ประวัติศาสตร์-พัฒนาการการ์ตูนไทย จากยุคนิทานชาดกจนถึงยุคออนไลน์

การ์ตูนเป็นคอนเทนต์ให้ความบันเทิงและความรู้อายุเก่าแก่ที่อยู่คู่กับสังคมมายาวนาน ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย มีการพัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ และมีสื่อนำเสนอมากมาย พัฒนาไปตามยุคสมัย แต่หัวใจหลักคือภาพและเนื้อหาที่สื่อสารกับคนอ่าน ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนและบันทึกสังคมในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

หากเราจะหาความรู้ว่า การ์ตูนไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไร นำเสนอเนื้อหาอะไรเอาไว้บ้าง ก็ต้องย้อนไปยาวนานหลายร้อยปีเลยทีเดียว

ในนิทรรศการเรื่อง “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” จัดโดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า หนังสือการ์ตูนไทยมีวิวัฒนาการมาจากนิทานต่าง ๆ เช่น นิทานชาวบ้าน นิทานชาดก สุภาษิตสอนเด็ก ซึ่งคนไทยจะรับนิทานด้วยการฟังจากการบอกเล่า การแสดงประเภทต่าง ๆ และสามารถรับรู้นิทานผ่านภาพได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่าจิตรกรรมฝาผนัง หากจะกล่าวว่าจิตรกรรมฝาผนังเป็นต้นกำเนิดของการ์ตูนไทยก็คงจะไม่ผิด

นิทรรศการนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการ์ตูนไทยเอาไว้อย่างละเอียด และมีหนังสือการ์ตูนเล่มจริงจากแต่ละยุคสมัยมาจัดแสดงให้ดูด้วย และต่อไปนี้ คือ เนื้อหาในนิทรรศการที่จะทำให้เรารู้จักการ์ตูนไทยมากขึ้น

ยุคแรก (พ.ศ. 2387-2474) กำเนิดการ์ตูนไทย

ยุคแรกของการ์ตูนไทย คือ ช่วง พ.ศ. 2387-2474 เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ จะพบลักษณะของการ์ตูนแทรกอยู่ในภาพวิจิตรศิลป์ ภาพผนังต่าง ๆ ซึ่งในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์มีจิตรกรเอกนามว่า “ขรัวอินโข่ง” มีความสามารถในการวาดภาพจิตรกรรมไทยโบราณ และเป็นจิตรกรไทยคนแรกที่นำแนวคิดการวาดภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกมาใช้เป็นต้นแบบในการวาดภาพ เพราะได้รับอิทธิพลจากหนังสือภาพวาดจากต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในช่วงนั้น ทำให้รูปแบบจิตรกรรมไทยซึ่งมีลักษณะแบนราบเปลี่ยนไปเป็นภาพที่มีมิติและแสงเงา จนเป็นที่ยกย่องว่า ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรล้ำสมัย

ขรัวอินโข่งเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ ด้วยลักษณะที่เหมือนจริง (realistic) ซึ่งผิดแผกไปจากลักษณะการเขียนภาพแบบไทยโบราณที่เป็นแบบอุดมคติ (idealistic) ภาพวาดของขรัวอินโข่งหลายภาพได้สอดแทรกอารมณ์ขันและล้อเลียนคนในยุคสมัยนั้นไว้ ลักษณะภาพวาดเช่นนี้จัดได้ว่าเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการ์ตูน จึงถือกันว่า ท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

ต่อจากยุคของขรัวอินโข่ง ในราวสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 มีนักวาดภาพอยู่บ้าง แต่ไม่มีผลงานเด่นชัด

การ์ตูนเริ่มเป็นที่นิยม สมัย ร.6

การ์ตูนเริ่มเป็นที่นิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยเป็นอย่างมากเรื่องศิลปะการเขียนภาพล้อ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำว่า cartoon เป็นภาษาไทยว่า “ภาพล้อ”

จากการที่พระองค์ทรงโปรดการวาดภาพมาก จึงทรงส่งเสริมการวาดภาพล้อเลียนอย่างจริงจัง ทำให้ภาพวาดล้อเลียนเป็นที่นิยมแพร่หลายกันอย่างกว้างขวาง หนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นเริ่มมีภาพประกอบข่าว หนังสือพิมพ์หลายฉบับนำรูปภาพมาประกอบข่าว และเริ่มมีการเขียนภาพล้อการเมืองในหนังสือพิมพ์

ในยุคนี้ นักเขียนภาพล้อเลียนการเมืองคนแรกของไทยที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง คือ เปล่ง ไตรปิ่น (ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต) ท่านนี้ไปอยู่ทวีปยุโรปนานกว่า 20 ปี และได้เดินทางกลับสู่ประเทศไทยพร้อมกับนำวิชาการแม่พิมพ์ (บล็อก) โลหะเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยด้วย โดยเปิดร้าน “ฮาล์ฟโทน” รับทำบล็อก แล้วได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในวงการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์

