แบงก์ชาติ อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% เพื่อเบรกเงินเฟ้อ

เงินบาท

อีไอซี คาดการณ์ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 5 ครั้งไปอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 66 เพื่อสกัดเงินเฟ้อค้างในระดับสูงปีนี้ 6.1% และ 3.2% ก่อนกลับเข้ากรอบเป้าหมาย 2.4% ในปี 67

วันที่ 13 กันยายน 2565 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า

สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% โดยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ขึ้น 0.25% และปลายปีขึ้นอีก 1 ครั้ง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25%

และภายในปี 2566 จะปรับดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไปจบอยู่ที่ 2% โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัว แต่เชื่อว่าคงไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อกระชากเงินเฟ้อลงมา เนื่องจากจะเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในปี 2567 โดยในปีนี้อีไอซีปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 5.9% เนื่องจากแม้ว่าราคาน้ำมันเริ่มลดลง

แต่จากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้การนำเข้ายังคงแพงอยู่ และการปรับค่าแรงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2% รวมถึงเริ่มเห็นผู้ประกอบการส่งผ่านราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกมีการปรับราคาสินค้าไปแล้วกว่า 936 รายการ

ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าเงินเฟ้อยังคงไม่ปรับลดลงเร็ว และกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ โดยปี 2566 คาดว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับ 3.2% และปรับลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2567 อยู่ที่ 2.4% และจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่อกลุ่มครัวเรือนที่เปราะบางที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย

โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในอนาคตอาจนำไปสู่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ได้

“จากผลสำรวจครัวเรือน 3,000 คน พบว่า ครัวเรือนกว่า 66% ยังมีรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และมีครัวเรือนราว 60% ที่นำเงินออมมาใช้ และคนที่ไม่มีเงินออมเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่ายังไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลืออยู่ จากผลสำรวจสะท้อนว่า แม้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแต่งบดุล (Balance Sheet) ยังคงมีความเปราะบางอยู่ และเงินเฟ้อยังเป็นแรงกดดันสำคัญครัวเรือนเปราะบาง”