ข้าวโพด-ข้าวสาลี ราคาร่วง 20% สบช่องเลิกอุ้มโรงงานอาหารสัตว์

ข้าวสาลี-ข้าวโพด

ส.ชาวไร่-สภาเกษตรประสานเสียงร้องพาณิชย์เตรียมมาตรการรับมือผลผลิตปี 65/66 ทะลัก 5 ล้านตัน ลุ้นเคาะประกันรายได้สัปดาห์หน้า 11 บาท ชงรัฐปลุกผีตลาด AFET วางระบบแพลตฟอร์มกลางรับซื้อแก้ปัญหาราคา กรมการค้าภายในเบรกมาตรการเว้น 3 ต่อ 1 หมดเดือน ก.ค. บีบโรงงานอาหารสัตว์ไล่ซื้อชาวไร่แทนพร้อมขู่ตรวจสต๊อก

การปลดล็อกให้สามารถส่งสินค้าธัญพืชจากยูเครนผ่านทางทะเลดำเข้าตุรกีได้ ทำให้สถานการณ์ราคาธัญพืชในตลาดโลกล่าสุดที่ลดลงไปกว่า 20% ขณะที่ความกังวลต่อวิกฤตความมั่นคงอาหารเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และส่งผลกระทบต่อราคาธัญพืชโลก ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ ที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตสำคัญ ทำให้ปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการช่วยเหลือโรงงานอาหารสัตว์ ให้ผ่อนปรนการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเพื่อแลกกับการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือ 3 ต่อ 1 เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการผลิต

ล่าสุดมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 และมีการนำเข้าจริงเพียง 1.03 ล้านตัน จากเป้าหมาย 1.20 ล้านตัน จึงได้ยุติโครงการ และเตรียมกำหนดแนวทางดูแลเสถียรภาพราคารอบใหม่

ธัญพืชราคาร่วงยกแผง

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ ที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงตัวแทนเกษตรกรจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าพืชไร่

รวมถึงสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อประเมินสถานการณ์ตามที่ได้หารือไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่าขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดชิคาโกปรับลดลงเหลือ กก.ละ 8.18 บาท จากสัปดาห์ก่อนหน้า กก.ละ 10.47 บาท ขณะที่ราคาข้าวสาลีก็ลดลง เหลือ กก.ละ 10.27 บาท จากสัปดาห์ก่อนหน้า กก.ละ 10.69 บาท ส่วนข้าวบาร์เลย์ลดลงเหลือ กก.ละ 14.39 บาท จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 14.40 บาท

“ราคาในตลาดโลกที่ปรับลดลดลงกว่า 20% เป็นผลจากรัสเซีย-ยูเครนได้ลงนามข้อตกลงส่งออกธัญพืชร่วมกับตุรกีและสหประชาชาติ ผ่านทางทะเลดำ ทำให้การส่งออกธัญพืชจากทั้งสองประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ ผู้ลงทุนต่างคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตอาหาร เพราะยูเครนได้ระบายสต๊อกธัญพืชออกมามากกว่า 20 ล้านตัน”

ส่วนยอดตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 3 ชนิด ในช่วงตั้งแต่ 1 เม.ย.-24 ก.ค. 65 มีปริมาณรวม 1.01 ล้านตัน เป็นการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 735,191 ตัน เป็นการนำเข้าตามกรอบ AFTA 684,191 ตัน และกรอบ WTO อีก 51,679 ตัน การนำเข้าข้าวสาลี 282,790 ตัน ส่วนข้าวบาร์เลย์ไม่มีการนำเข้า

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุมัติการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามมาตรการเว้น 3 ต่อ 1 ไปแล้ว 51, 679 ตัน หรือ 92% ของกรอบที่อนุมัติ 1.2 ล้านตัน ข้าวสาลี 186,622 ตัน หรือ 92% ของกรอบ 1.2 ล้านตัน เมื่อหักลบปริมาณการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปกติ 684,191 ตัน และที่อนุมัติ 56,405 ตัน

รวมทั้งปริมาณข้าวสาลีที่นำเข้าปกติ 96,168 ตัน และปริมาณที่อนุมัติอีก 266,430 ตัน รวม 1.04 ล้านตัน จึงเหลือปริมาณที่สามารถใช้สิทธิได้อีก 153,209 ตัน ซึ่งไม่มีผู้ประกอบการรายใดขอนำเข้าเพิ่ม และไม่มีการแจ้งเลื่อนระยะเวลานำเข้า

จากแผนที่กำหนดสิ้นสุด 31 กรกฎาคม 2565 ส่วนปริมาณการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA เดือนกรกฎาคม 2565 อีก 55,310 ตัน และเดือนสิงหาคม อีก 56,370 ตัน รวม 2 เดือนอีก 111,680 ตัน จึงได้มีมติไม่ต่ออายุมาตรการ 3 ต่อ 1 นับจากวันที่ 1 สิงหาคม 2565

ร้อยเอกจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้กรมการค้าภายในได้พิจารณาให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์กลับมารับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน หรือมาตรการ 3 ต่อ 1 อีกครั้ง นับจากวันที่ 1 สิงหาคม 2565

เนื่องจากการผ่อนมาตรการ 3 ต่อ 1 ได้มีการตกลงกันตั้งแต่แรกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณเป็นการชั่วคราว เมื่อพิจารณาสถานการณ์แล้วพบว่าขณะนี้ผลผลิตข้าวโพดฤดูกาลใหม่ปี 2565/2566 กำลังจะทยอยออกสู่ตลาด จึงต้องกลับไปใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

