TU โตสวนกระแสโลก เขย่าพอร์ตรับเศรษฐกิจถดถอย

ปลาทูน่า ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป / TU / Thai Union

กลุ่ม TU ปรับเป้ายอดขายปีนี้เป็น 12% เสริมแกร่งพอร์ตธุรกิจหลัก รับอานิสงส์ “เศรษฐกิจถดถอย” ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ฟิตหุ่นปิดโรงงานส่วนเกิน เคลียร์สต๊อก อุดความเสี่ยงต้นทุนการเงินดอกเบี้ย-ค่าแรง เตรียมเปิด 3 โรงงานใหม่

ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 สู่ปัญหาพลังงานและอาหาร บริษัทผู้ผลิตอาหารสัญชาติไทยรายใหญ่ “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ได้ปรับกระบวนท่าทั้งกลยุทธ์และการบริหารจัดการธุรกิจในเครือทั้งระบบ

ส่งผลให้ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มียอดขายเพิ่มขึ้น 12.3% มูลค่ารวม 75,217 ล้านบาท เฉพาะยอดขายไตรมาส 2/2565 เพิ่มขึ้น 8.5% มีมูลค่ายอดขายรวม 38,946 ล้านบาท

เท่ากับว่า ยอดขายครึ่งปีแรก “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” สามารถสร้างยอดขายได้ทะลุเป้าจากที่วางไว้ 7-8% ภายใต้ 3 ธุรกิจหลักคือ สินค้าอาหารทะเลแปรรูป สัดส่วน 43% อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง สัดส่วน 36% และอาหารสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยงและอื่น ๆ ในสัดส่วน 21% ซึ่งมีตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา 42.4% ยุโรป 26.1% ญี่ปุ่น 5.9% ส่วนการจำหน่ายในประเทศไทยมีประมาณ 10.51% และตลาดอื่น ๆ อีก 15.1%

ธีรพงศ์ จันศิริ
ธีรพงศ์ จันศิริ

ปรับเป้าเพิ่มรายได้เป็น 12%

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับเป้ายอดขายเพิ่มในปีนี้จาก 7-8% เป็น 10-12% ซึ่งเป็นการปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สอง จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 3-5% เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ปัจจัยหลักมาจากภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกที่ทำยอดขายเติบโตได้ 12.3% โดยเฉพาะในไตรมาส 2 โดยสินค้าหลักกลุ่มอาหารทะเลกระป๋องขยายตัว 10.7% ซึ่งเป็น “ดับเบิลดิจิต” และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องได้ ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้ถดถอยอยู่ในภาวะวิกฤต แต่กลายเป็น “โอกาส” ของบริษัท รวมถึงค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ดีที่ช่วยส่งเสริมด้านการส่งออกได้มาก

สำหรับประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศอื่น ๆ ในโลกที่เกิดขึ้น กลับช่วยทำให้ประเทศไทยมีเสน่ห์ที่จะดึงดูดการลงทุนได้ โดยเฉพาะออร์เดอร์ต่าง ๆ ที่ประเทศไทยจะได้โอกาสมากกว่าและมากขึ้น จากการที่กลุ่มทียูได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2539 ทำให้เรามองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นท่ามกลางวิกฤตสงครามการเมืองและเศรษฐกิจโลก

“เราพร้อมรองรับและจับโอกาสเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งเราก็ทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา” นายธีรพงศ์กล่าวและว่า

รับมือปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

“ส่วนเหตุที่มองว่าเศรษฐกิจโลกถดถอยนั้น เป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว และจะเกิดขึ้นนานถึง 12-18 เดือนข้างหน้า เพียงแต่จะถดถอยนานแค่ไหน หรือใช้เวลาฟื้นกลับมาเร็วขนาดไหนเป็นคำถามถัดไปมากกว่า”

อย่างที่สหรัฐอเมริกามีนักวิเคราะห์มองว่า จะถดถอยใน 2 ไตรมาส แต่อเมริกาเป็นประเทศที่แข็งแกร่ง อาจจะกลับมาฟื้นได้เร็วกว่าที่คาด เพราะขณะนี้แรงงานค่อนข้างตึงตัว อัตราการว่างงานยังต่ำอยู่ ตัวนี้เป็นตัวช่วยทำให้เศรษฐกิจกลับมาได้เร็วขึ้น คนไม่ได้มีการตกงานมากอย่างที่เข้าใจ

