ประวัติศาสตร์วินัยโรงเรียนไทย เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธงและไม้เรียว

เสวนา Book Summer Fest
เรื่อง : ปนัดดา ฤทธิมัต

“เป็นนักเรียนไทยจึงเจ็บปวด เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว”หนึ่งในหัวข้อเสวนาของสำนักพิมพ์มติชนในงาน SUMMER BOOK FEST 2022 เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565  กับการตีแผ่ประวัติศาสตร์ความบอบช้ำของนักเรียนไทย และปัญหาความรุนแรงในระบบการศึกษาไทยที่ไม่รู้จบ ตั้งแต่หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475-2563 อันเป็นปีสำคัญที่เหล่านักเรียนได้ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจที่กดขี่มาหลายทศวรรษ

ผ่านหนังสือเล่มใหม่ “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย” เขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ซึ่งได้มาร่วมพูดคุยบนเวที พร้อมด้วย วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวถึงที่มาในการเขียนหนังสือ “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียนไทย” ว่า แรงบันดาลใจที่นำมาสู่การเขียนหนังสือเล่มนี้มี 2 ประเด็นใหญ่ คือ ทุกคนเติบโตมาในโรงเรียนล้วนได้รับทั้งความรู้ และประสบการณ์ “อิหยังวะ ?” ที่แตกต่างกันไปของพวกเรา

ใครที่อยู่ใกล้อำนาจคือเป็นลูกหลานของครูในโรงเรียน ก็จะมีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่แตกต่างไปจากนักเรียนคนอื่น ๆ หรือเป็นนักเรียนชายขอบของอำนาจ ที่มักถูกอำนาจของครูและโรงเรียนนั้นกระทำมากกว่า และการลุกขึ้นสู้ของนักเรียนในปี 2563 ซึ่งมองว่าพลังนั้นเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

ระเบียบวินัยเชิงวัฒนธรรม

สำหรับไอเดียที่ภิญญพันธุ์ใช้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ “ระเบียบวินัยฉบับวัฒนธรรม” เขาได้ยืมไอเดียมาจาก อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมขึ้นมา ซึ่งมีใจความว่า แม้เราจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมากี่ฉบับ ก็ถูกฉีกทิ้งและไม่ถูกเชื่อฟัง เช่นเดียวกัน

ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะออกระเบียบออกคำสั่งว่านักเรียนสามารถไว้ผมยาวได้ แต่บางโรงเรียนก็กล้าที่จะขัดคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยอ้างว่าระเบียบทรงผมเป็นจารีตที่มีมานานแล้ว ดังนั้น ปัญหาสำคัญก็คือระเบียบวินัยเชิงวัฒนธรรมที่เข้ามาเป็นเกณฑ์การจัดการที่ให้ความชอบธรรมของครูและโรงเรียนควบคุมนักเรียน

ขณะเดียวกัน ครูไม่ได้ควบคุมนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังตามมาด้วยการลงโทษ อย่างเบาที่สุดก็ตักเตือนให้ไปตัดผม อย่างร้ายแรงที่สุดก็คือการใช้กรรไกรตัด แล้วตีนักเรียนซ้ำ ซึ่งหมายความว่านักเรียนคนหนึ่งถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบ ที่บางครั้งเราไม่ได้คิดว่าทรงผมเป็นปัญหาสำหรับเรา หรือคิดว่าผมไม่ยาวมากในสายตาเรา แต่ครูแต่ละคนก็มีวิจารณญาณต่างกันมากว่าแค่ไหนเรียกว่ายาว

