หมูเถื่อนเกลื่อนเมืองแก้ไม่จบ “ซีพีเอฟ” หวั่นโรค ASF เข้าไทย

หมู-ออนไลน์

ปัญหาลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนยังไม่ลดลง แห่ขายกันตามหน้าเว็บออนไลน์ในราคาแค่ กก.ละ 135-145 บาท “ขาใหญ่” ส่งสัญญาณขอชะลอการลักลอบนำเข้าเอง หลังนำเข้ามาจนล้นห้องเย็นขายไม่ทัน ด้านกรมศุลกากรยืนยันไม่มีสำแดงเท็จ 8 เดือนจับได้ 8 คดี ส่วนยักษ์ใหญ่ “CPF-เบทาโกร” ห่วงนำโรค ASF เข้าประเทศ

หลังจากที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ลงข่าวต่อเนื่องทั้งในออนไลน์ และในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18-วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2565 ลงข่าว “หมูเถื่อนทะลัก 135 บาท/กก. ร้านอาหาร-หมูกระทะแห่ซื้อ” และฉบับวันจันทร์ที่ 22-วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2565 “จี้รัฐจัดการต้นทางหมูเถื่อน เปิดขาย ‘ทั้งตัว’” ไปแล้วนั้นปรากฏ สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ในท้องตลาดยังคงมีการเปิดขายหมูเถื่อนกันเป็นปกติ

หมูเถื่อนยังระบาดหนัก

รายงานข่าวจากวงการสุกรเข้ามาว่า ขณะนี้ได้มีการส่ง “สัญญาณ” ให้มีการ “ชะลอ” การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อกันว่ามีการลักลอบนำเข้าเป็นจำนวนหลายร้อยตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน โดยการส่งสัญญาณดังกล่าวเป็นผลมาจาก

  • 1) หมูเถื่อนมีการขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับตากระบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน
  • 2) มีการขายผ่านทางออนไลน์อย่างแพร่หลายแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย
  • 3) ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา มีปริมาณหมูเถื่อนลักลอบนำเข้าสูงผิดปกติ ส่งผลให้หมูเถื่อนที่นำไปฝากเก็บไว้ในห้องเย็น “ล้นทะลัก” รอการกระจายออกไปทั่วประเทศ

“จนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเข้าไปทลายขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน หน่วยงานรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่างก็โยนกันไปโยนกันมา ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่า หมูเถื่อนลักลอบนำเข้าจะต้องมีปริมาณมหาศาลหรือมากกว่าการออกข่าวว่า จับได้แล้วเป็นแสน กก. เพราะไม่เช่นนั้นหมูเถื่อนจะมากดราคาหมูภายในประเทศที่ขาดแคลนจากการระบาดของโรค ASF ไม่ให้พุ่งเกินไปกว่า กก.ละ 300 บาทได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์ มี นายหน้า หรือ โบรกเกอร์ นำหมูเถื่อนออกไปเร่ขายให้ฝ่ายจัดซื้อของบริษัทที่ใช้หมูเป็นจำนวนมาก รวมไปถึง ช็อปขายหมูขนาดใหญ่ด้วย โดยเสนอราคาถูกกว่าเขียงตลาดสดอยู่ที่ 160-180 บาท/กก. ขณะที่เขียงหมูตามตลาดสดที่รับหมูจากฟาร์มในประเทศมาเชือดราคาจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทเศษ/กก.” แหล่งข่าวกล่าว

ล่าสุดได้สอบถามไปยังฟาร์มหมูขนาดใหญ่ครบวงจรในต่างจังหวัดที่มีช็อปขายหมูของตัวเองปรากฏ ยอดขายหมูของฟาร์มเหล่านี้ได้ลดลงกว่า 30% เนื่องจากลูกค้าร้านหมูกระทะและร้านขายอาหารที่มีแฟรนไชส์ที่เคยเป็นลูกค้าประจำส่วนใหญ่ได้หันไปซื้อหมูเถื่อนที่มีราคาถูกกว่า แถมยังมีการหั่นสไลซ์บริการใส่กล่องโฟมส่งขายด่วนทั่วประเทศด้วย

