จี้รัฐจัดการต้นทางหมูเถื่อน เปิดขาย “ทั้งตัว” ผ่านโซเชียล

หมู-ออนไลน์

หมูเถื่อนทะลักขายออนไลน์เสี่ยงผิดกฎหมาย เนื้อแดง กก.ละ 135 บาท สามชั้น 150-155 บาท เครื่องในขายถูกแสนถูก ฟาร์มหมูในประเทศตั้งข้อสังเกตช่องทางขายผิดปกติ สะเทือนคนเลี้ยงถูกกฎหมาย เผยปริมาณลักลอบนำเข้ามหาศาล กระจายทั่วประเทศ หวั่นเป็นตัวแพร่โรคระบาด ASF จี้รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหา ก่อนอุตสาหกรรมหมูแสนล้านจะล้มทั้งระบบ

หลังจากที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18-วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2564 เปิดประเด็นข่าว “หมูเถื่อนทะลัก 135 บาท/กก. ร้านอาหาร-หมูกระทะแห่ซื้อ” ไปแล้วนั้น ล่าสุดแหล่งข่าวในวงการสุกรกล่าวว่า ขณะนี้พบในโลกโซเชียลทั้งเฟซบุ๊กและไลน์มีการลงประกาศขาย หมูเนื้อแดง หมูสามชั้น และชิ้นส่วนเครื่องในหมูทุกประเภทกันอย่างเอิกเกริก

ถือเป็นการ “เย้ยกฎหมาย” โดยผู้ลงขายมีจำนวนเป็นร้อย ๆ ราย ต่างเสนอขายหมูในราคาที่ถูกอย่างผิดปกติ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีปริมาณการซื้อขั้นต่ำ 5-10 กก. แต่บางรายไม่กำหนดปริมาณขั้นต่ำในการซื้อ ส่วนการส่งเนื้อหมูจะใส่ลังโฟมส่งทั่วประเทศไทย ที่สำคัญบางเพจถึงกับกล้าตั้งชื่อว่า “เพจหมูเถื่อน” มีทั้งขายเป็นชิ้น หั่นสไลซ์ให้พร้อมจำหน่ายให้กับร้านหมูกระทะที่ต้องการเนื้อหมูเป็นปริมาณมาก

ยกตัวอย่าง ราคาเฉลี่ยหมูเนื้อแดง ประกาศขายกัน 135-145 บาทบาท/กก., สามชั้น 150-155 บาท, เครื่องใน เช่น ตับ หัวใจ ขายกัน 85 บาท/กก., ไส้ตัน 115 บาทต่อ กก., กระเพาะ 75 บาทต่อ กก. โดยมีบริการใส่ลังโฟมส่งให้ทั่วประเทศไทย ไม่มีกำหนดปริมาณขั้นต่ำ

ทำให้หลายคนในวงการสงสัยกันมากว่า หมูเนื้อแดงและชิ้นส่วนเครื่องในเหล่านี้มาจากโรงเชือดแห่งใดในประเทศไทย ถึงได้มีต้นทุนในการขายที่ต่ำมาก ๆ “ไม่รู้ทำได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่หมูเถื่อน” หากเทียบราคาขายตามเขียงขายปลีกทั่วไป ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยจะต้องอยู่ที่ 190-200 บาทต่อ กก., หมูสามชั้นเฉลี่ย 205-230 บาทต่อ กก.ขึ้นไป และตับหมู 150 บาทต่อ กก. เป็นต้น

“การขายหมูเถื่อนที่นำเข้ามาในราคาถูก เพราะต้นทุนในการเลี้ยงต่อหน่วยต่ำมาก ประกอบกับมีการเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมาก ต้นทุนหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของต่างประเทศเฉลี่ยประมาณ 40-50 บาทต่อ กก. ยิ่งเครื่องในฝรั่งไม่กิน แทบจะเรียกว่าเป็นส่วนเกินที่ทิ้งแล้ว คนนำเข้าจะจ่ายเพียงค่าขนส่ง เปรียบเทียบกับเกษตรกรไทย ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ 93-98 บาทต่อ กก.