ดังนั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะนั่งเก้าอี้ดนตรีแห่งการลงทัณฑ์ของครูในโรงเรียนได้เสมอ นั่นหมายความว่าเป็นการปรามไม่ให้เด็กกล้า หรืออยู่ในกรงของการควบคุมทรงผม เช่นเดียวกันกับเครื่องแบบที่อาจจะห้ามไม่ให้เสื้อหลุดออกจากกางเกง

my body my choice

ภิญญพันธุ์กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการถูกจับจ้องบนเรือนร่างของเรา สมัยนี้สามารถพูดคุยกันรู้เรื่องแล้วว่า my body my choice เด็กสมัยนี้เข้าใจสิ่งนี้ แต่สมัยของตนนั้น ร่างกายไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นของครูและโรงเรียน หมายความว่าเราถูกริบตัวตนของเราไปอยู่ในโรงงานที่เรียกว่าโรงเรียน คือโรงเรียนเปรียบเสมือนโรงงานผลิตเราออกมาให้ต้องเชื่อฟังรัฐ ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่การควบคุมทรงผม แต่เป็นการยึดกุมจิตใจ เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อตนเอง

การลงทัณฑ์โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

อีกเรื่องหนึ่งที่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่มากคือเรื่องของ space ประเทศไทยนักเรียนยังต้องเข้าแถวหน้าเสาธง นักเรียนต้องตากแดด ตากฝน และลมหนาว ซึ่งเท่ากับการรับเอาสิ่งที่ไม่เป็นผลดีมาให้กับนักเรียน และมักจะมีประโยคที่เราคุ้นเคยตอบกลับมาว่า “แค่นี้ยังทนไม่ได้แล้วจะไปทำอะไร” แต่ในขณะเดียวกันครูยืนอยู่ใต้ต้นไม้ หรือกำลังกางร่มอยู่ อีกทั้งหน้าเสาธงคือพื้นที่แห่งการประจาน ซึ่งหากมองไอเดียการลงทัณฑ์สมัยใหม่ การประจานเขาไม่ทำกันแล้ว ดังนั้น จึงเป็นการยืนยันว่าการลงทัณฑ์ของโรงเรียนไทยอยู่ในยุคก่อนสมัยใหม่ เป็นจารีตนครบาลฉบับโรงเรียน เช่นเดียวกับการเฆี่ยนตี

ฉะนั้นการลงทัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นสมัยใหม่ เวลาเราพูดว่าอยากจะพานักเรียนไทยไปเป็นพลเมืองโลก จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อครูยังไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนเลย ดังนั้น นี่จึงเป็นปัญหามาก ๆ

ความสัมพันธ์ของการเมืองกับกฎระเบียบโรงเรียน

โรงเรียนเป็นแบบจำลองที่รัฐต้องการที่จะสร้างพลเมืองที่พึงประสงค์ หรือที่ตนเองอยากได้ ดังนั้น หากเราดูวิธีคิดหรือโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งหลังแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยสลับรัฐประหารกับประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา คนส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ภิญญพันธุ์พยายามจะใช้คำว่าเราอยู่ในสังคมเผด็จการครึ่งใบ เมื่ออุดมการณ์ของรัฐไม่จงรักภักดีต่อระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วก็กลับมาเป็นเผด็จการอยู่ดี หรือสุดท้ายแล้วประชาธิปไตยไม่มีวันชนะ คำถามคือคิดว่าครูและโรงเรียนจะอยู่ฝั่งแพ้หรือชนะ

ก่อน พ.ศ. 2475 การเฆี่ยนตีเด็กเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าหลังจากนั้นเป็นต้นมาการเฆี่ยนตีจะหมดไป พระยาสุรศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในสมัยคณะราษฎร เขียนกลอนที่พูดถึงการใช้ไม้เรียวว่าเป็นวิธีที่สิ้นคิด หมายความว่า พ.ศ. 2475 เริ่มมีการพูดถึงว่าควรจะเลิกใช้ความรุนแรงในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนั้นคณะราษฎรมีความใกล้ชิดกับญี่ปุ่น และนำนโยบายของญี่ปุ่นมาใช้ รวมถึงการให้นักเรียนชายตัดผมเกรียน และการเข้าแถวหน้าเสาธง

“หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนบัตรเชิญให้พวกเราลุกขึ้นมาเปลี่ยนการศึกษาเพื่อลูกหลานของเรา เพื่ออนาคตของพวกเราเอง” ภิญญพันธุ์กล่าว