รอยยิ้มและคราบน้ำตา เมื่อ “สัญญาทาส” ควบคุมชีวิตศิลปิน K-Pop

ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง

ผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษที่ศิลปินเกาหลีได้สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับแฟนเพลงทั่วโลก แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่สดใสและรอยยิ้มอันร่าเริงที่พวกเราได้เห็น อาจจะซ่อนรอยน้ำตาแห่งความเจ็บปวดไว้มากมาย เพราะกว่าจะมายืนในจุดที่แฟน ๆ ได้ชื่นชม เส้นทางของศิลปินไอดอลนั้นยากตั้งแต่ก้าวแรกในการออดิชั่นเพื่อเข้าไปเป็นเด็กฝึกหัดในค่ายเพลง จนกระทั่งเดบิวต์หรือเปิดตัวเป็นศิลปินไปแล้ว พวกเขาก็ต้องฝึกซ้อมและทำงานอย่างหนัก โดยมีค่ายเพลงหรือต้นสังกัดเป็นผู้ควบคุมทุกอย่างเปรียบเสมือนเป็นเจ้าชีวิต

ปัญหาระหว่างศิลปินและค่ายเพลงนั้น มีให้เห็นบ่อย ๆ อย่างกรณีล่าสุดที่อาจจะไม่ได้เห็นปัญหาชัดเจนนัก แต่ก็พูดได้ว่า “จบไม่ค่อยสวย” ก็คือกรณีการสิ้นสุดสัญญาของ GOT7 กับค่าย JYP Entertainment กรณีนี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกออนไลน์ มีการพูดถึงประเด็นที่ค่ายให้การสนับสนุนศิลปินไม่ดีพอ รวมถึงการที่ค่ายไม่สามารถจัดการกับแฟนคลับที่รุกรานศิลปินได้เท่าที่ควร หลายคนจึงเดาว่านี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้วงไม่ต่อสัญญากับค่ายที่ปลุกปั้นพวกเขาขึ้นมา

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับอีกหลายศิลปินและอีกหลายค่ายเพลง ซึ่งมีปัญหาต่างกันออกไป ผู้เขียนมองว่าปัญหาเหล่านี้อาจจะมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างไอดอลกับค่ายเพลง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงอยากชวนทำความรู้จักสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของศิลปินเกาหลีที่เคยถูกเรียกว่า “สัญญาทาส” เป็นอีกด้านของวงการ K-Pop ที่ไม่ได้สวยงามอย่างภาพหน้าฉากที่เราได้เห็นกัน

GOT7

การส่งออกวัฒนธรรม K-Pop นำรายได้หลายพันล้านดอลลาร์มาสู่เกาหลีใต้ในแต่ละปี ด้วยการเติบโตที่รวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายค่ายจึงเร่งคัดเลือกและฝึกฝนเด็กฝึกหัดหวังจะปั้นให้เป็นซูเปอร์สตาร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง มีการปั้นศิลปินออกสู่ตลาดจำนวนมากแต่ก็ไม่ใช่ทุกรายที่จะประสบความสำเร็จ

ในส่วนของศิลปินเมื่อประสบความสำเร็จขั้นแรก คือการก้าวจากเด็กฝึกหัดไปเป็นศิลปินที่ได้เดบิวต์แล้ว ก็ไม่ได้รับรองความมั่งคั่ง หลายคนอาจจะต้องผิดหวังเมื่อตนเองไม่ได้รับความนิยม

ส่วนเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่เราจะพูดถึง ถือเป็นปัญหาคลาสสิกที่ศิลปินจำนวนมากต้องเจอ ซึ่งเหล่าศิลปินก็เข้าใจข้อจำกัดนี้อยู่แล้วก่อนจะตัดสินใจเดินเข้าสู่วงการ ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ายเพลงคือผู้ที่ซัพพอร์ตให้เหล่าศิลปินทั้งหลายประสบความสำเร็จ ยิ่งเป็นศิลปินในค่ายใหญ่ที่มีแรงในการซัพพอร์ตสูง ศิลปินก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าอยู่ในค่ายเล็ก คนที่อยากเป็นศิลปินจึงเดินเข้าไปพร้อมกับยอมรับกฎเกณฑ์ข้อแม้ต่าง ๆ ที่ค่ายตั้งขึ้น แต่เมื่อเข้าไปแล้วอาจพบว่ามันแย่เกินกว่าจะทนได้

 

TVXQ

ปัญหาสัญญาไม่เป็นธรรมในวงการเพลงเกาหลี แต่ละค่ายจะมีกฎมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งที่พบหลัก ๆ จะเป็นเรื่อง 1.ระยะเวลาของสัญญาที่ยาวนาน 2.การแบ่งรายได้ไม่เป็นธรรม ค่ายมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่าศิลปินมาก สวนทางกับการที่ศิลปินต้องทำงานหนักจนเกินไป 3.ข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล เช่น ห้ามมีแฟนหรือออกเดต ซึ่งแต่ละค่ายมีกฎแตกต่างกันออกไป 4.ค่ายจดลิขสิทธิ์ชื่อศิลปิน ทำให้ศิลปินเสียโอกาสที่จะทำรายได้จากชื่อของตัวเอง และเป็นการจำกัดโอกาสการประกอบอาชีพในอนาคต

ข้อพิพาท “สัญญาทาส” กรณีแรก ๆ ที่ถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 คือกรณีที่ 3 สมาชิก (จากทั้งหมด 5 คน) ของวง TVXQ (ดงบังชินกิ) ซึ่งเป็นวงที่ได้รับความนิยมสูงมากในขณะนั้น ได้ฟ้องร้องเพื่อแก้ไขสัญญากับค่าย SM Entertainment ค่ายเพลงระดับท็อปของเกาหลี ด้วยเหตุผลว่าเงื่อนไขของสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น การเซ็นสัญญาเป็นเวลานานถึง 13 ปี กับการทำงานที่หนักหน่วง และการแบ่งรายได้ไม่เป็นธรรม

การฟ้องร้องครั้งนั้นจบลงด้วยการประนีประนอมถอนฟ้องกันไป ผลที่ตามมาจากการเจรจาไกล่เกลี่ย คือ ศิลปินทั้ง 3 คนยกเลิกสัญญากับค่าย และตกลงว่าจะไม่แทรกแซงกิจกรรมของกันและกัน หลังจากนั้น ทั้ง 3 คนแยกตัวออกไปไม่ได้เป็นสมาชิก TVXQ อีก ขณะที่อีก 2 คนยังใช้ชื่อวง TVXQ และอยู่กับต้นสังกัดเดิมต่อไป

 

กรณีนั้นได้ส่งผลดีต่อวงการในภาพรวม เพราะหลังจากเกิดกรณีนั้นขึ้น คณะกรรมการการค้ายุติธรรม (Fair Trade Commission) ได้แจ้งเตือนไปยังค่ายให้แก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และรัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายกำหนดว่าสัญญาระหว่างศิลปินกับค่ายจะต้องไม่เกิน 7 ปีนับจากวันที่เดบิวต์

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายออกมารองรับ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมรายละเอียดในส่วนของรายได้ที่ศิลปินจะได้รับ จึงยังมีปัญหากันอีกหลายกรณีในเวลาต่อมา

B.A.P

ในปี 2014 ศิลปินบอยแบนด์วง B.A.P ได้ฟ้องร้อง TS Entertainment เกี่ยวกับค่าตอบแทนที่ได้รับตลอด 3 ปีของการทำงานเพียง 18 ล้านวอน (ประมาณ 5 แสนบาท) และการทำงานที่หนักจนกระทบกับสุขภาพ ซึ่งเข้าข่ายเป็นสัญญาทาส แต่ท้ายที่สุดก็ตกลงกันจบลงด้วยดี ทั้งศิลปินและค่ายเพลงก็กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ซึ่งค่ายบอกในการแถลงข่าวว่าจะดูแลศิลปินให้ดีขึ้น

กรณีล่าสุดของศิลปินที่ยื่นฟ้องให้มีการยกเลิกสัญญากับต้นสังกัดไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คือ เอลกี จง (Elkie Chong) สมาชิกชาวฮ่องกงของวง CLC ได้ยื่นฟ้องต่อ Cube Entertainment โดยระบุว่า ค่ายไม่มีความโปร่งใสในเรื่องรายได้ เธออ้างว่าได้รับเพียงค่าลิขสิทธิ์เพลงเท่านั้น แต่ไม่เคยได้รับรายได้จากการแสดงและกิจกรรมของวง รวมทั้งค่ายไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนวงในอนาคต

นับจากที่รัฐบาลออกกฎหมายดังกล่าว ก็ทำให้ปัญหาสัญญาทาสลดลงไปมาก แต่ยังมีสิ่งที่แฟนคลับพยายามเรียกร้องให้เกิดขึ้น คือ การได้เห็นศิลปินที่ตนรักมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะศิลปินหลายวงยังอยู่ในหอพักที่คับแคบไม่เอื้อต่อความสะดวกในหลายเรื่อง การได้กินอาหารดี ๆ การถูกปฏิบัติที่ดีจากทีมงาน หรือได้รับการสนับสนุนจากทางค่ายอย่างเต็มที่

 

ฮอ มินซอน หรือ เวย์ อดีตสมาชิกวง Crayon Pop ได้เปิดเผยประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เธอเคยเจอในการเป็นไอดอลผ่านทางช่อง YouTube ของเธอที่มีชื่อว่า Wayland เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2019 มีประเด็นหนึ่งที่พูดถึงการที่ค่ายให้ศิลปินทำงานหนักมาก แทบไม่มีวันหยุด แม้ในวันที่ไม่มีงานก็ต้องฝึกซ้อมทุกวัน เพื่อที่จะประสบความสำเร็จและนำเงินมาคืนทุนที่ค่ายได้ลงทุนไป

อีกประเด็นเธอบอกว่า การเป็นไอดอลก็เปรียบเสมือนการเล่นพนัน ต้องคอยลุ้นว่าอัลบั้มใหม่จะประสบความสำเร็จไหม แม้จะมีชื่อเสียงระดับหนึ่งแต่เมื่อออกเพลงมาแล้วไม่ปังอย่างที่คิดไว้ก็พลอยแต่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้น สุดท้ายเมื่อไปไม่รอดก็ต้องยุบวงและติดหนี้บริษัท ซึ่งตัวเธอเองเป็นหนี้ถึง 500 ล้านวอน หรือประมาณ 12 ล้านบาท

ในการจะปั้นศิลปินขึ้นมาหนึ่งวงนั้น เป็นที่ทราบกันในวงการเพลงเกาหลีว่าต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล คังยุนจอง (Kang Yoon Jung) ทีมแคสติ้งของ YG Entertainment เปิดเผยในรายการ YG Treasure Box เมื่อปี 2018 ว่าการเทรนเด็ก 1 คนต้องใช้ค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 100 ล้านวอน หรือประมาณ 3 ล้านบาท

เมื่อเดบิวต์ไปแล้ว รายได้จากการขายซิงเกิลหรืออัลบั้มบางส่วนจะต้องถูกนำมาหักกลบลบหนี้ที่ค่ายได้ลงทุนสร้างศิลปินขึ้นมา ซึ่งแต่ละค่ายก็จะมีสัดส่วนในการแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้ที่ต่างกันไป โดยจะขอยกตัวอย่าง 4 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่เว็บไซต์ kbizoom ได้รวบรวมไว้

BIG HIT Entertainment ต้นสังกัดของ BTS บอยแบนด์ที่นำเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แบ่งสัดส่วนดังนี้ ยอดขายอัลบั้ม ค่าย 50% ศิลปิน 50% ยอดขายอัลบั้มรีแพ็กเกจ ค่าย 30% ศิลปิน 70% อีเวนต์และกิจกรรม ค่าย 50% ศิลปิน 50% และในส่วนของการทำงานต่างประเทศ ค่าย 30% ศิลปิน 70%

JYP Entertainment ต้นสังกัดของ 2PM, GOT7, TWICE และอีกหลายวง เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการแบ่งผลกำไรให้ศิลปินค่อนข้างเท่าเทียม โดยแบ่งสัดส่วนดังนี้ ยอดขายอัลบั้ม ค่าย 50% ศิลปิน 50% ยอดขายอัลบั้มรีแพ็กเกจ ค่าย 30% ศิลปิน 70% อีเวนต์และกิจกรรมค่าย 60% ศิลปิน 40% และการทำงานต่างประเทศ ค่าย 50% ศิลปิน 50%