8 เดือนจับหมูเถื่อนได้แค่ 8 คดี

ด้านแหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ขณะนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ (นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต) สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน โดยให้ดำเนินการตรวจสอบ 2 ส่วน คือ การสุ่มตรวจสอบห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ กับการตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสและมีหลักฐานมากพอที่จะขอ “หมายศาล” เพื่อเข้าตรวจสอบ

โดยมีหน่วยงานกรมปศุสัตว์ 58 หน่วยทั่วประเทศ ซึ่งมี “สารวัตรตรวจสอบ” เป็นหัวหน้าคณะ และหากเคสใดเป็นเคสที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น มีพื้นที่ติดต่อพรมแดนกับ 5 จังหวัด (หนองคาย-มุกดาหาร-นครพนม-อุบลราชธานี -สุรินทร์) ก็จะมีการใช้ “ชุดเฉพาะกิจ” เข้าไปเสริมเพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องความโปร่งใสและให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์

“ส่วนที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการผู้เลี้ยงหมูว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังทำให้กระบวนการตรวจสอบล่าช้านั้น ขอยืนยันว่า ไม่มี เพราะอธิบดีกรมปศุสัตว์กำชับเรื่องนี้มาอย่างเข้มงวดมาก แต่กระบวนการตรวจสอบโดยเฉพาะแบบที่ได้รับการแจ้งเบาะแสมานั้น จะมีขั้นตอนและต้องใช้เวลาและจำเป็นต้องจัดแบ่งทีมเจ้าหน้าที่ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานอื่น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปร่วมด้วย เพราะบางจุดมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ 2-5 คนเท่านั้น การเข้าไปเพียงลำพังก็จะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ด้วย ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม

ทั้งนี้ เจ้าของคลังอาจจะไม่ใช่ผู้กระทำผิด เพราะเป็นผู้รับจ้างฝากเก็บ ดังนั้นเมื่อตรวจสอบพบเหตุผิดปกติก็ต้องตรวจสอบต่อไปว่า คลังนั้นรับฝากเก็บจากใคร มีเอกสารตรวจสอบความปลอดภัยสินค้าถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบ ส่วนซากหมูที่ไม่มีใบรับรองด้านความปลอดภัยจะทำลายทิ้งด้วยการเผาหรือฝัง หากมีปริมาณมาก ๆ”

สำหรับผลการตรวจสอบล่าสุด เดือน ม.ค.-18 ส.ค. 2565 ปรากฏ มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดไปแล้ว 8 คดี จับกุมและยึดซากสุกรรวม 108,734 กก. มูลค่า 20.5 ล้านบาท ส่วนผลการตรวจสอบ 2562-2565 รวม 15 คดี ยึดซากสุกรของกลาง 112,279 กก. มูลค่า 21 ล้านบาท โดยมีการตรวจสอบตามพื้นที่ตะเข็บชายแดนและท่าอากาศยาน 1,172 ครั้ง ยึดซากสุกร 92,116 กิโลกรัม มูลค่าของกลาง 54.7 ล้านบาท

กรมศุลฯปัดไม่มีสำแดงเท็จ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมมีนโยบายในการเฝ้าระวังและเข้มงวดตรวจสอบสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาอยู่แล้ว โดยเฉพาะของใช้เพื่อการบริโภค อย่างการนำเข้า “หมู” ยิ่งต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดอหิวาต์หมู ASF ในขณะนี้ จากปกติที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกหมู “ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้นำเข้า”

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีการระบาดของโรค ASF ทำให้ซัพพลายหมูในประเทศหายไป กรมเองก็ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ล่าสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมตรวจพบการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเพียงเดือนเดียวถึง 2 ครั้ง รวมปริมาณหมูกว่า 5 ตัน โดยตรวจจับได้ที่ด่านศุลกากรหนองคาย

“ตามปกติในแต่ละปี เราจะตรวจพบการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น แต่นี่เฉพาะเดือนกรกฎาคมเพียงเดือนเดียวตรวจพบกว่า 2 เคส ซึ่งเป็นสัญญาณให้ต้องเฝ้าระวังและเข้มงวดในการตรวจสอบเพิ่มมากกว่าเดิม เนื่องจากราคาหมูในประเทศอยู่ในระดับที่น่ากระทำผิดกฎหมาย และกรมศุลกากรได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในการเข้มงวดตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะหน้าด่านศุลกากรมีการตั้งด่านตรวจจับพืชและจับสัตว์ เรามีการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว” นายพชรกล่าว

