Unseen สวนป่าเบญจกิติ จุดชมเมืองกลางน้ำ สกายวอล์กเชื่อมสวนลุมฯ

สวนเบญจกิติ
สมถวิล ลีลาสุวัฒน์ : เรื่อง

นับเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 สำหรับคนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯที่จะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มเข้ามาในชีวิต เป็น “สวนสาธารณะ” ขนาดใหญ่ระดับอาเซียน ท่ามกลางทำเลทองถนนรัชดาภิเษก อโศก-สุขุมวิท-คลองเตย และอยู่ใกล้กับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกฟากอยู่เลียบแนวทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงเพลินจิต-พระรามที่ 4

สวนเบญจกิติ เปิดหรือยัง

ยกระดับกรีนแอเรีย สวนป่า+สวนน้ำ

“สวนเบญจกิติ” ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศ เป็นโครงการเพื่อสังคมที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ ตั้งอยู่ในที่ดินของโรงงานยาสูบ รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ที่มี “บึงยาสูบ” เป็นขุมทรัพย์ทางธรรมชาติ ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้ซอฟต์โอเพนนิ่ง “ป่าใหญ่” ใจกลางกรุง โดยอัพเกรดและรีโนเวตสวนสาธารณะที่มีแต่เดิมให้ดูดี และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

โดยเฉพาะการสร้างสีสันให้ “สกายวอล์ก” ระยะทาง 2 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อ 2 สวนใหญ่ระดับประเทศ คือ “สวนเบญจกิติ” กับ “สวนลุมพินี” ให้เป็นหนึ่งเดียว นอกจากจะเป็นอันซีนไทยแลนด์แล้ว จะเป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ระดับคุณภาพเหมือนนานาประเทศที่มี park เป็นจุดขาย

เช่นเดียวกับ “จุดชมเมืองกลางน้ำ” ที่ออกแบบผสมผสานความเป็นเมืองกับบึงน้ำ เพื่อให้คนรักธรรมชาติมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สูดอากาศบริสุทธิ์ฟอกปอดไปในตัว แม้โควิด-โอไมครอน และฝุ่น PM 2.5 จะยังไม่หมดไป

สวนเบญจกิติ ที่ปั่นจักรยาน

สวนเบญจกิติ มีพื้นที่รวม 450 ไร่ แบ่งเป็น สวนป่าเบญจกิติ 259 ไร่ สวนน้ำ 130 ไร่ ภายในโครงการเน้นใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ให้แสงส่องสว่างและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ซึ่งเฟสแรกขนาดพื้นที่ 61 ไร่ ได้เปิดให้บริการแล้ว ทุกคนสามารถวิ่ง เดิน ปั่น (จักรยาน) ได้อย่างปลอดภัย กลุ่มคนทำงานในเมืองจะออกกำลังกายช่วงเช้าก่อนเข้าออฟฟิศ และช่วงเย็นหลังเลิกงาน เหมือนสวนเบญจสิริติดห้างเอ็มโพเรียม โดยมี Bike Lane ปั่นได้ตั้งแต่ 06.00-17.30 น. แต่จำกัดความเร็วในการปั่นไม่เกิน 15 กม./ชม.

สวนป่าระยะที่ 2-3 ในบริเวณโรงงานยาสูบเก่านั้น เป็นฝั่งติดทางด่วนเฉลิมมหานคร ถนนพระรามที่ 4 ได้ทำการปรับภูมิทัศน์ใหม่ เน้นความเป็นสวนธรรมชาติ มีบึงน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ แปลงนา และเขตป่าที่มีต้นไม้นานาพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้หายาก เพื่อสร้างระบบนิเวศให้คนกับสัตว์อยู่ร่วมกันได้ ไทม์ไลน์ระบุจะเปิดให้บริการในเดือนแห่งความรัก “กุมภาพันธ์” 2565

สวนเบญจกิติ ไปยังไง ทางเชื่อม

ทุ่มพันล้านต่อยอดสวนสาธารณะ

แต่เดิมสวนแห่งนี้เคยเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2547 สมัยที่โรงงานยาสูบได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณดังกล่าว เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี 2535 และใช้งบประมาณเกือบพันล้านบาทในการปรับโฉมตามแผนแม่บท โดยมีบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด เป็นผู้ออกแบบ รายละเอียดแผนพัฒนาสรุปดังนี้

1.พื้นที่ทางธรรมชาติ มีบึงน้ำ 4 บึง รองรับน้ำได้ 1.28 แสน ลบ.ม. มีพื้นที่สีเขียวมีพรรณไม้นานาพันธุ์ เป็นต้นไม้เดิม 1,733 ต้น ต้นไม้ใหม่ 7,155 ต้น เช่น แคนา, เสลา และกระโดน

2.พื้นที่เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางเดินลัดเลาะธรรมชาติ 5.8 กม. เส้นทางวิ่ง 2.8 กม. เส้นทางจักรยาน 3.4 กม. เน้นส่งเสริม
การออกกำลังกาย

3.พื้นที่อาคาร มีอาคารกีฬาในร่ม รีโนเวตจากโกดังเก็บใบยาสูบ อาคารพิพิธภัณฑ์ได้ปรับปรุงมาจากโรงงานผลิตยาสูบ รองรับผู้ชมได้ 3,000 คน มีแปลงนาสาธิต และอัฒจันทร์รองรับกิจกรรมของผู้ใช้งาน 15,000 คน

ภาพต้นไม้ สวนเบญจกิติ

สำหรับการปลูกต้นไม้ในสวนป่าเบญจกิตินั้น ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง กล่าวไว้ว่า เพื่อให้เป็นไปตามกระแสพระราชดำริของสมเด็จฯพระพันปีหลวง จะเน้นออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้มีต้นไม้ที่ออกดอกเป็นกลุ่มตามลักษณะของพันธุ์ไม้ดอกที่มีสีใกล้เคียงกัน

เช่น ตะแบก อินทนิล เสลา เป็นสีม่วงที่ปลูกรวมกัน เพราะเวลาออกดอกพร้อมกันจะดูสวยงาม หนาแน่น เป็นยูนิตี้เด่นชัดเหมือนแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศ

ซึ่งอาศรมศิลป์แนะนำว่า ควรปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ที่ออกดอกสีชมพูในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เพื่อสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่อีกฝั่งควรปลูกต้นไม้ดอกที่มีสีส้ม จะออกดอกตามฤดูกาลในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อสื่อถึงสมเด็จฯพระพันปีหลวง

โดยแกนกลางสวนควรจะเป็นต้นรวงผึ้ง ออกดอกสีเหลือง ให้กลิ่นหอมรัญจวน เป็นต้นไม้ประจำพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี


พร้อมแนวคิดสร้างหอสูงชมเมือง รูปดอกบัวกลางน้ำ เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และสามารถตั้งเป้าให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศไทยได้ เพื่อเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวในอนาคต