้เป็นแม่เงียบอยู่

“ตอนเรียนจุฬาฯมาดูหนังที่นี่บ่อย ได้รู้จักหนังดี ๆ ที่นี่เยอะ” ชายคนหนึ่งกล่าวกับคนที่มาด้วยกัน

นี่คือตัวอย่างของความทรงจำที่ผู้คนมีร่วมกับสกาลา ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนที่ผูกพันและมีความทรงจำกับที่นี่รู้สึกเศร้าเมื่อถึงคราวที่สกาลาต้องปิดกิจการลง

แต่ใครเล่าจะเศร้ามากไปกว่า นันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ (APEX) ผู้เป็นเจ้าของที่คลุกคลีกับที่นี่มาตั้งแต่ยังไม่สร้าง ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในเวลาต่อมา ตามมาด้วยการรับช่วงสืบทอดกิจการดูแลโรงภาพยนตร์ทั้งหมดต่อจากคุณพ่อ พิสิฐ ตันสัจจา แล้วพาโรงภาพยนตร์ในเครือฝ่ามรสุมลูกแล้วลูกเล่าจนอยู่มาถึงครึ่งศตวรรษ

ก่อนหน้านี้เอเพ็กซ์มีโรงภาพยนตร์ในพื้นที่สยามสแควร์ 3 แบรนด์ เรียกว่าเป็น “สามทหารเสือ” ที่โดดเด่นโก้เก๋กว่าใครในประเทศนี้ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งทั้ง 3 สร้างขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ปี 2509, 2511 และ 2512 ตามลำดับ

ในยุคที่โรงภาพยนตร์มีความหมายมากกว่าสถานที่ฉายภาพยนตร์ แต่ยังเป็นหนึ่งเครื่องมือในการสร้างเมือง เป็นตัวชี้วัดความเจริญของพื้นที่นั้น ๆ และเป็นพื้นที่ทางสังคมที่คนไปเพื่อพบปะและอัพเดตเทรนด์กัน พิสิฐ ตันสัจจา ผู้ประสบความสำเร็จจากการทำโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยได้รับคำชวนให้เข้ามาตั้งโรงหนังในพื้นที่ห่างไกลความเจริญตรงนี้ด้วยความมุ่งหวังของเจ้าของพื้นที่ที่ต้องการให้โรงหนังดึงดูดผู้คนให้เข้าไปในพื้นที่

ทางเอเพ็กซ์จึงสามารถพูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า โรงภาพยนตร์สามทหารเสือของเอเพ็กซ์คือผู้ร่วมบุกเบิกทำให้พื้นที่นี้เจริญขึ้นมา แม้แต่ชื่อย่าน “สยามสแควร์” ก็มาจากชื่อคอลัมน์ “สยามสแควร์” ในสูจิบัตรของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ก่อนจะนำชื่อนั้นมาเรียกขานชื่อย่านใหม่ที่รุ่งเรืองขึ้นเป็นศูนย์กลางความเจริญของกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

สกาลาถูกสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจของพิสิฐที่หมายมั่นให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุดในประเทศไทย รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นสไตล์อาร์ตเดโค ออกแบบโดยพันเอกจิระ ศิลป์กนก สถาปนิกชื่อดังในยุคนั้น และออกแบบตกแต่งภายในโดยอินทีเรียร์ชาวฟิลิปปินส์

โรงภาพยนตร์สกาลาและพี่ ๆ ผ่านกาลเวลา ผ่านยุครุ่งเรืองมาถึงยุคเหี่ยวเฉาเมื่อโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์เป็นที่นิยมมากกว่า ไล่มาจนถึงพฤติกรรมการดูภาพยนตร์ในบ้านทำให้คนดูหนังในโรงน้อยลงไปมาก

ในปี 2553 โรงภาพยนตร์สยามโดนวางเพลิงในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง เอเพ็กซ์จึงคืนพื้นที่ให้แก่จุฬาฯ หลังจากนั้น นันทาดูแลลิโดกับสกาลาต่อมาอีกหลายปี จนมาถึงยุคร่วงโรยจริง ๆ ในปี 2561 โรงภาพยนตร์ลิโดต้องปิดตัวลงเพราะรับภาระขาดทุนต่อไปไม่ไหว ในตอนนั้นแฟน ๆ ลิโดจากทั่วสารทิศก็หลั่งน้ำตาให้กับความจริงที่ไม่อาจทัดทานนี้

แม้ไม่ได้พูดกันออกมา แต่เชื่อว่า ณ เวลาที่ลิโดปิดฉากลง ใคร ๆ ก็รู้ว่าวันหนึ่งก็จะถึงคราวของสกาลาไม่ช้าก็เร็ว

แล้วเวลานั้นก็มาถึง เมื่อโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนให้แก่โรงภาพยนตร์ทั่วโลก สกาลาซึ่งมีรายได้น้อย-ขาดทุนอยู่แล้วก่อนหน้านี้ จึงถึงจุดจบเร็วกว่าที่คาดคิด

