ครม. อนุมัติต่อเวลาลดภาษีดีเซล 2 เดือน สูญรายได้ 2 หมื่นล้าน

รมว.คลัง เผย ครม.อนุมัติขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร อีก 2 เดือน สูญรายได้ 2 หมื่นล้านบาท เชื่อไม่กระทบจัดเก็บรายได้ปีงบฯ’66 

วันที่ 13 กันยายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร อีก 2 เดือน เริ่ม 21 ก.ย.-20 พ.ย. 65

นอกจากนี้ ยังขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี 0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ ออกไปอีก 6 เดือน

“การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล ส่งผลให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท รวม 2 เดือน สูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท ขณะที่การลดภาษีดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้านั้น เราสูญเสียรายได้ไป 1,400 ล้านบาท ซึ่งการสูญเสียรายได้จะคาบเกี่ยวในปีงบประมาณ 2565 ที่จะสิ้นสุดสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และต้นปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มในเดือน ต.ค.

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าไม่ได้มีผลกระทบกับการจัดเก็บรายได้ โดยยังคาดว่าปีงบฯ’66 จะสามารถเก็บรายได้ตามเป้าหมาย 2.49 ล้านล้านบาท”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังคงเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2565 ไว้ที่ 3.5% โดยจะต้องรอพิจารณาในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ด้วย อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็รายงานตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า ล่าสุด เดินทางเข้ามาแล้ว 5 ล้านคน และคาดการณ์ว่าทั้งปี 2565 นี้ นักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ 8 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดย 10 เดือนขยายตัวได้กว่า 11% และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือก็คาดว่าปีนี้จะทำได้ 8% โดยก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้ขอให้ได้เพิ่มเป็น 10% ซึ่งสภาผู้ส่งออกก็รับปากในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าห่วงสำหรับการส่งออกก็ยังเป็นเรื่องปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด และยังมีสินค้าในหมวดอาหารกระป๋อง ที่ขณะนี้ต้นทุนเหล็กแพงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้า ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดูแลในเรื่องนี้อยู่

ต่อมา นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวว่า น้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีความผันผวนต่อเนื่อง โดยราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย–ยูเครน ยังดำเนินต่อไปและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

และการลดการจ่ายพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ทั่วโลกต้องหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาพลังงานทุกประเภทสูงขึ้น และส่งผลถึงต้นทุนในการอุปโภค บริโภคที่สูงขึ้น รวมถึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทยที่ยังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายอนุชากล่าวว่า แต่ทั้งนี้ รายได้ที่ขาดหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รัฐบาลมองว่าเป็นการช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทย ไม่ให้ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จนกระทบค่าครองชีพของประชาชน จนกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศได้

นอกจากนี้ ครม.ยังมีการขยายระยะเวลาการปรับอัตราลดภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงน้ำมันเตา ที่คล้ายคลึงกันในประเภทเดียวกัน ซึ่งมีผลกับการผลิตกระแสไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต่อไปอีก 6 เดือน ในอัตรา 0 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565-15 มีนาคม 2566

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาพลังงานยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีการผลิตลดลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG สูงขึ้นกว่าปกติ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้ง ก๊าซ LNG ในตลาดโลกก็มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาใช้ผลิตไฟฟ้าแทน

กระทรวงการคลังประเมินเรื่องการสูญเสียรายได้ 1,436 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่สูงกว่าภาวะปกติ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากภาวะค่าครองชีพที่สูง ตลอดจนช่วยให้ต้นทุนการผลิตในทุกอุตสาหกรรมไม่สูงขึ้น