“ส่วนเรื่องเงินเฟ้อสูงนั้น หลัก ๆ มาจากเรื่องสงคราม ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เรื่องการขนส่งที่มีปัญหามาต่อเนื่อง 2 ปี ส่งผลให้ทุกอย่างแพงขึ้นหมด แต่ถ้าติดตามข้อมูลจะเห็นว่า ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลง เงินเฟ้อลดลงบ้างแล้ว แต่ใจก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก”

ประเด็นเงินเฟ้อที่ทำให้ทั่วโลก “ปรับขึ้นดอกเบี้ย” เพื่อสกัดเงินเฟ้อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจนั้น โครงสร้างเงินกู้ของกลุ่มทียูได้จัดการให้เป็น “เงินกู้ระยะยาว” ในสัดส่วนกว่า 60% เท่ากับ “ล็อกต้นทุน” มาโดยตลอด ทำให้ต้นทุนของกลุ่มทียูค่อนข้างต่ำ ไม่น่าเป็นห่วง

ในแง่ของสภาพคล่องเงินสดค่อนข้างดี เพราะไม่มีการลงทุนใหม่ในโครงการขนาดใหญ่ จะเห็นว่า net debt to equity ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.09 เท่า สูงขึ้นจากการจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 2 และการถือครองสต๊อก (อินเวนทอรี่) ที่ถือไว้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโฟรเซ่น ซึ่งในส่วนนี้จะลดลงตามลำดับในไตรมาส 3-4 เรื่องกระแสเงินสด เราค่อนข้างจัดการได้ดี ตอนนี้เราจับตาเรื่องกระแสเงินสดอยู่แล้ว “ไม่น่าห่วง”

“การที่กระแสเงินสดติดลบในไตรมาส 1-2 มาจากเรื่องของอินเวนทอรี่ที่สูงขึ้น เป็นผลจากโลจิสติกส์ที่ล่าช้าทั่วโลก ทำให้ต้องตุนสต๊อกสูงขึ้นมากกว่าปกติ ตัวเลขสต๊อกจึงสูงขึ้น ประกอบกับตัวเลขตลาดโฟรเซ่นในอเมริกา ความต้องการชะลอตัวลง ทำให้การระบายสินค้าคงคลังช้ากว่าที่คาดไว้ แต่ภายในสิ้นปีนี้จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ บริษัทจึงได้บริหารจัดการโดยชะลอการซื้อเพิ่ม และระบายสินค้าออกมาก่อน ช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลซื้อของลูกค้า ไม่น่าห่วงอะไร ดูที่ N/E ที่ 1.09 เท่า”

คนลดซื้อ “ของแพง”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 2 ขยายตัวสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นั้น ในส่วนสินค้าหลัก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวดีขึ้น ส่วน “อาหารแช่เยือกแข็งภาพรวมลดลง” เฉพาะในส่วนของตลาดอเมริกา เพราะเทียบกับปีก่อนที่ฐานสูง เป็นประวัติการณ์

ส่วนปีนี้ “เศรษฐกิจอ่อนตัว” ทำให้การบริโภคสินค้าที่มีราคาแพงเริ่มชะลอตัวลง ทำให้ต้องแบกรับสต๊อก (carry inventory) ไว้สูง โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาแพงคือ ปูและล็อบสเตอร์ ราคาลงมากในช่วงครึ่งปีแรก

“ในแง่ภาพรวมปีนี้ไม่ได้กังวล เพราะทียูกระจายตัวในธุรกิจที่หลากหลาย เช่น อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสัตว์เลี้ยงไปได้ดีมาก คาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่ไม่เลวทีเดียว อาจจะต่ำกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ครึ่งปีแรกมีรายการพิเศษ 2 รายการ คือ การปิดโรงงาน 1 โรงของรูเกนฟิชที่ประเทศเยอรมนี และการปรับด้อยค่าของพรีเฟอร์ยูนิตของเรดล็อบสเตอร์สหรัฐ ทำให้รายได้ที่เราเคยได้จากยูนิตนี้ลดลงไป