ตอนนี้เกษตรกรขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์ม 104-110 บาท/กก. หมูขุนน้ำหนัก 100 กก. ตกราคาประมาณ 10,400-11,000 บาทต่อตัว เมื่อนำเข้าโรงเชือดจะมีค่าดำเนินการ หลังจากนั้นเขียงจะไปตัดแต่งแยกส่วนต่าง ๆ ออกมาจะมีต้นทุนต่าง ๆ จะตกประมาณ 200-210 บาทต่อ กก. ซึ่งในหมู 1 ตัว มีเนื้อแดงเพียง 50-55% ที่เหลือเป็นเครื่องใน ดังนั้นคนเลี้ยงหมูในประเทศจึงได้ส่วนต่างต่อตัวน้อยมาก” แหล่งข่าวกล่าว

จี้รัฐเร่งจัดการหมูเถื่อน

ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนหมูจากต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาขายภายในประเทศไทย “ในราคาที่ถูกมาก ๆ” มีทั้งปะปนขายในช็อปต่าง ๆ และการขายในโลกออนไลน์

ส่งผลกระทบต่อฟาร์มผู้เลี้ยงสุกรในประเทศที่ล่มสลายจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร หรือ ASF มาแล้วรอบหนึ่ง และกำลังจะปรับปรุงเพื่อฟื้นกลับมาเลี้ยงหมูใหม่ กลับต้องมาเผชิญกับการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนอีก “จะทำให้ผู้เลี้ยงตาย”

หวั่น ASF ระบาดใหม่

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการในการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อนจากต่างประเทศที่เป็นชิ้นส่วนของหมูเข้ามาภายในประเทศอย่างจริงจัง

“ที่ประกาศขายหมูเถื่อนกันเกลื่อนโซเชียล แท้ที่จริงแล้วมันเป็นปลายเหตุไปตามจับยาก เหมือนกับไปจับยาบ้า 1 เม็ดไปจับทำไม ต้องไปจับคนนำเข้าหมูเถื่อนเป็น 100 ตู้ อยู่ตรงไหน เป็นใคร ต้องไปจับที่ต้นเหตุ ปัญหาเกิดจากอะไร มาได้อย่างไร” นายนิพัฒน์กล่าว

ส่วนผลกระทบที่ผู้เลี้ยงหมูกลัวจากหมูเถื่อนที่ลักลอบเข้ามา คือ 1) เชื้อโรค ASF จะกลับมาระบาดหนักในไทยอีกครั้ง จากที่ผ่านมาหมูในประเทศไทยเสียหายจากโรค ASF ไปกว่า 50% ทำให้เชื้อไวรัสลดลงไป แต่การนำเข้าหมูจากต่างแดน หากมีเชื้อ ASF ปะปนเข้ามา เท่ากับมาเพิ่มปริมาณไวรัส เติมเชื้อให้หมูในเมืองไทยอีก

เท่าที่ทราบตอนนี้ทั้งยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ฝั่งอเมริกาบางประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านของไทย ต่างเกิดการระบาดของโรค ASF อยู่

2) การเลี้ยงหมูในต่างประเทศยังคงใช้สารเร่งเนื้อแดง ในกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์ (Beta-agonist) เช่น แรคโตพามีน (Ractopamine) อยู่ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำไม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คัดค้านการนำเข้าชิ้นส่วนหมูจากต่างประเทศมาโดยตลอด ก็เพราะ “สารเร่งเนื้อแดง” นี่เอง

“พ่อค้าที่จับหมูมีชีวิตจากฟาร์มไปขายราคา 108-110 บาทต่อ กก. ทำไปก็ขายขาดทุนเพราะไปเจอพวกที่เอาหมูเถื่อนถูก ๆ ไม่มีคุณภาพ นำเข้าจากต่างประเทศต้นทุนถูกกว่ามาขายโดยผิดกฎหมาย เท่ากับมากระทืบซ้ำ เมื่อเขียงหมูเจ๊ง ขายไม่ออก ก็ไม่มีเงินมาจ่าย วันนี้ฟาร์มหมูโดนโกงเยอะมาก สุดท้ายระบบมันจะล่มสลาย ตายกันหมด”

จี้รัฐจัดการก่อนล่มทั้งระบบ

นายนิพัฒน์กล่าวต่อไปว่า หลายคนคิดว่าการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจะเข้ามาทดแทนหมูตายจากโรค ASF กว่า 50% ทำให้ราคาหมูในประเทศไทยจะได้ไม่สูง แต่ในความเป็นจริงเมื่อพิจารณาดีมานด์-ซัพพลายในตลาดมีความเหลื่อมล้ำกันไม่มาก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี นักท่องเที่ยวลด ดังนั้นคนกินหมูจึงลดลงตามไปด้วย

สาเหตุที่เนื้อหมูยังมีราคาสูงขึ้น คนเลี้ยงหมูขึ้นราคาด้วยเหตุผล ไม่ได้ขึ้นด้วยต้นทุนโดยภาพรวม เพราะ 1) หมูเสียหายจากโรค ASF และล้มตาย 2) ต้นทุนวัตถุดิบที่ขึ้นมา 4-5 บาทต่อ กก. ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อหมู 1 ตัว เพราะฉะนั้น ต้นทุนต่อกิโลกรัมจึงสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น

