Telehealth ตัวช่วยผู้ป่วยโควิด กับทางเลือกใหม่ หาหมอผ่านจอ

ภาพ : pexels
พลพัต สาเลยยกานนท์ : เรื่อง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ท่ามกลางการกลายพันธุ์ไม่รู้จบ ที่น่าจับตาล่าสุดคือ “สายพันธุ์เดลต้า” ที่ออกอาละวาดเป็นภัยเงียบ ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ออกอาการ สร้างความปั่นป่วนและหนักใจให้กับวงการแพทย์ในประเทศไทยและทั่วโลก

ถึงกับต้องคิดหาวิธี “เพิ่มภูมิคุ้มกัน” ให้กับผู้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วต้องฉีดบูสเตอร์โดสกันใหม่เป็นเข็มที่ 3 ถ้าไวรัสออกฤทธิ์ร้ายลึกอีก มนุษย์ก็ต้องฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 4 และอาจต้องฉีดไปเรื่อย ๆ เหมือนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

นอกจากโควิดจะทำลายร่างกายมนุษย์แล้ว ผลกระทบของโรคร้ายโรคใหม่เหมือนห่าลง ยังส่งผลให้ “ระบบสาธารณสุข” ของไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤต เกิดเหตุการณ์ “ขาดแคลน” ไปทุกอย่าง ทั้งวัคซีน หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ จนลามไปถึง “เตียงผู้ป่วย” ที่ไม่เพียงพอต่อการรับรักษา

จากผู้ป่วยอาการไม่มากกลายเป็นผู้ป่วยระดับโคม่า เชื้อวิ่งลงสู่ปอดเร็วขึ้นเพราะขาดการดูแลรักษาทันท่วงที วงการแพทย์-พยาบาลจึงต้องตัดสินใจเลือกใช้เครื่องช่วยหายใจกับกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักเท่านั้น และอีกหลายต่อหลายเหตุการณ์ล้วนมาจากสาเหตุประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้

แนวคิดเรื่องการรักษาตัวเองจากที่บ้าน (home isolation : HI) หรือการรักษาตัวเองภายในชุมชน (community isolation : CI) จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็น “ทางเลือกใหม่” ในการรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศไทย พร้อมแผนรับมือกับวิกฤตโควิด เข้าทำนอง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

Home Isolation

– เป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และไม่มีโรคอื่นร่วม

– เป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลมาแล้ว 7-10 วัน และแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้

– ผู้ป่วยสมัครใจแยกกักตัวในที่พักของตน

– อยู่คนเดียวหรือมีผู้อาศัยร่วมไม่เกิน 1 คน

– อายุน้อยกว่า 60 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง น้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม หรือไม่มีภาวะโรคอ้วน

– ติดต่อ 1330 กด 14 (สปสช.) หรือแอดไลน์ @comcovid-19 เพื่อเข้าสู่ระบบ โดยกลุ่มผู้ป่วยจะได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหาร และอุปกรณ์ยังชีพ

– มีแพทย์ติดตามอาการทางระบบสื่อสารที่เหมาะสม

– หากมีความจำเป็นจะได้รับยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ พร้อมส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหากมีอาการเปลี่ยนแปลงและน่าห่วง

Community Isolation

หากไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้และในชุมชน มีการจัดตั้งศูนย์แยกโรคชุมชน (Community Isolation) ให้ติดต่อแกนนำหมู่บ้านหรืออาสาสมัคร เพื่อเข้ารับการกักตัวและรับการดูแลรักษาภายในศูนย์นี้ การจัดตั้งศูนย์แยกโรคชุมชนอาจทำได้โดยการติดต่อ สปสช. (โทร.1330)

สิ่งที่น่าสนใจคือ การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์เช่นนี้คือ telehealth หรือ telemedicine ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ที่ช่วยดูแลสุขภาพทางไกลผ่านเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างมากภายหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เรียกได้ว่าเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์เลยก็ว่าได้

ที่ผ่านมาแม้จะมีการพูดถึง telehealth อยู่บ้างในการเป็นทางเลือกในการรักษา แต่หลัก ๆ ผู้ป่วยหรือครอบครัวยังคงต้องการรักษาและพบแพทย์ที่โรงพยาบาล จึงอาจทำให้เทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ส่วนใหญ่เน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างคือ การที่แพทย์ไม่สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้เองโดยตรง จึงเป็นเรื่องยากในการวินิจฉัยโรคและตัดสินใจให้การรักษาอย่างถูกวิธี

แต่ครั้งนี้มาตรการ social distancing ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ติดเชื้อง่าย รุนแรง และไม่ค่อยแสดงอาการ telehealth หรือการดูแลสุขภาพทางไกลผ่านเครื่องมือสื่อสารจึงเข้ามาช่วยอย่างมาก อาทิ การให้คำปรึกษา ติดตามอาการ และแปลผลตรวจสุขภาพกับแพทย์

ล่าสุด กทม.ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาแอปพลิเคชั่น BKK HI Care ระบบบริหารจัดการผู้ป่วย home isolation เพื่อจัดทำทะเบียนข้อมูลรายบุคคล สามารถติดตามและดูแลผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านได้อย่างใกล้ชิด

โดยผู้ป่วยสามารถรายงานอาการและรับคำแนะนำการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์และพยาบาลผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ BKK HI Care ซึ่งสามารถติดตามอาการและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ระบบ BKK HI Care ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายและมีเครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดย 1 เครื่องสามารถลงทะเบียนใช้งานได้มากกว่า 1 คน

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสามารถโทร.แจ้งรายงานอาการกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นในด้านการจัดการผู้ป่วยใน HI หรือ CI เช่นเดียวกับโรงพยาบาลอีกหลายแห่งที่ได้มีการพัฒนาระบบ telehealth ของตัวเองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ข้อมูลงานวิจัยของ McKinsey ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐหันมาใช้บริการ telehealth เพิ่มขึ้นจาก 11% ของผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมดในปี 2019 มาอยู่ที่ 46% ในปี 2020

เนื่องจากเป็นรูปแบบการให้บริการที่ตอบโจทย์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากการที่ผู้ป่วยมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังโรงพยาบาลในกรณีที่ไม่ได้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้มีการเลื่อนการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินออกไป

แต่ขณะเดียวกันผู้ป่วยบางส่วนยังมีความต้องการคำปรึกษาและคำแนะนำในการรักษาอาการป่วยทั่วไป ทำให้หันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มการรักษาพยาบาลออนไลน์กันมากขึ้น

ด้าน Statista ได้มีการคาดการณ์มูลค่าตลาด telehealth ของโลกในช่วงปี 2019-2026 จะเติบโตราว 21% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.76 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับในไทย telehealth ถูกนำมาใช้มากขึ้นโดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาลทางไกล หรือที่เรียกว่า telemedicine ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงแรกจะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษาและควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลยังสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้นด้วย แม้ว่า telehealth จะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังมีความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของ telehealth เนื่องจากการตรวจของแพทย์ผ่านทาง VDO ยังมีข้อจำกัดในการตรวจวินิจฉัยที่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ร่วมด้วย


การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็น “ตัวเร่ง” สำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้งาน telehealth เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นคำตอบสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตได้เป็นอย่างดี