เป็นในแง่ของกฎเกณฑ์ทางด้านบัญชีไม่ได้เป็นเงินสด ซึ่งเรดล็อบสเตอร์ เพิ่งจะมาสะดุดในต้นปีนี้เท่านั้น จากการระบาดของโอมิครอนทำให้เสียจังหวะการทำรายได้ในไตรมาสที่ดีที่สุดไป ช่วงนั้นคนหยุดออกนอกบ้าน ประกอบกับราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ค่าแรงที่สูงขึ้น และอินเฟ็กชั่นที่เข้ามาช่วงไตรมาส 1-2 พร้อมกัน ๆ ทำให้การปรับตัวของเขาไม่ทัน แต่มาถึงไตรมาสนี้ การปรับราคาก็ทันเรียบร้อย ฉะนั้น จากนี้ไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า เราน่าจะเห็นการปรับทิศทางที่ดีขึ้น”

ปรับพอร์ต-ฟิตหุ่นปิดโรงงานส่วนเกิน

นายธีรพงศ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีหลังจะเห็นภาพการปรับพอร์ตธุรกิจของทียู โดยพอร์ตธุรกิจเดิม 3 กลุ่มธุรกิจจะขยายเพิ่มเป็น 4 ธุรกิจคือ 1) อาหารทะเลกระป๋อง 2) อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง และธุรกิจที่เติบโตมากก็คือ อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเดิมอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ 3 อาหารสำเร็จรูปและอื่น ๆ ก็จะแยกออกเป็นกลุ่มที่ 4 เพราะหลังจากผลักดันบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว เชื่อว่าเขาจะเติบโตได้อีก 3-5 ปีในอนาคต เพราะธุรกิจนี้มีรายได้ถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 15,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสูงมาก

ในด้านการปรับกำลังการผลิตโรงงานทั่วโลก โดยการปิดโรงงานที่ทียูเคยได้เข้าไป M&A ไว้ในอดีตแล้วมีกำลังการผลิตส่วนเกินก็ทยอยปิดจะครบแล้ว ล่าสุดโรงงานที่ปิดเป็นของบริษัทรูเก้นฟิช ที่เมืองรูเบ็ค ประเทศเยอรมนี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น โดยจะกระจายออร์เดอร์ของโรงงานดังกล่าวไปยังโรงงานอื่น ๆ 3 แห่งคือ โรงงานในเยอรมณี โปแลนด์ และโปรตุเกส

“การปิดครั้งนี้ทำให้โรงงานรูเก้นฟิชเหลือ 1 โรงงานก็จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในแง่รายได้ไม่มีผลอะไร ออร์เดอร์ก็จะกระจายไปโรงงานอื่น ๆ ในเครือข่าย เป็นแนวทางที่เราทำมาตลอดต่อเนื่องอยู่แล้วคือ อันที่เกินไปเราก็ปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อะไรที่เกินเราก็ตัดออก จะเห็นว่าโรงงานเราค่อย ๆ ปิด เพราะโรงงานพวกนี้เป็นโรงงานที่ติดห้อยมาจากการเข้าลงทุนของเรา เป็นของบริษัทที่เราเข้าซื้อ ฉะนั้น เราก็จะมีการจัดพอร์ต กำลังการผลิตของเราใหม่ ตอนนี้โรงงานที่เป็นสาระสำคัญ เราก็ปิดโรงงานใหญ่ ๆ ไปเกือบหมดแล้ว”

ซึ่งภาพรวมในครึ่งปีแรกเราใช้กำลังการผลิตเพียง 50-60% เท่านั้น ยังมี “เหลือเฟือ” ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เนื่องจากราคาที่มีการปรับตัวสูงขึ้น และวอลุ่มของการบริโภคลดลง ก็ทำให้กำลังการผลิตที่ใช้ไม่ได้เต็มที่ แต่เราก็จะมีกำลังการผลิตรองรับไว้สำหรับอนาคต ถ้าเมื่อไรธุรกิจกลับมาอีกก็พร้อมจะกลับมาเปิด

ทุ่ม 6 พันล้านเพิ่มผลิต

นายธีรพงศ์กล่าวถึงแผนการลงทุนในปีหลังว่า ยังคงดำเนินการตามกรอบงบประมาณที่วางไว้ 6,000 ล้านบาท โดยจะขยายห้องเย็นที่ประเทศกานา ซึ่งเดิมประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าจากโควิด-19 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า และยังมีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิการผลิตภายใน โดยจะยังไม่มีการเข้าซื้อ (acquisition) ธุรกิจอะไรในช่วงนี้