นอกจากนี้ ยังได้นำแบบการวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนของต่างประเทศมาใช้วาดการ์ตูนล้อเลียนเสียดสีการเมืองในประเทศไทย ซึ่งได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ จากนั้นภาพล้อจึงเป็นที่นิยมแพร่หลายไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ถือได้ว่า เปล่ง ไตรปิ่น เป็นผู้บุกเบิกการเขียนการ์ตูนการเมืองคนแรกของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการผสมผสานวัฒนธรรมการวาดภาพล้อมาใช้ในแบบของไทย

ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2475-2499)

ยุคที่ 2 ของการ์ตูนไทย คือ ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2475-2499 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งในนิทรรศการนี้เรียกว่า “ยุคบุกเบิก”

ช่วงปลายของยุคแรก วงการการ์ตูนซบเซาเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบต่อวงการการ์ตูนด้วย

จนถึงปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย การ์ตูนกลับมาคึกคักมีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพทางความคิดเห็นมากขึ้นกว่าเดิม การเขียนการ์ตูนล้อเลียนเสียดสีการเมืองเริ่มมีกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน

ยุคนี้วงการการ์ตูนไทยเริ่มผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมไทยออกมาในรูปของตัวการ์ตูน มีการ์ตูน 2 ประเภท คือ การ์ตูนเรื่องจากวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน กับการ์ตูนสะท้อนสภาพสังคมการเมือง ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นอกจากนี้ ยังมีหนังสือการ์ตูนรวมเล่มวางจำหน่ายทั่วไปมากขึ้น นักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากในยุคนี้ ได้แก่ สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้สร้างตัวการ์ตูน “ขุนหมื่น” เป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนเรื่องยาวในไทย และเป็นคนแรกที่นำวรรณคดีไทยมาเขียนการ์ตูน

การ์ตูนและนักเขียนการ์ตูนไทยพัฒนาก้าวหน้าตามลำดับ จากการ์ตูนล้อการเมืองมาเป็นการ์ตูนเรื่องยาวลงติดต่อกันตามหน้าหลังของหนังสือพิมพ์รายวัน ยุคนี้การ์ตูนเริ่มมีอิทธิพลต่อผู้อ่านมากถึงขนาดมายืนรอหน้าโรงพิมพ์เพื่อคอยอ่านการ์ตูน มีนักเขียนการ์ตูนที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่

-ฟื้น รอดอริห์ เจ้าของนามปากกา “เดช ณ บางโคล่” หรือต่อมา คือ “จำนง รอดอริห์”

-ฉันท์ สุวรรณบุณย์ เป็นคนแรกที่บุกเบิกการ์ตูนเด็กของไทยออกจากเรื่องนิยายปรัมปราและแวดวงวรรณคดี

-ประยูร จรรยาวงศ์ ยอดนักเขียนการ์ตูนผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาการ์ตูนเมืองไทย” ผลงาน “การทดลองระเบิดปรมาณูครั้งสุดท้าย” ของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดการ์ตูนล้อการเมืองเพื่อสันติภาพของโลก ที่สหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2503 และเขาได้รับรางวัลแมกไซไซ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ. 2513 ในสาขาหนังสือพิมพ์วรรณกรรมและศิลปะสื่อสร้างสรรค์

-เหม เวชกร เป็นนักเขียนภาพการ์ตูนร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงมากในยุคนี้ ผลงานของท่านส่วนมากจัดเป็นงานวิจิตรศิลป์

-พิมล กาฬสีห์ นักเขียนการ์ตูนสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียงในยุคนี้ เจ้าของนามปากกา “ตุ๊กตา”

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2500-ปัจจุบัน)

ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา วงการการ์ตูนได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศทั้งประเทศตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน ความนิยมการ์ตูนไทยเริ่มเปลี่ยนไป และแทบหายไปจากแผงหนังสือ

หลังจากที่มีภาพยนตร์การ์ตูนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่นได้เข้ามาฉายทางโทรทัศน์ด้วยเนื้อหาสาระที่ตื่นเต้นเร้าใจ สร้างสรรค์จินตนาการของเด็ก ลักษณะการเล่าเรื่องเป็นบทสนทนาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นครองใจเด็ก ๆ ส่งผลให้เด็ก ๆ ไม่อ่านการ์ตูนไทย ทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยยุคนี้ต้องเสาะหารูปแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

พัฒนาการของการ์ตูนไทยในยุคนี้ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ

1.ช่วงแรก ปี พ.ศ. 2500-2520 เรื่องการ์ตูนเป็นเรื่องจากเทพนิยาย เรื่องอภินิหาร เรื่องสัตว์ประหลาด และของวิเศษมากมาย โดยได้รับอิทธิพลจากเทพนิยายและการ์ตูนเรื่องของประเทศทางตะวันตก แต่นำมาผูกเรื่องเขียนใหม่ให้เป็นการ์ตูนแบบไทย ๆ

วงการการ์ตูนในยุคนี้นอกเหนือจากการแปลหรือเลียนแบบการ์ตูนของญี่ปุ่นแล้ว ยังเกิดมีการ์ตูนที่เน้นเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องผีสาง โดยผลิตในราคาเล่มละ 1 บาท ต่อมาเรียกกันว่า “การ์ตูนเล่มละบาท” เด็ก ๆ นิยมซื้อกันมาก การ์ตูนประเภทนี้มีการสอดแทรกเรื่องราวที่ค่อนข้างหยาบคายและลามกอนาจาร โดยมุ่งจะขยายตลาดผู้ใหญ่ด้วย

การ์ตูนเล่มละบาทกลายเป็นตำนาน เป็นชื่อเฉพาะ และเป็นสัญลักษณ์ที่เรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้ แนวเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท มีทั้งเรื่องชีวิต เรื่องผี เรื่องตลก นิทาน รัก ต่อมาภายหลังเนื้อหาเริ่มหันมาเป็นเรื่องผี ลึกลับ ตลก รักประโลมโลก และความโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะเรื่อง “ผี” เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นความตื่นเต้นแบบง่าย ๆ ที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด

2.ช่วงปี พ.ศ. 2521-2536 เป็นสมัยที่การ์ตูนญี่ปุ่นครองเมือง การ์ตูนแปลจากญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในไทยเป็นอย่างมากจนครองตลาดการ์ตูนในไทยอย่างเบ็ดเสร็จ มีการนำการ์ตูนญี่ปุ่นมาแปลเป็นไทยทั้งในแบบพ็อกเกตบุ๊ก และนิตยสาร นักเขียนการ์ตูนไทยต้องปรับตัวในการสร้างสรรค์ผลงาน เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ของการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นประเภทสัตว์ประหลาด มนุษย์วิเศษ ทำให้เนื้อหาของการ์ตูนไทยในยุคนี้เปลี่ยนแนวมาเป็นการ์ตูนสัตว์ประหลาดด้วย เช่น จัมโบ้เอ ไอ้มดแดง หุ่นกายสิทธิ์ เป็นต้น

3.ช่วงปี พ.ศ. 2537-ปัจจุบัน หนังสือการ์ตูนไทยที่ถือครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัยในช่วงนี้ คือ ขายหัวเราะ มหาสนุก ไอ้ตัวเล็ก หนูหิ่นอินเตอร์ และหนังสือการ์ตูนอื่น ๆ ในเครือสำนักพิมพ์บันลือสาส์น ซึ่งแนวการ์ตูนเป็นการ์ตูนแก๊ก และการ์ตูนเรื่องสั้นจบในตอนเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ หนังสือการ์ตูนในยุคนี้มีลายเส้นและเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับการ์ตูนญี่ปุ่น

ปัจจุบันนักเขียนการ์ตูนไทยมีความสามารถมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีดีขึ้น และสามารถนำเทคนิคต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการดี เนื้อเรื่องดี จนทำให้ผลงานของนักเขียนการ์ตูนไทยเป็นที่ยอมรับและโด่งดังในต่างประเทศ

เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล การอ่านหนังสือการ์ตูนได้พัฒนา รูปแบบการเข้าถึงการ์ตูนเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี การ์ตูนได้ปรับเปลี่ยนก้าวข้ามจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อออนไลน์ ช่องทางการเข้าถึงหนังสือการ์ตูนไทยในยุคดิจิทัลมีมากมาย นับเป็นกำไรของนักอ่านที่ไม่จำกัดอยู่กับแพลตฟอร์มชนิดใดชนิดหนึ่ง สามารถเข้าถึงง่ายผ่านทางอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ โดยมีทั้งแบบที่อ่านฟรีก็ได้ หรือจะเสียเงินซื้อก็มี

ทั้งหมดนี้คือ เนื้อหาสาระ ประวัติความเป็นมา และการพัฒนาของการ์ตูนไทย จากยุคแรกเริ่มมาจนถึงยุคปัจจุบัน ที่เราได้มาจากในนิทรรศการ “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ


ถ้าใครสนใจเนื้อหาสาระดี ๆ แบบนี้ และยังมีหนังสือการ์ตูนทุกยุคสมัยให้ได้ชมด้วย ก็สามารถไปชมได้จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2564 เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์และวันหยุดตามมติคณะรัฐมนตรี