2 วันสุดท้ายของสกาลา นันทา ตันสัจจา ก็อยู่ที่สกาลา เธอมาพบเจอญาติมิตรและขอบคุณแฟน ๆ เป็นครั้งสุดท้าย ในโอกาสนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ขอพูดคุยกับหัวเรือใหญ่เอเพ็กซ์ ผู้ดูแลโรงภาพยนตร์อันเป็นที่รักของหลาย ๆ คนให้อยู่อย่างสง่างามมาจนทุกวันนี้

“ครั้งนี้หัวใจสลาย” เจ้าของสกาลาพูดพร้อมกับน้ำตาคลอ “ไม่มีคำไหนจะอธิบายความรู้สึกได้ดีกว่านี้อีกแล้ว” เธอบอกเมื่อเราถามว่า การปิดโรงภาพยนตร์ครั้งนี้รู้สึกเศร้ากว่าครั้งก่อน ๆ หรือเปล่า เพราะมันคือสุดท้ายจริง ๆ ไม่เหลือสักโรงแล้ว

นันทาเล่าว่า ก่อนหน้านี้แม้ว่าสกาลาขาดทุนมานาน แบกรับค่าใช้จ่ายมาตลอด แต่ก็ยังไม่ได้คิดเรื่องจะปิด เพราะตัวเธอเกิดมากับโรงหนังโรงละคร ทั้งชีวิตไม่มีอย่างอื่น จึงต้องสู้ โดยนำเงินจากส่วนอื่นมาโปะเพื่อรักษากิจการโรงภาพยนตร์ไว้ จนมาถึงครั้งนี้ที่รู้สึกว่าสู้ไม่ไหวแล้วจริง ๆ

“เราอยู่ที่นี่มา 51 ปี เราให้ความสุขกับทุกคนมา 51 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มา แต่คราวนี้มันหนักหนาเกินที่เราจะรับได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่เราคนเดียว คนทั่วโลกก็โดน ตอนนี้แม้ว่ารัฐบาลผ่อนคลายมาตรการลงแล้ว แต่คุณไปดูสิว่ามีคนดูหนังหรือเปล่า บางแห่งเปิดแต่ไม่มีคนดู คนอยู่บ้านดูทีวีที่บ้าน หนังเดี๋ยวนี้ก็ซื้อดูได้ไม่กี่ตังค์ จะดูกี่เรื่องก็ได้ นี่คือ new normal”

ห้องอาหารสกาลา อีกช่องทางรายได้ของบริษัทที่ปิดบริการไปในช่วงล็อกดาวน์นั้น ก็ปิดแล้วปิดเลยไปก่อนโรงภาพยนตร์แล้ว เธอบอกว่า “เพราะโควิดนี่แหละ”

“เราไม่ได้ตัดสินใจปิด สรุปแล้วโควิดตัดสินใจให้เรา”

“ก่อนจะมีโควิดไม่ได้คิดเลยว่าจะปิด ตอนโควิดมาเดือนแรกยังเฉย ๆ พอเดือนที่สองเริ่มคิดแล้ว มันไม่ไหวแล้ว สกาลาสู้มาตลอด สู้แบบขาดทุนก็สู้ ไม่ว่าจะเป็นม็อบเสื้อแดง เสื้อเหลือง เหตุการณ์อะไรเราก็สู้มาตลอด แต่ค่าใช้จ่ายเยอะมาก เรารับไม่ไหวแล้ว และไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน คุณคิดว่าสิ้นปีนี้จบไหม ไม่รู้ มันอาจจะอีก 1 ปี แล้วคุณอยู่ไหวไหม เพราะฉะนั้น เราจบสวย ๆ ดีกว่า จบแบบที่คนมาที่นี่แล้วยังมีความสุข ยังเห็นของสวย ๆ งาม ๆ มาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกดีกว่า”

ขณะนี้ยังไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมของอาคารโรงภาพยนตร์สกาลาว่าจะยังได้อยู่ต่อบนพื้นที่สยามสแควร์หรือไม่ นันทาบอกว่า ทางจุฬาฯเองก็ยังไม่ทราบ จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้เช่ารายใหม่ว่าจะใช้พื้นที่ตรงนี้ทำอะไร

เธอบอกถึงแผนในการรักษาสมบัติอันทรงคุณค่านี้ไว้ว่า จะถอดทุกอย่างที่สามารถถอดได้ไปเก็บไว้ที่สวนนงนุช สิ่งที่จะถอดไปได้แน่นอนก็คือ “ดวงดารา” หรือดาวกระจายสีทองอร่ามบนฝ้าเพดาน, แชนเดอเลียร์หรือโคมไฟระย้าพวงใหญ่เหนือบันไดอันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของสกาลา และไม้แกะสลักสีดำลวดลายวิจิตรที่สร้างความขลังอยู่ที่ผนัง ส่วนภาพประติมากรรมปูนปั้นเหนือประตูทางเข้าโรงหนังนั้นยังไม่ทราบว่าจะเอาไปได้หรือไม่

