เงินเฟ้อทุบค่าครองชีพคนไทย จับตาคู่ค้าสหรัฐ-จีน เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ค่าครองชีพ

หอการค้าไทย ประเมินภาคธุรกิจกังวลค่าครองชีพพุ่งกระทบต้นทุน จากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง คาดจีดีพีปี’65 ยังโต 3.1% หลังเปิดรับนักท่องเที่ยว จับตาคู่ค้าหลักของไทย จีน-สหรัฐ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ลามกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันที่ 15 กันยายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าศูนย์ฯได้ทำการสำรวจภาคธุรกิจถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน จำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ

สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 กันยายน 2565 พบว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกำไร แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ยังมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูง

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

โดยนิยามของคำว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) คือ ภาวะที่จีดีพีประเทศนั้น ๆ จะต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 เดือน บวกกับภาวะปัญหาการว่างงาน ดังนั้น เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกแล้วถือว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นเพียง “เศรษฐกิจชะลอตัว” เท่านั้น มีเพียงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่จีดีพีติดลบ 2 เดือน และจีน 1 เดือน ซึ่งต้องติดตามเนื่องจากเป็นคู่ค้าหลักของไทย ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

ขณะเดียวกัน ครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 5 ปัจจัย ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคือ 1.อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3.ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่มีผลต่อต้นทุนการนำเข้า 4.การปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และ 5.ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม โดยทั้ง 5 ปัจจัยเสี่ยงอาจจะส่งผลกระทบทำให้จีดีพีปรับลดลง 0.88% หรือลดลงประมาณ 63,878 ล้านบาท

ประกอบกับหากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว จะส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไป 2 แสนล้านบาท แต่จะถูกชดเชยด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว 2.4 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 10 ล้านคน ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ ส่วนการขึ้นค่าแรงนั้นยังมีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังคงเป้าจีดีพีปี 2565 ทั้งปีที่ 3.1% การส่งออกโตที่ 5-6% เพราะยังไม่มีปัจจัยลบรุนแรง

“สิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบด้านกำไร ยอดขาย และจำนวนลูกค้าที่จับจ่ายน้อยลดลง ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุน และส่งผลต่อสภาพคล่อง เเละการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไปนั้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

หอการค้า

อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ค้าส่ง และภาคการเกษตร กว่า 61.3% อีกทั้งปัจจุบันไทยยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่คาดว่าส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจประมาณ 5,000 ล้านบาท หากยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง หรืออยู่ที่ 7% จะยิ่งทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ดังนั้น การที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาพลังงานต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ หากต้องประเมินกรณีภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะลดลง 1.0-2.0% ฉุดส่งออกไทยลดลง 185,596 ล้านบาท ส่งผลให้การบริโภคเอกชน การลงทุนเอกชนการนำเข้าสินค้า ลดลง 200,282 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.22%

อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ 2565 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว โดยต้องอาศัยมาตรการรัฐบาลวางแนวทางป้องกันปัญหาจากเศรษฐกิจโลกด้วย เนื่องจากค่าเงินบาทยังอยู่ในช่วงแกว่งตัว หรืออยู่ที่ 36.5-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าสินค้า ดังนั้น ต้องหามาตรการอื่น ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยประคองเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก เป็นต้น

นอกจากนี้ในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่หลังจากนี้อาจจะได้เห็นการปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง หรืออาจจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ในช่วงปลายปี 2565 ยืนยันว่าไม่ใช่ตัวบั่นทอนหลัก แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยสร้างความกังวลต่อภาคเกษตร ที่มีความกังวลในทุกปัจจัยลบ โดยเฉพาะเรื่องหนี้เสีย (NPL) เป็นผลให้ในระยะนี้ เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในลักษณะ​เคเชฟ (K)