3) ยา เวชภัณฑ์สัตว์แพงขึ้น 4) ต้นทุนค่าพลังงานสูงขึ้น 5) ค่าแรงปรับสูงขึ้น 6) ค่าทำระบบไบโอชีวภาพสูงขึ้น ยิ่งการเลี้ยงมีโอกาสเสี่ยงตายสูง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย

“การที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดให้ขายหมูมีชีวิตไม่เกิน 100 บาท ต้องลงมาดูข้อเท็จจริง คนเลี้ยงหมูขึ้นราคาด้วยเหตุผล ด้วยต้นทุนโดยภาพรวม การแก้ปัญหาต้องแก้ให้ถูกจุดตามที่เกิดขึ้นจริง ต้องมานั่งคุยกันระหว่างตัวแทนของผู้เลี้ยง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือกรมการค้าภายใน ว่าจะเอาอย่างไร

ทางออกที่ดีที่สุดคือตรงไหน แล้วมาวางแนวทางจะเอาทางไหนที่ทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้ ไม่ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ภาครัฐไม่เกิดความเสียหาย ต้องทำให้เกิดวิน ๆ ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้เลี้ยง ผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐ ก่อนที่ผู้เลี้ยงจะตายกันหมด” นายนิพัฒน์กล่าว

วางขายเกลื่อนช็อปหมูอีสาน

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า “ขณะนี้หมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาวางขายกันผ่านช็อปขายเนื้อสัตว์เกลื่อนไปทุกจังหวัด

อีกทั้งในโลกโซเชียลที่ประกาศขายกันในราคาถูกมาก ส่งผลให้ผู้เลี้ยงที่พักการเลี้ยงไปจากโรคระบาด ASF จะกลับมาเลี้ยงใหม่ก็ ‘ไม่กล้าลงเลี้ยง’ เพราะหมูที่ลักลอบเข้ามาขายดัมพ์ราคาถูกกว่าหมูที่จะลงเลี้ยงมากเลย เป็นชิ้นส่วนที่ต่างประเทศไม่กิน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหา”

แหล่งข่าวจากวงการสุกรตั้งข้อสังเกตว่า หมูเถื่อนที่เข้ามาในประเทศจะต้องมีปริมาณมหาศาลถึงจะสามารถกดราคาหมูหน้าฟาร์มลงมาได้ (ดึงราคาหมูเนื้อแดงที่จะทะยานขึ้นไป 300 บาทต่อ กก.ลงมา) เนื่องจากโรงเชือดไม่ซื้อ ปริมาณหมูเถื่อนเหล่านี้จะต้องมีการลักลอบนำเข้ามาเป็น 1,000 ตู้ต่อเดือน “ไม่ใช่ 10 ตู้ 20 ตู้ เหมือนกับที่ออกข่าวจับกุมหมูเถื่อน”

มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่หมูเต็มตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้ามาเต็มลำเรือครั้งละเป็น 100 ตู้ จะไม่มีใครรู้ใครเห็น การจะไปตามจับปลายทางยาก เพราะหมูแปรรูปตัดแต่งมาแล้ว สวมใบอนุญาตเดิมที่มีมันก็หลบเลี่ยงได้ ก็เอาบิลที่เคยขายถูกต้องมาสวมแสดง การกระทำแบบนี้มีแต่ทำให้วงการอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยในอนาคตอันใกล้ตายอย่างไม่มีโอกาสฟื้นกลับมาอีก

อ้างนำเข้าเป็นอาหารสัตว์

นอกจากนี้ยังมี “หมูบางส่วน” ที่ขออนุญาตนำเข้าถูกต้อง โดยแจ้งว่านำเข้าเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ให้แมว-สุนัข แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ปัจจุบันปริมาณของหมูที่แจ้งว่า มาทำอาหารสัตว์ ก็มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จนมีการวิพากษ์วิจารณ์และกังวลกันว่า “นำเข้ามา มาขายให้คนกิน” เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบหลังนำเข้ามาแล้ว

ดังนั้นหากนำหมูขออนุญาตเข้ามาเป็นอาหารสัตว์ ต่อไปอาจจะต้อง “พ่นสี” หรือทำอะไรให้เปลี่ยนสี เหมือนกับการจำหน่ายน้ำมัน E85 E90 คนละสี เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้าผ่านช่องทางนี้