“ของทั้งหมดนี้จะย้ายไปอยู่ที่สวนนงนุช คุณกัมพลจะเป็นคนดูแลต่อ”

นันทาเล่าอีกว่า ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเวลาเท่าไหร่สำหรับการถอดรื้อและเก็บข้าวของออกจากอาคาร ตัวเธอเองอยากทราบก่อนว่าสกาลาจะถูกทุบหรือไม่ เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าจะเอาอะไรไปบ้าง

“ไม่รู้ว่ามีเวลาเท่าไหร่ ทางจุฬาฯเขาก็มาถามว่าจะทำยังไง จะเอาอะไรไป จะเอาอะไรไว้ จะย้ายเมื่อไหร่ เราก็บอกว่ายังตอบไม่ได้ คุณตอบฉันมาก่อนว่าคุณจะเก็บสกาลาไว้หรือไม่เก็บ ถ้าคุณเก็บฉันก็มูฟเร็ว ถ้าคุณไม่เก็บฉันก็มูฟช้านะเพราะว่าฉันก็ต้องพยายามเอาไปให้ได้มากที่สุด แต่เขาก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะว่าเขาก็ต้องแล้วแต่ผู้เช่ารายใหม่ว่าจะมีโปรเจ็กต์อะไร”

นอกจากอาคารสถานที่ องค์ประกอบสำคัญของสกาลาคือ ผู้คน ทั้งพนักงานขายป็อปคอร์น ขายขนม เครื่องดื่ม พนักงานขายตั๋ว คุณน้าสูทเหลืองอันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเครือเอเพ็กซ์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้แฟน ๆ รู้สึกผูกพันมากแค่ไหน เชื่อเถอะว่า “คนใน” เขารู้สึกผูกพันกันมากยิ่งกว่าหลายเท่า ซึ่งในช่วงกิจกรรม 3 วันส่งท้ายนี้ พนักงานเก่า ๆ ก็กลับมารวมตัวกัน แบ่งหน้าที่กันทำในการเปิดบ้านรับแขกเป็นครั้งสุดท้าย

“เราก็ดีใจที่วันนี้คนงานเก่า ๆ เรามาเยอะเลย ทั้งของสยามและลิโด แต่ส่วนมากคนงานที่สยามไม่ได้มา เขาอายุมากกันแล้วเขากลับบ้านต่างจังหวัด ตอนนั้นเขาบอกว่าเขาทนไม่ได้ที่จะเดินผ่าน เพราะว่าที่นี่มันคือบ้านของเขา คนพวกนี้เขานอนที่โรงหนัง เพราะฉะนั้น เขาขอกลับต่างจังหวัด”

ส่วนเรื่องอนาคตของคนงาน นันทาบอกว่า “พนักงานทั้งหมดเราให้เขาตัดสินใจ ใครอยากไปที่สวนนงนุชเรายินดีต้อนรับ เพราะทุกคนเขาอยู่กับเราที่นี่ไม่ต่ำกว่า 25 ปี ทุกคน 25 ถึง 50 ปี คิดดูสิมันเหมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน บางคนเขาบอกว่าแก่แล้วอยากกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ให้เขาไป”

“ที่นี่ความผูกพันของเราระหว่างพนักงานกับเจ้าของมันไม่เหมือนที่อื่น”

“สำหรับแฟน ๆ ก็ขอบอกว่าเราขอบคุณ ไม่รู้จะพูดยังไง appreciate มากที่มาซัพพอร์ตเราอยู่ตลอด การที่เราอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะเขา ที่เรามีกำลังใจที่จะทำจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะแฟนเรา บางคนมาบอกเราด้วยซ้ำว่าอยากดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ เมื่อไหร่จะเอาเข้ามาสักที เราก็ไปหามาให้ดู อะไรอย่างนี้ คนดูกับเรานี่เหมือนครอบครัวไปแล้ว” เจ้าของโรงภาพยนตร์สกาลาฝากถึงแฟน ๆ ขณะที่น้ำตาคลอดวงตาของเธออยู่ตลอดการสนทนา


“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เราเคยปิดท้ายสกู๊ปการปิดโรงภาพยนตร์ลิโด โดยเอ่ยถึงคำพูดที่ว่า “อย่าเสียใจที่มันจบลง แต่จงดีใจที่มันเคยมีอยู่” ครั้งนี้ก็คงต้องใช้คำพูดนี้ซ้ำอีกครั้ง เพราะสำหรับทุกคนที่ผูกพันกับที่นี่ คำพูดนี้น่าจะเป็นคำพูดที่ดีที่สุดแล้วที่เราจะใช้ปลอบใจกันในเวลานี้