ปศุสัตว์ตีปี๊บไทยปลอดโรค ASF ขานรับเลี้ยงหมูเพิ่มล้านตัว

หมู

กรมปศุสัตว์เผยยอดติดเชื้ออหิวาต์หมู ASF เป็นศูนย์หลังผ่านมา 9 เดือน สั่งฆ่าหมูไปเกือบ 2,000 ตัว พร้อมเข้าสู่โหมดเร่งฟื้นฟูรายย่อย ด้าน CPF ฉวยจังหวะปลอดโรค ทุ่มเงินช่วยเหลือเกษตรกรฟื้นฟาร์มเลี้ยงเพิ่มอีก 1 ล้านตัว

นายสัตวแพทย์สรวิช ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศไทยว่า ล่าสุดได้กลายเป็นศูนย์ไปแล้วนับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 9 เดือน สาเหตุที่ไม่พบการระบาดของโรค ASF อีกเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมกัน ทำให้สามารถจำกัดและแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อได้

สรวิช ธานีโต
สรวิช ธานีโต

ประกอบกับมีการตัดวงจรการระบาดของโรคทำได้เร็วเป็นเพราะสำนักงบประมาณได้มีการจัดสรรงบประมาณปี’66 จำนวน 250 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ “ชดเชย” ให้กับเกษตรกรที่ต้องทำลายหมูเพื่อตัดการระบาดของโรค ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

และในระหว่างนี้ กรมปศุสัตว์โดยกองวัคซีนร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น มหิดล, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรค ASF และทำการทดลองในสัตว์ ส่วนสาเหตุที่การวิจัยยังเป็นไปได้ช้าเพราะนับจากที่มีการระบาด ASF ผ่านมา 101 ปี ไม่เคยมีประเทศใดในโลกที่วิจัยและวัคซีนได้รับการรับรองจากองค์การโรคระบาดสัตว์ (OIE) ส่งผลให้การวิจัยจะปราศจากงานวิจัยอ้างอิง (Reference) ดังนั้นจึงต้องใช้ระยะเวลาในการทดลองอย่างละเอียดหลายรอบ “แต่เราจะพยายามให้สำเร็จโดยเร็ว”

ทั้งนี้ ยอดสะสมการพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู หรือโรค ASF ในช่วง 9 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2564-4 ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ไม่พบเชื้อนั้น ปรากฏมีจำนวนฟาร์มที่พบโรคสะสม 118 ราย มีการสั่งทำลายหมูไปแล้ว 73 ราย คิดเป็นจำนวนสุกรทั้งหมด 1,956 ตัว ส่วนผลการดำเนินงานในพื้นที่ Sand box ที่ผ่านมามีดังต่อไปนี้

เขต 5 ได้ประกาศกำหนดเขตพื้นที่พิเศษในราชกิจจานุเบกษาและกรมปศุสัตว์ได้อนุมัติแนวทางในการดำเนินงานในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมโอนงบประมาณในการดำเนินงานปี 2565 จำนวน 1,325,585 บาท ส่วนราชบุรี Sand box ได้รับงบประมาณจากสำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จำนวน 10,070,720 บาท เพื่อสำรวจจำนวนหมูทั้งจังหวัด ศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ASF-FMD และกำหนดพื้นที่นำร่องในการทำระบบ Compartment ใน 2 ตำบลของ อ.ปากท่อ

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในภาพรวมขณะนี้ได้ลดลงไปแล้ว ในหลายประเทศก็ไม่มีการระบาดใหม่ ทั้งจีน-เวียดนามและไทย

ดังนั้น CPF ได้คาดการณ์ตลาดหมูจะฟื้นในไตรมาส 3/2565 ส่งผลให้บริษัทเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูให้ทยอยฟื้นฟูการเลี้ยงขึ้นมาใหม่ คาดว่าปริมาณการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านตัว จากความต้องการตลาดหมู 18-19 ล้านตัว แต่หลายฝ่ายก็กังวลกันว่า ปัญหาการทะลักเข้ามาของหมูเถื่อนจะนำพาโรคระบาด ASF กลับเข้ามาอีก และจะส่งผลกระทบต่อราคาตลาดหมูในประเทศด้วย

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ

“คำถามก็คือ หมูเถื่อนมาแบบไม่มีใครตรวจสอบ ค่อนข้างจะอันตราย ตอนนี้จึงกลัวกันว่า การเลี้ยงหมูเราไม่ได้ทำเอง แต่เรามีพันธมิตรมาก ถ้ามีโรคเข้ามาและแพร่ระบาดอีกครั้งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมหมู จะส่งออกยาก เพราะต้องใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่า จะอนุมัติให้ส่งออกได้ ส่วนราคาหมูตกก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ราคาไม่ใช่เรื่องหลักสำหรับเรา เรากลัวโรคระบาดปะปนเข้ามาจากหมูเถื่อนมากกว่า การที่เราเข้าไปช่วยเกษตรกรฟื้นฟูเพิ่มปริมาณการเลี้ยงหมูมากขึ้นอีก 1 ล้านตัว ตอนนี้เริ่มมีซัพพลายออกมาแล้ว แต่กระแสเรื่องหมูเถื่อนแรงขึ้นก็อาจจะส่งผลต่อราคาเนื้อหมู ทำให้มี 2 ราคา เราต้องทำให้ลงหรือสเตเบิล ซึ่งทางเอกชนต้องทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์มากขึ้น เพื่อช่วยให้มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบค้าและนำเข้าหมูเถื่อนให้มากขึ้น” นายประสิทธิ์กล่าว