ส่วนที่มีรายงานข่าวว่า เกิดกระบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนด้วยการสำแดงเท็จนั้น “ผมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องจริง” เนื่องจากตู้ขนเนื้อนำเข้าต้องเป็นตู้เย็น การนำตู้เข้ามา กรมศุลกากรสามารถทราบได้อยู่แล้วว่าของเหล่านั้นเป็นของใช้บริโภคล้วน ดังนั้นด่านจับพืชและจับสัตว์ก็จะร่วมกันตรวจสอบ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการสำแดงเท็จ

ห่วง ASF ติดหมูเถื่อนระบาดในประเทศ

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวถึงการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศไทย จนทำให้มีหมูเถื่อนขายเกลื่อนทั่วเมืองขณะนี้ และยังมีราคาขายที่ถูกมาก ถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งเพราะนอกจากปริมาณหมูที่เพิ่มมากขึ้น และเข้ามาแทนที่การซื้อขายในราคาที่ถูกแล้ว สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งก็คือ การนำเชื้อโรคเข้ามาด้วย เพราะประเทศไทยอยู่ตรงกลางของกลุ่มประเทศอาเซียน เรียกได้ว่าเป็นฮับของโลจิสติกส์ จึงทำให้นำสินค้าต่าง ๆ ลักลอบผ่านเข้ามาได้ง่าย

“ถ้าเราไม่ป้องกันประเทศให้ดี เชื้อโรคอาจจะเข้ามาทุกทิศทาง ยกตัวอย่าง ประเทศออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ มีการติดป้ายประกาศชัดเจนว่า ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าประเทศ ไม่ว่าจะแปรรูปแล้วก็ตาม เพราะเขาทราบดีว่า การกำจัดเชื้อโรคเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ประเทศไทยเราเป็นประเทศเปิด จึงง่ายต่อการลักลอบนำเข้ามา อย่าลืมว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเองก็เพิ่งบาดเจ็บจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่มาจากยุโรป แค่โรคนี้โรคเดียวก็ถือว่าแย่แล้ว เพราะรัฐบาลต้องหางบประมาณมาเยียวยาเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้กลับมาเลี้ยงหมูใหม่ เท่าที่ทราบตอนนี้เริ่มกลับมาเลี้ยงหมูประมาณ 1 ล้านตัวแล้ว เรามีบทเรียนเรื่องนี้มาตลอดว่าจะสร้างความเสียหายขนาดไหน”

ส่วนผลกระทบจากการลักลอบขายหมูเถื่อนราคาถูก ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเนื้อหมู หรือแม้แต่ CPF เองก็ตาม เนื่องจาก CPF มีฟาร์มเลี้ยงหมูในระบบประมาณ 10-20% ส่วนที่เหลือเป็นหมูของเกษตรกรเครือข่าย คิดว่าตอนนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบมาก เรื่องการค้าขายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่กังวลมากกว่าคือ การนำเชื้อโรคเข้ามาในไทย เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่ต้นตอมาจากยุโรปและการเข้ามาของหมูเถื่อนส่วนใหญ่มาจากยุโรปด้วย “ผมคิดว่าถ้าหากหมูเถื่อนติดเชื้อโรคเข้ามาด้วยจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลมากกว่า” นายประสิทธิ์กล่าว

ส่วนนายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เบทาโกรมุ่งเน้นมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มากกว่าและความปลอดภัยที่สูงกว่าในราคาที่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเฝ้าระวังและยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับสูงสุด ทั้งของบริษัทและของคู่ค้าอย่างเข้มงวด

ที่ผ่านมา “เบทาโกร” ได้ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างมั่นคงทางด้านอาหาร (food security) เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศไทย “อยากฝากให้ภาครัฐดูแลผู้ประกอบการในธุรกิจหมูให้สามารถกลับมาฟื้นฟูการผลิตได้รวดเร็ว โดยรัฐบาลควรมีแนวทางในการป้องกันและจัดการปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมายให้เป็นรูปธรรมด้วย”