ครม. เศรษฐกิจเฉพาะกิจ อุ้มค่าน้ำมันเบนซิน ก๊าซหุงต้ม ชดเชยปุ๋ยเกษตรกร

โซฮอล์ เบนซิน ลดสูงสุด 3 บาท/ลิตร มีผล 8 ก.ค. ตี 5

ครม.เศรษฐกิจเฉพาะกิจ เคาะ 4 โครงการ Quick win สินเชื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร-เทคโนโลยี ต่ออายุ “วินเซฟ” ช่วยค่าน้ำมันเบนซินมอ’ไซค์รับจ้าง ผุดตั๋วรายเดือนรถไฟฟ้า-ใต้ดิน รถเมล์ หาเงินชดเชยราคาปุ๋ยเกษตรกร

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องสามารถรองรับวิกฤตทั้ง 4 ประเภทได้

ซึ่งมาตรการปัจจุบันสามารถรองรับมิติด้านต่าง ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญด้านปริมาณ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนการผลิต และอาหาร รัฐบาลให้ความมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนแน่ ส่วนในเรื่องระดับราคา ต้องยอมรับว่ารัฐบาลจะดูแลระดับราคาไม่ให้กระทบประชาชน

โดยรัฐบาลจะเข้าไปช่วยดูแลระดับหนึ่ง เช่น โครงการวินเซฟ ช่วยเหลือค่าน้ำมันเบนซินให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 250 บาทต่อเดือน โครงการลมหายใจเดียวกันเพื่อช่วยเหลือแท็กซี่ โครงการลดภาระค่าไฟฟ้า

รวมถึงช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มสำหรับพ่อค้าและแม่ค้า โดยโครงการจะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม ซึ่งรัฐบาลมอบนโยบายมาแล้วว่าให้ดูแลต่อ แต่จะดูแลต่ออย่างไรขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไป เช่น ราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ดังนั้น มาตรการที่จะออกใหม่จะมีการหารือกันในวงเล็กในกระทรวงพลังงานว่าจะเดินต่ออย่างไร

นายพรชัยกล่าวว่า ในส่วนของด้านต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ปุ๋ยไม่ได้ขาดแคลน แต่ระดับราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากราคาพลังงาน หรือต้นทุนปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงเกษตรฯจะเข้าไปดูแล ขณะที่ภาคการเงินครัวเรือน เช่น หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลง

ซึ่งเมื่อลงลึกเข้าไปดู พบว่าเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับค่าโดยสารเดินทาง ค่าครองชีพบางส่วนยังมีประเด็นสำคัญอยู่ จึงต้องดูว่ามาตรการที่เกี่ยวข้องจะประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น การไกล่เกลี่ยหนี้ พักทรัพย์ พักหนี้ สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และโครงการใหม่ที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้ คือโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดูแลกลุ่มเปราะบาง

“โครงการระยะเร่งด่วน (Quick win) จะออกมาก่อนในเร็ว ๆ นี้ เช่น การปรับเปลี่ยนเพิ่มขอบเขตวัตถุประสงค์และเงื่อนไขการให้สินเชื่อ ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อซอฟต์โลนเพื่อการฟื้นฟูของ ธปท. วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินเหลืออยู่ 7 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งทุน เป็นเม็ดเงินใหม่ให้ผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีดิจิทัล หรือเรียกว่า ทรานส์ฟอร์เมชั่นโลน รวมถึงโครงการวินเซฟ ที่จะสิ้นสุดมาตรการในเดือนกันยายน” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีโครงการบัตรโดยสารเป็นตั๋วเดือน-รายเดือนรถไฟฟ้า รถเมล์ และรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อลดภาระค่าครองชีพจากการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการบริหารจัดการปุ๋ย แม้จะยังไม่ขาดแคลน แต่มีความจำเป็นต้องลดการพึ่งพา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์กล่าวว่า เรื่องปุ๋ยมี 2 เรื่อง 1.ราคาปุ๋ย ได้หารือในที่ประชุมว่า ราคาแก๊สโลกยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง ทำให้ราคาปุ๋ยสูงอยู่ อาจจะต้องหามาตรการชดเชยราคาปุ๋ยและกำกับราคาปุ๋ยไม่ให้มีการค้ากำไรเกินควร สำหรับการชดเชยราคาปุ๋ยขึ้นอยู่กับงบประมาณ เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก

ขณะที่ 2.ปริมาณปุ๋ย ไม่มีปัญหา มีเพียงพอ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เจรจานำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียได้แล้ว 3 แสนตัน จากเป้าหมาย 8 แสนตัน และวันที่ 27-30 สิงหาคมจะนำคณะเอกชนเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อเจรจานำเข้าปุ๋ยในราคาพิเศษเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยขาดแคลนในประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงความร่วมมือการซื้อน้ำมันในราคาพิเศษจากต่างประเทศว่า กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหลายประเทศ เช่น รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) รวมถึงพลังงานสะอาด พลังงานสะอาดคือหัวใจในวันนี้ เพื่อเอามาใช้ในระยะยาว ซึ่งประเทศไทยเป็นลูกค้าที่ดี เช่น พลังงานน้ำ ซื้อมาจาก สปป.ลาว และเราได้ปรับเปลี่ยนการผลิตภายในประเทศจากเดิมการใช้ถ่านหิน

“กลุ่มประเทศเหล่านี้พร้อมจะขายให้ อยู่ที่เราว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ผู้จัดซื้อขณะนี้คือ กระทรวงพลังงาน หรือบริษัท ปตท. เพราะกระทรวงการต่างประเทศไปเจาะตลาดไว้ให้หมดแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องของการซื้อ พร้อมขายให้เรา อยู่ที่เราจะซื้อเมื่อไหร่” นายดอนกล่าว