YG Entertainment ค่ายเพลงที่สร้างศิลปินดัง ๆ มากมาย เช่น BIG BANG, WINNER, BLACKPINK และ IKON เป็นค่ายที่ศิลปินได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่มากกว่าบริษัท โดยแบ่งสัดส่วนดังนี้ ยอดขายอัลบั้ม ค่าย 50% ศิลปิน 50% ยอดขายอัลบั้มรีแพ็กเกจ ค่าย 30% ศิลปิน 70% อีเวนต์และกิจกรรม ค่าย 40% ศิลปิน 60% และการทำงานต่างประเทศ ค่าย 50% ศิลปิน 50%

SM Entertainment เป็นค่ายที่มีศิลปินฟ้องร้องยกเลิกสัญญาอยู่หลายกรณี แต่ก็ได้สร้างศิลปินระดับตำนานหลายวง เช่น Girls’ Generation, Super Junior, SHINee และ EXO โดยแบ่งสัดส่วนดังนี้ ยอดขายอัลบั้ม ค่าย 95% ศิลปิน 5% ยอดขายอัลบั้มรีแพ็กเกจ ค่าย 90% ศิลปิน 10% อีเวนต์และกิจกรรม ค่าย 60% ศิลปิน 40% และการทำงานต่างประเทศ ค่าย 30% ศิลปิน 70%

ศิลปินที่ทำยอดขายได้ไม่มากก็ได้รายได้น้อยตามไปด้วย เมื่อรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย แต่พวกเขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานพาร์ตไทม์ เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ และค่ายต้องการให้ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่

 

BLACKPINK

อีกปัญหาคือเรื่องที่ค่ายจดลิขสิทธิ์ชื่อศิลปิน ในวงการเพลงเกาหลีดเป็นที่ทราบกันว่า ศิลปินเป็นแบรนด์แบรนด์หนึ่งที่ค่ายสร้างขึ้นมา ดังนั้นการจดลิขสิทธิ์ชื่อวงหรือชื่อสมาชิกวงบางคนที่มีมูลค่าสูง เพื่อป้องกันการนำชื่อไปใช้ในทางการค้า จึงเป็นเรื่องปกติในวงการ

มีศิลปินอย่างเช่น BEAST, T-ara, GOT7 และอีกหลายวงที่ถูกจดลิขสิทธิ์ชื่อวง ส่งผลให้เมื่อศิลปินไม่ต่อสัญญาหรือยกเลิกสัญญากับค่าย พวกเขาก็ไม่สามารถไปต่อได้ในชื่อเดิม ต่างจากวงการเพลงฝั่งตะวันตก หรือแม้กระทั่งประเทศไทยที่ศิลปินเป็นเจ้าของชื่อของตัวเอง เมื่อหมดสัญญากับค่ายเดิมศิลปินยังสามารถใช้ชื่อในการทำงานกับค่ายใหม่ หรือทำงานอิสระต่อไปได้

อย่างกรณีที่เป็นข่าวโด่งดัง คือ กรณีของ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล สมาชิกชาวไทยในวง BLACKPINK ค่าย YG Entertainment ได้จดลิขสิทธิ์ชื่อและนามสกุลจริงของเธอ “Manobal Lalisa” และ “Manobal” ในหมวดเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ ยังมีศิลปินในค่ายอีกหลายคนที่ถูกจดลิขสิทธิ์ชื่อ

กรณีนี้มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งคือ ค่ายต้องการปกป้องผลประโยชน์ของศิลปินให้ได้มากที่สุด แต่ในอีกมุมหากลิซ่าไม่ได้ต่อสัญญากับค่าย และอยากทำแบรนด์เสื้อผ้าขึ้นมาจริง ๆ เธอจะไม่สามารถใช้ชื่อจริงของตัวเองได้

สิ่งที่หยิบยกมาเล่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ศิลปิน K-pop ต้องพบเจอ ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจจะมีมานานในวงการเพลงเกาหลีใต้ แต่ด้วยความฝันและภาพแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หนุ่มสาวจากทุกมุมโลกก็พร้อมที่จะก้าวเข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์การเป็นไอดอล