สำหรับในส่วนของ CPF ได้วางแผนการลงทุนไว้ที่ 25,000 ล้านบาท แต่ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เราใช้งบประมาณลงทุนไปได้เพียง 15,000-16,000 ล้านบาท ซึ่งหัวใจหลักของการลงทุนปีนี้ก็คือ ขยายการลงทุนธุรกิจฟาร์มหมูในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันฐานผลิตหมูของ CPF ในจีนมีจำนวน 8.5 ล้านตัว เวียดนาม 7 ล้านตัว และไทยอีก 6 ล้านตัว

“ไตรมาส 3 ต้นทุนไม่เพิ่มขึ้น ตลาดจะเริ่มฟื้นและดีต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4/2565 ผลประกอบการไตรมาส 3-4 น่าจะดีขึ้น โรค ASF ที่จีนและเวียดนามหมดไปแล้ว คนที่อยู่รอดได้ก็คือ คนที่รู้จักทำความสะอาดบ้าน ไม่ให้มีเชื้อโรค โดย ASF เป็นโรคหมูที่คล้ายโควิด-19 เป็นไวรัสอย่างหนึ่ง พอดูแลบ้านตัวเองสะอาด เชื้อเองอาจจะไม่ได้กำจัดก็จะหมดไป” นายประสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งผลพวงจากปัญหาการขาดแคลนซัพพลายหมูจากโรค ASF ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้ช่วยผลักดันให้สินค้าโปรตีนทดแทนอื่น ๆ เติบโตขึ้น โดยเฉพาะ “ไก่” ซึ่งล่าสุดยอดสะสมเพิ่มขึ้น 20% เป็นผลมาจากตลาดไก่ในประเทศฟื้นตัว ในเรื่องนี้ CPF ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการปรับสัดส่วนการขายไก่สดในประเทศมากขึ้น ส่วนตลาดส่งออกหันไปเพิ่มสัดส่วนไก่ที่มีการเพิ่มมูลค่า เพื่อให้คัฟเวอร์กับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องขายสินค้าที่มีราคาไปมากกว่า โดยตลาดส่งออกหลักยังคงเป็นสหภาพยุโรป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีนี้ตลาดยูเครนและซาอุดีอาระเบียกำลังมาแรง

นอกจากนี้ “กุ้ง” ก็เป็นสินค้าโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่ไทยต้องเร่งฟื้นฟูการเลี้ยง หลังจากผ่านพ้นการระบาดของโรคตายด่วน (EMS) มาแล้ว 10 ปี ปรากฏไทยสามารถกลับมาเลี้ยงกุ้งได้เพียง 300,000 ตันเท่านั้น จากที่เคยเป็นเบอร์ 1 ของโลก เลี้ยงได้ 600,000 ตัน สาเหตุที่กุ้งฟื้นตัวช้าเป็นผลจากความไม่มั่นใจของเกษตรกร ดังนั้นบริษัทจะเข้าไปหารือกับ กรมประมง เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจต่อเกษตรกรว่า กุ้งยังมีตลาด ไปช่วยดูแลเจเนติก อาหารให้สัตว์กิน คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง และคนดูแลฟาร์ม

“ตอนนี้สินค้ากุ้งประเทศไทยได้รับการรับรู้ว่าเป็นกุ้งพรีเมี่ยม ไซซ์ที่ขายดีคือกุ้งตัวใหญ่ 20 ตัว/กก. ฉะนั้นคิดว่าถ้าช่วยกันกับรัฐบาลให้ผลักดันฟาร์มที่เคยเลี้ยงกุ้งและมีบ่ออยู่แล้ว หันมาเลี้ยงกุ้งไซซ์ 20 ตัว/กก. ก็จะกลายเป็นสินค้าที่มีเฉพาะประเทศไทย ส่วนการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ (เพื่อทดแทนวัตถุดิบกุ้งในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้) นั้น ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะเป็นกุ้งคนละไซซ์กัน กรมประมงอนุญาตให้นำเข้าไซซ์กลาง แต่ประเทศไทยสามารถเลี้ยงกุ้งไซซ์ใหญ่ได้ ในขณะที่คู่แข่งเลี้ยงไม่ได้” นายประสิทธิ์กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวของวงการผู้เลี้ยงหมูที่มีต่อการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่เป็นไปอย่างเอิกเกริกและครึกโครมอยู่ในขณะนี้ ปรากฏสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะจัดแถลงข่าวในวันที่ 30 สิงหาคมนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยและรายกลางกำลังลง “ลูกหมู” เข้าขุมใหม่กว่า 1 ล้านตัว ในไตรมาสที่ 4/2565