อิ่ม By BDMS โครงการอาหารเพื่อสุขภาพ หมอดีไซน์เมนู เชฟปรุงรสชาติ

อิ่ม by BDMS
ปนัดดา ฤทธิมัต : เรื่อง
ศุภโชค สอนแจ้ง : ภาพ

“ดีจากข้างใน” นอกจากจะเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดที่ดีแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์เช่นกัน ถ้าอยากให้ร่างกายดี เราก็ต้องรับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าครบถ้วนตามหลักโภชนศาสตร์สาธารณสุข

สุขภาพดี สารอาหารต้องดีครบ

โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับชั้นนำของประเทศ มองเห็น “คุณค่า” ของอาหารและสารอาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ถูกต้องเหมาะสมกับโรคนั้นๆ จึงเกิดโครงการ “อิ่ม By BDMS” อาหารเพื่อสุขภาพ และคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนป่วยก็สามารถรับประทานอาหารจากโครงการนี้ได้เช่นกัน

พญ.เมธินี ไหมแพง

พญ.เมธินี ไหมแพง รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม 1 บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลกรุงเทพมีคนไข้หลากหลาย ทั้งผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยสูงอายุ แต่การมีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล “โภชนาการ” ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก

เช่น ผู้ป่วยที่นอนในหอผู้ป่วยวิกฤต เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารมากเช่นกัน ส่วนผู้ป่วยสูงอายุอาหารต้องเหมาะสม ไม่ทำให้สำลัก ส่วนผู้ป่วยโรคต่าง ๆ หากรับประทานอาหารผิดประเภทอาการป่วยอาจจะหนักขึ้น

ทำให้ BDMS มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา “โครงการอิ่ม By BDMS” เพราะในฐานะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทางผู้บริหารล้วนมีความต้องการให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดี การรับประทานอาหารเฉพาะโรคให้ถูกต้องก็ถือว่าช่วยส่งเสริมสุขภาพคนไข้ได้

พญ.วีรนุช โรจน์ยินดีเลิศ

ขณะที่ พญ.วีรนุช โรจน์ยินดีเลิศ แพทย์อายุรศาสตร์เฉพาะทาง โภชนศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่า รูปแบบโครงการอิ่ม By BDMS คือ เราอยากให้คนไข้ทุกคนที่มีโรคประจำตัว หรือคนที่อยากเริ่มดูแลสุขภาพ ได้รับอาหารกลับไปรับประทานที่บ้านได้ถูกต้องตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ที่โรงพยาบาลจะมีครัวที่ดูแลอาหารให้กับคนไข้ทุกคนอยู่แล้ว

แต่ปัญหาคือ เมื่อคนไข้กลับบ้านไป พบว่าคนไข้ไม่สามารถรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นตัวโรคที่อาจจะมีอาการแย่ลง หรือการฟื้นฟูร่างกายได้ช้า รวมถึงมีผลต่อการปรับยาของแพทย์ด้วย ดังนั้น การส่งต่อเมนูที่เหมาะสมกับเฉพาะโรคของแต่ละบุคคลจึงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

“คนไข้แต่ละคนความต้องการทุกอย่างไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของพลังงาน เรื่องของโปรตีน เรื่องของชนิดโปรตีน หรือว่าจะเป็นเรื่องของเกลือแร่ต่าง ๆ ที่จะต้องถูกควบคุม และถูกปรับให้เหมาะสม รวมถึงรสสัมผัสของอาหาร คนไข้บางกลุ่มต้องการอาหารที่มีปริมาณไม่มาก แต่ได้รับสารอาหารครบถ้วน

สิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรให้สารอาหารทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์การควบคุมที่แพทย์ต้องการ โดยที่รสชาติอร่อย สีสันน่ารับประทาน เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าต้องรับประทานอาหารที่ผิดแปลกไปจากคนทั่วไป เพราะฉะนั้น เชฟของเรานอกเหนือจากมีความรู้เรื่องการทำอาหารแล้ว จะต้องมีความรู้เรื่องของการดัดแปลงวัตถุดิบ เครื่องปรุงให้หลากหลาย รวมถึงมีความรู้ทั้งเรื่องของโภชนาการด้วย และเป็นความรู้โภชนาการที่เหมาะกับคนไข้แต่ละคน” พญ.วีรนุชกล่าว

บุกเบิกมาแล้ว 1 ปีครึ่ง ผลตอบรับดีเกินคาด

โครงการดังกล่าวโรงพยาบาลกรุงเทพได้เริ่มดำเนินการเป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการโปรโมตให้กับคนไข้ในโรงพยาบาลก่อน โดยจะมุ่งเน้นคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยนอก กับผู้ป่วยใน ลักษณะก็จะเป็นการส่งอาหารไปที่บ้าน คล้าย ๆ การผูกปิ่นโต คนไข้สามารถเลือกได้ว่าใน 1 วันต้องการรับอาหารจากครัวอิ่มกี่มื้อ