ผลผลิตน้อย แต่ราคาไม่ขยับ

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ ระบุในที่ประชุมว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดกังวลว่าผลผลิตข้าวโพดรอบใหม่ซึ่งจะทยอยออกมาในเดือนสิงหาคมนี้จะมีราคาลดลง ที่ผ่านมาโรงงานอาหารสัตว์ได้ปรับลดราคารับซื้อเป็นระยะ ๆ ประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยโรงงานหลายแห่งแจ้งว่ามีวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์เพียงพอต่อความต้องความต้องการ จึงไม่สามารถรองรับผลผลิตฤดูกาลใหม่ได้ ซึ่งประธานคณะอนุกรรมการได้ให้มีการตรวจสอบสต๊อก

ขณะที่ นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้สถานการณ์ราคาลดลงมา 3-4 สัปดาห์ ซึ่งจริง ๆ แล้วไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน ผลผลิตไม่พอ

ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่ทว่าราคากลับไม่ได้ปรับสูงขึ้นเท่าที่ควร โดยมีโรงงานอาหารสัตว์บางโรงงานหยุดรับซื้อ โดยให้เหตุผลว่ามีสต๊อกวัตถุดิบเพียงพอ จนทำให้ราคาตลาดลดลงแล้วจึงกลับมารับซื้อ

“ความผิดปกติที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผมได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาแนวทางการรับซื้อข้าวโพด โดยใช้แพลตฟอร์มกลางในระบบออนไลน์แทน เพื่อทำให้ทุกฝ่ายสามารถรับรู้ราคา อาจจะแบบฟิกซ์ราคาเหมือนน้ำตาล โดยเอาปริมาณการใช้อาหารสัตว์เป็นตัวตั้ง

ซึ่งคาดว่าจะมีการตั้งคณะทำงานได้ในสัปดาห์หน้า มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน หากใช้วิธีการนี้ก็จะไม่ต้องใช้ประกันรายได้ หรือประกาศแค่เป็นการชั่วคราวในช่วงที่ราคาตกต่ำ แต่หากจะมีการใช้มาตรการประกันรายได้ปี 4 ส่วนตัวไม่เห็นด้วย

เพราะการที่รัฐประกาศราคาประกันรายได้เท่าไรออกมา เอกชนรู้ราคาก็มารับซื้อจากเกษตรกรในราคาต่ำ เพราะคิดว่าถึงอย่างไรรัฐก็ชดเชยให้อยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ช่วง 3 ปีที่มีการประกันรายได้ ไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาเท่าที่ควร รัฐบาลสูญเสียเม็ดเงินไปเป็นจำนวนมาก”

สำหรับแพลตฟอร์มกลางนั้นจะมีการวางระบบการซื้อขาย โดยใช้การวางหลักประกันการซื้อขาย คล้ายกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว แล้วปรับมาเป็นการซื้อขายล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (TFEX) ซึ่งจะต้องมีการกำหนดสัญญาซื้อขาย 1 สัญญาต่อพ่วง ซึ่งมีน้ำหนัก 32 ตัน การส่งมอบ ราคา และคุณภาพมาตรฐาน

เกษตรกรต้นทุนการผลิตพุ่ง

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมที่ได้มีการหารือถึงประเด็นการคำนวณต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ซึ่งปรับสูงขึ้นมาก จากต้นทุนปัจจัยการผลิต ปุ๋ย สารเคมี การขนส่ง ค่าไฟฟ้า โดยเกษตรกรระบุว่ามีต้นทุนเฉลี่ยกก.ละ 9.42 บาท สวนทางกับต้นทุนเฉลี่ยที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคำนวณไว้ กก.ละ 7.42 บาท

เพราะในรายละเอียดมีความแตกต่างกันทั้งขั้นตอน วิธีการไถ่ และการใส่ปุ๋ยและราคาน้ำมัน ซึ่งสศก.ไม่ได้คำนึงถึง มีการเอาตัวมาหารเป็นค่าเฉลี่ยกันหมด ทำให้ต้นทุนต่ำเกินจริง

“ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก หากจะกำหนดราคาประกันรายได้รอบใหม่ ก็ควรปรับขึ้นจากกก.ละ 8.50 บาท เป็น 11 บาท บวกกำไรให้เกษตรกร 20% จากต้นทุน แม้ว่าโรงงานอาหารจะนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากตลาดโลกที่มีราคาลดต่ำลงมาก แต่เมื่อบวกกับค่าขนส่งแล้ว”

“ต้นทุนการนำเข้าข้าวสาลี ก็ยังสูงถึงกก.ละ 14-16 บาท เทียบแล้วควรซื้อในประเทศมากกว่า และหากการคำนวณราคาออกมาต่ำเกินจริงต่อไปจะส่งผลให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการดูแลใส่ปุ๋ยผลผลิต”

ด้านตัวแทนสมาคมอาหารสัตว์ระบุว่า สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน อาจจะไม่เป็นเช่นที่คณะอนุกรรมการได้รับรายงาน เพราะเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธถล่มท่าเรือยูเครน ซึ่งจะทำให้การส่งออกอาจไม่ราบรื่นอย่างที่คาด ผลผลิตธัญพืชอาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทำให้สถานการณ์ราคาก็ค่อนข้างจะมีความผันผวนมาก ที่ผ่านมาผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้มีการปรับตัวใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งปลายข้าว มันสำปะหลัง จึงทำให้การนำเข้าข้าวสาลีไม่ถึงเป้าหมาย 1.2 ล้านตัน