EIC ปรับจีดีพีโต 3% ท่องเที่ยวหนุน คาดเงินเฟ้อค้างสูงนานอีกเป็นปี

นักท่องเที่ยว

อีไอซี ปรับประมาณการจีดีพีปี’65 เพิ่มขึ้นเป็น 3.0% จาก 2.9% อานิสงส์ภาคการท่องเที่ยว-การบริโภค คาดนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาหลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ คาดปีนี้ 10.3 ล้านคน ก่อนขยับเพิ่มเป็น 28.3 ล้านคนปี’66

วันที่ 13 กันยายน 2565 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า

อีไอซีได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.0% จาก 2.9% มาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวและการบริโภคปรับดีขึ้น ส่วนจีดีพีปีหน้าปรับลงจาก 3.8% เหลือ 3.7% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นสำคัญ

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ปรับดีขึ้นกว่าคาดจากเดิมอยู่ที่ 7.4 ล้านคน เพิ่มเป็น 10.3 ล้านคน โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 1-1.5 ล้านคน และขยับเพิ่มขึ้นในปี 2566 อยู่ที่ 28.3 ล้านคน มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของจีนอยู่ที่ 3.9 ล้านคน

ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องดีขึ้น ทำให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ 5 หมื่นบาทต่อเดือน จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อการบริโภค

และจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ส่งผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก 1.5% และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้าตลาดการเงิน ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์

“เศรษฐกิจเหมือนจะปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังคงเปราะบาง ภายใต้ความไม่แน่นอน โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ประเทศยักษ์ใหญ่ทะเลาะกัน และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ย้อนแย้ง อุปทานไม่ดี แต่อุปสงค์ยังดีอยู่ นอกประเทศมืด แต่ในประเทศสว่าง เราอยู่ระหว่างรอยต่อการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ โดยจะเปลี่ยนจากดี ไป ไม่ดี หรือ จากไม่ดี ไป ดี ซึ่งความเสี่ยงเบ้ไปทางต่ำมากขึ้น แม้ว่ามูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่าเดิมภายในกลางปี’66 แต่การกลับไปเติบโตสู่ระดับต้องใช้เวลาอีก 2 ปี”

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในปี 2567 โดยในปีนี้อีไอซีปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 5.9% เนื่องจากแม้ว่าราคาน้ำมันเริ่มลดลง แต่จากแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าส่งผลให้การนำเข้ายังคงแพงอยู่ และการปรับค่าแรงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2% รวมถึงเริ่มเห็นผู้ประกอบการส่งผ่านราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกมีการปรับราคาสินค้าไปแล้วกว่า 936 รายการ

ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าเงินเฟ้อยังคงไม่ปรับลดลงเร็ว และกลับเข้ากรอบเป้าหมายได้ โดยปี 2566 คาดว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับ 3.2% และปรับลดลงและเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2567 อยู่ที่ 2.4% และจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง สร้างแรงกดดันต่อกลุ่มครัวเรือนที่เปราะบางที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และในอนาคตอาจนำไปสู่ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ได้

“จากผลสำรวจครัวเรือน 3,000 คน พบว่า ครัวเรือนกว่า 66% ยังมีรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และมีครัวเรือนราว 60% ที่นำเงินออมมาใช้ และคนที่ไม่มีเงินออมเริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ แม้ว่ายังไม่เกิดขึ้นเร็ว เพราะยังมีมาตรการช่วยเหลืออยู่ จากผลสำรวจสะท้อนว่า แม้ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว แต่งบดุล (Balance Sheet) ยังคงมีความเปราะบางอยู่ และเงินเฟ้อยังเป็นแรงกดดันสำคัญครัวเรือนเปราะบาง”

ดร.สมประวิณกล่าวว่า สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง โดยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ขึ้น 0.25% และปลายปีขึ้นอีก 1 ครั้ง และภายในปี 2566 ปรับดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไปจบอยู่ที่ 2% โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เงินเฟ้อชะลอตัว แต่เชื่อว่าคงไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อกระชากเงินเฟ้อลงมา เนื่องจากจะเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันจะต้องใช้กลไกภาครัฐช่วยอุดหนุน เพื่อประคองภาระค่าครองชีพและต้นทุนการเงินจากการปรับดอกเบี้ยขึ้น โดยมาตรการที่ใช้อุดหนุนจะเป็นแบบเฉพาะเจาะจง รวมถึงการอุดหนุนสภาพคล่องผ่านกลไกธปท.ด้วย

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคในครึ่งแรกของปีชะลอตัวลงชัดเจนทั่วโลก ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายประเทศก็ปรับลดลงใกล้ระดับวิกฤตรอบก่อน ๆ แล้ว

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เศรษฐกิจโลกน่าจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วพร้อมกันทั่วโลก วิกฤตพลังงานในยูโรโซนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก และการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจจีน รวมถึงปัญหาอุปทานคอขวดมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดไว้

ดังนั้น อีไอซีจึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ลงจาก 3.2% มาอยู่ที่ 3.0% และในปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงอีกไปอยู่ที่ 2.7% และมองว่าในช่วงปลายปีนี้ถึงสิ้นปีหน้าอาจเริ่มเห็นเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยูโรโซน และสหรัฐ แต่คาดว่าการถดถอยจะไม่รุนแรง (Mild recession) เนื่องจากสถานะการเงินของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังเข้มแข็งพอรองรับได้อยู่