“จะบอกว่าไม่ใช่ช่วงที่เหมาะสมในการ M&A ก็ไม่ได้ แต่ตอนนี้เรายังหาอะไรที่น่าสนใจในการลงทุนไม่ได้ และมุมมองการลงทุนของเราก็เปลี่ยนไป เราเน้นธุรกิจที่มีอัตรากำไรที่สูง เราจึงค่อนข้างพิถีพิถันในการเลือกที่จะลงทุนมากขึ้น ก็จะเห็นว่าเราพยายามไปลงทุน RBF เราพยายามที่จะช่วยเขาไปอินเดีย ก็พยายามจะผลักดันส่วนนี้ให้มากขึ้น แต่เราไม่ปิดทาง M&A แต่ก็ถือว่าน้อยมาก”

อีกทั้งขณะนี้ทียูแยกสปินออฟบริษัทลูกออกไปทั้งกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงโดยไอเทล และอาหารสัตว์น้ำโดยไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีแผนการลงทุนของตนเอง โดยมีแนวโน้มที่ไอเทลจะเพิ่มการลงทุน แต่ทั้งนี้ งบฯลงทุนของบริษัทแต่ละปีก็ยังอยู่ในกรอบใหญ่ที่ทียูวางไว้ อย่างไอเทลเรายังถือหุ้น 80% แต่ตอนนี้โรงงานเข้าจะเสร็จสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเขาเพิ่มขึ้นอีก 30-40%”

และยังมีโรงงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในไทย 3 โรงงานที่จะเสร็จในสิ้นปีนี้คือ โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานคอลลาเจนหนังปลาทูน่า และโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง จากนั้นจะสามารถดำเนินการได้ในปีหน้า โดยในส่วนของโรงงานโปรตีนไฮโดรไลเสตคอลลาเจนถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “อินกรีเดียนต์” เป็นส่วนธุรกิจอาหารสำเร็จรูปและอื่น ๆ หลังจากโรงงานเสร็จมีแผนการทำการตลาดส่งออก 100% มุ่งกลุ่มลูกค้า B2B โดยสามารถใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริม อาหารเด็กทารก เครื่องสำอางในส่วนคอลลาเจน โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2566

ไม่ปรับราคา แม้ต้นทุนพุ่ง

นายธีรพงศ์ย้ำว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง “ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า” เพราะต้นทุนราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลง ค่าขนส่งก็ชะลอตัว ถึงแม้ว่าไทยจะมีการปรับค่าแรงขึ้น 8-10% ก็เป็นอัตราที่เราคาดการณ์ไว้ จึงรับได้เพราะถือว่าเหมาะสมเมื่อเทียบกับการไม่ได้ปรับมาหลายปี ซึ่งเมื่อคำนวณสัดส่วนต้นทุนค่าแรงงานในโรงงานประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วน 10% ของต้นทุนของเรา ซึ่งเราจัดการได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานการพัฒนาระบบอัตโนมัติในโรงงานในส่วนงานที่ทดแทนด้วยเครื่องจักรได้ ประเด็นนี้จึงไม่ห่วง และที่สำคัญเราจ้างแพงกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว

แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องปรับตามพื้นฐานการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ เทรนด์การปรับขึ้นค่าแรงงานทั่วโลกต้องปรับหมดไม่ใช่เฉพาะไทย ที่เราไปลงทุนไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา อเมริกา ที่ไหนก็ต้องปรับ เพราะเงินเฟ้อกระทบทั้งโลก แต่เราจะได้เปรียบกว่าเขาเพราะเราเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าที่อื่น

และประเด็นต้นทุนราคาวัตถุดิบปลาทูน่าปีนี้ ค่าเฉลี่ย 1,600-1,650 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงมาจากก่อนหน้านี้ที่เคยไปถึง 1,800 เหรียญสหรัฐต่อตัน และสามารถจัดการได้ ส่วนการปรับค่าขนส่งทางเรือซึ่งถือเป็นวิกฤตที่หนักกว่า แต่เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกทั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นกัน