แต่โดยปกติเพื่อให้เห็นผลในเรื่องของการรักษามากขึ้น จะแนะนำว่าควรรับประทานอย่างน้อย 2 มื้อ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างน้อยประมาณ 60% ของอาหารทั้งวันที่คนไข้ได้รับประทาน

“เวลาที่คนไข้มาเจอคุณหมอ เราก็จะมีการฟีดแบ็กดูด้วยว่า ผลเลือด หรือผลการรักษาของคนไข้มีผลดี เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เนื่องจากเราเน้นในเรื่องของความสดใหม่ เราจะไม่ได้ทำอาหารที่ค้างคืน โดยเริ่มต้นถ้าเป็นอาหารเฉพาะโรค ซึ่งในปัจจุบันทางครัวอิ่มก็จะมีอาหารโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต และโรคมะเร็ง มีราคาเริ่มต้นมื้อละ 250 บาท แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนไข้ที่ยังไม่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องคุมอาหาร แต่อยากเริ่มดูแลสุขภาพ ก็จะเริ่มต้นที่มื้อละ 109 บาท โดยให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล” พญ.วีรนุชกล่าว

พญ.เมธินี กล่าวเสริมว่า กระแสตอบรับของคนไข้ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการมาก็มีจำนวนคนไข้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่มีการทำโปรโมชั่นอาหารเฉพาะโรคราคาไม่ถึง 250 บาท อีกทั้งยังมีการขยายไปยังคนไข้กลุ่มอื่น ๆ ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ล่าสุดเนื่องจากโรงพยาบาลกรุงเทพมีผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุที่อาจจะมีปัญหารับประทานอาหารไม่ค่อยได้ หรือสำลัก ก็จะพัฒนาให้มีอาหารสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ รวมถึงมีอาหารปั่นสำหรับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่กลืนอาหารได้ไม่สะดวก ต้องให้อาหารทางสายยาง

พญ.วีรนุช กล่าวต่อว่า สำหรับอาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนไข้มักเข้าใจผิดว่า ไม่สามารถรับประทานแป้ง ขนมปัง และผลไม้ได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งที่สำคัญสำหรับคนไข้เบาหวานคือ “การควบคุมสัดส่วนของอาหาร” เป็นหลัก ในขณะที่ร่างกายยังคงได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

ดังนั้นคนไข้สามารถรับประทานข้าวได้ แต่ข้าวที่รับประทานหากเลือกได้ ควรเป็นข้าวที่มีกากใยอาหาร ช่วยลดการชะลอดูดซึมน้ำตาล ทำให้การคุมเบาหวานดีขึ้น แพทย์สามารถลดยาเบาหวานได้ ส่วนเรื่องของเนื้อสัตว์จะเน้นเนื้อสัตว์มีคุณภาพและหลากหลาย ส่วนโปรตีนจากพืชก็พัฒนาอยู่ เพราะจะช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล และลดการดูดซึมไขมันในระบบลำไส้ได้

นอกจากนั้น คนไข้เบาหวานสามารถรับประทานผลไม้ได้ตามปกติ แต่จะมีการจัดสัดส่วนให้เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าผลไม้ที่รับประทาน ประโยชน์เพื่อให้ได้รับวิตามินแร่ธาตุที่ครบถ้วนและเพียงพอ แต่ปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในผลไม้ไม่มากเกินไปที่จะส่งผลเสียต่อระดับน้ำตาลในเลือดของคนไข้

ปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจเรื่องของอาหารมากขึ้น เห็นชัดจากการแชร์ข้อมูลในโลกโซเชียล สังคมจึงตื่นตัวมากกับเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้น เทรนด์อาหารจึงมาแรง เนื่องจากเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของชีวิต ถือเป็นพื้นฐานทางร่างกายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การป้องกันการเกิดโรค หรือหากเป็นโรคแล้ว อาหารจะช่วยให้ลดการใช้ยา และเพิ่มการฟื้นตัวให้กับคนไข้ได้ คาดว่าเรื่องอาหารจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทุกคนมุ่งมั่น สนใจหาข้อมูล และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองมากขึ้น

พบกับสาระน่ารู้และกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพได้ ในงาน “Healthcare 2022 : จักรวาลผู้สูงวัย” จัดโดยเครือมติชน ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-3 ก.ค.2565 เวลา 10.00- 20.00 น.